เป็นไปตามคาด เมื่อกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา เปิดเผยรายงานการค้ามนุษย์ (Trafficking in Persons (TIP) Report) ประจำปี 2015 อย่างเป็นทางการ ซึ่งปรากฏว่า ยังคงจัดอันดับประเทศไทย อยู่ในเทียร์ 3 หรือ กลุ่มประเทศที่จัดการปัญหาการค้ามนุษย์ต่ำที่สุดต่อไป ร่วมกับประเทศต่างๆ อีก 22 ประเทศ เช่น รัสเซีย, อิหร่าน, เกาหลีเหนือ,ซีเรีย,เยเมน, ลิเบีย เป็นต้น
ซึ่งในรายงาน TIP ระบุว่า ไทยเป็นทั้งแหล่งต้นทาง ปลายทาง และแหล่งส่งผ่าน สำหรับเหยื่อการค้ามนุษย์ทั้งชาย หญิง และเด็ก ที่ถูกบังคับใช้ทั้งแรงงานทาส โดยคาดว่ามีแรงงานผู้ที่ตกเป็นเหยื่อค้ามนุษย์ในไทยมากกว่า 3-4 ล้านคน ส่วนใหญ่จะเป็นเหยื่อจากประเทศเพื่อนบ้าน ทั้งจากเมียนมาร์ ลาว และกัมพูชา โดยเหยื่อค้ามนุษย์เหล่านี้ถูกล่อลวงใช้แรงงานทาสในอุตสาหกรรมการประมง อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับการประมง
กลุ่มที่ถูกจัดให้อยู่ในเทียร์ 3 นี้ ในภูมิภาคอาเซียน มีเพียงประเทศไทยเพียงชาติเดียว ขณะที่ มาเลเซีย ซึ่งมีปัญหาเรื่องผู้อพยพชาวโรฮิงญาเหมือนกับไทยในช่วงที่ผ่านมา ได้รับการปรับเลื่อนจาก เทียร์ 3 ไป อยู่ เทียร์ 2 ที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ
โดยรายงานดังกล่าวได้ประเมินความพยายามของรัฐบาลทั่วโลกจำนวน 188 ประเทศในการจัดการกับการค้าทาสยุคใหม่ โดยรายงานได้จัดอันดับการแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ของประเทศต่างๆ เป็น 4 ระดับ คือ เทียร์ 1, เทียร์ 2, เทียร์ 2 ที่ต้องจับตามอง, และเทียร์ 3
ส่วนเสียงสะท้อนจากกระทรวงการต่างประเทศของไทย หลังรายงานดังกล่าวเผยแพร่ออกมา ระบุว่า ทางการไทยรับทราบผลการจัดอันดับให้ประเทศไทยอยู่ในระดับ Tier 3 ซึ่งไม่สะท้อนความพยายามและความก้าวหน้าในการดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์ของไทยที่เกิดขึ้นจริงในช่วงปีที่ผ่านมาซึ่งมีก้าวหน้าอย่างมากในหลายด้าน
ทั้งนี้ ตั้งแต่รัฐบาลปัจจุบันเข้าปฏิบัติหน้าที่เมื่อเดือนสิงหาคม 2557 รัฐบาลได้ “ปฏิรูป" การแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ทั้งระบบ ส่งผลให้เกิดความคืบหน้าที่เป็นรูปธรรมในทุกๆ ด้าน เช่น
(1) ด้านนโยบาย รัฐบาลได้ประกาศย้ำให้การต่อต้านการค้ามนุษย์เป็นวาระแห่งชาติ และจัดตั้งกลไกระดับชาติ ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องทั้งหมดเข้ามาร่วมขับเคลื่อน มีการแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องหลายฉบับ โดยเฉพาะพระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์
(2) ด้านการบังคับใช้กฎหมาย มีการทลายเครือข่ายผู้กระทำผิดค้ามนุษย์รายสำคัญ มีการจับกุมดำเนินคดีและลงโทษเจ้าหน้าที่ระดับสูง ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับการค้ามนุษย์
(3) ด้านการป้องกัน มีการแก้ไขและจัดระเบียบแรงงานในภาคประมง รวมถึงการขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวจำนวนกว่า 1.6 ล้านคนให้ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายเช่นเดียวกับคนไทย และแก้ปัญหาที่ต้นทางโดยลดความเสี่ยงที่แรงงานเหล่านี้จะตกเป็นเหยื่อการค้ามนุษย์และการถูกเอาเปรียบ
(4) ด้านการคุ้มครอง การเพิ่มประสิทธิภาพการคัดแยกและการดูแลคุ้มครองผู้เสียหาย
(5) ด้านความร่วมมือและการสร้างความเป็นหุ้นส่วน ประเทศไทยได้มีบทบาทนำทั้งในกรอบทวิภาคีและภูมิภาคในการป้องกันแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์บนพื้นฐานของหลักสิทธิมนุษยชนและความมั่นคง
อย่างไรก็ดี รัฐบาลไทยยังคงมุ่งมั่นดำเนินการต่อต้านการค้ามนุษย์อย่างจริงจังต่อไป เพื่อความมั่นคงและมนุษยธรรม พร้อมกับเพิ่มพูนความร่วมมือกับภาคเอกชนและภาคประชาสังคม ตลอดจนขยายความร่วมมือกับประเทศและองค์การระหว่างประเทศต่อไป
ข่าวเด่น