ศูนย์วิจัยกสิกรไทยออกบทวิเคราะห์ "EU ... เป้าหมายการลงทุนที่น่าสนใจของอุตสาหกรรมอาหารไทย "
ประเด็นสำคัญ
• แรงกดดันหลากปัจจัยกระทบผู้ประกอบการส่งออกไทยไปยุโรป ทั้งการทยอยถูกตัดสิทธิ GSP ในบางรายการสินค้าของไทยเมื่อปี 2557 และตัดสิทธิทุกรายการในปี 2558 รวมไปถึงแนวโน้มกฎระเบียบด้านการค้าที่เข้มงวดขึ้นทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม กระบวนการผลิต เพิ่มแรงกดดันต่อผู้ประกอบการส่งออกไทยท่ามกลางแนวโน้มที่เงินยูโรยังมี โอกาสอ่อนค่าลงอีก
• หากมองในอีกด้านหนึ่งก็อาจเปิดโอกาสให้ธุรกิจไทยเข้าไปแสวงหาช่องทางลงทุน ในยุโรป ทั้งการเข้าซื้อกิจการ หรือร่วมทุนในกิจการที่มีเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูง หรือมีเครือข่ายฐานการตลาดขนาดใหญ่ รวมไปถึงการเข้าไปตั้งฐานการผลิตในประเทศยุโรปตะวันออกเพื่อลดต้นทุนการผลิต และการกระจายสินค้าภายในภูมิภาคยุโรป ขณะที่มาตรฐานการผลิตที่สูงของยุโรปจะเป็นใบเบิกทางในการส่งออกสินค้าต่อไป ยังประเทศที่สามได้ด้วย
• อุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตรและผลิตสินค้าอาหารเป็นอุตสาหกรรมเด่นที่ไทยมี ศักยภาพการผลิตและมีโอกาสขยายการลงทุนไปยังสหภาพยุโรป ซึ่งตอบโจทย์ผู้ประกอบการไทยที่ยังต้องการคงส่วนแบ่งในตลาดยุโรป ตลอดจนผลิตเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก โดยพื้นที่ยุโรปกลางและตะวันออกเหมาะสำหรับอุตสาหกรรมการแปรรูปอาหารที่ไม่ มีความซับซ้อนมากนัก ในขณะที่อุตสาหกรรมแปรรูปอาหารที่อาศัยเทคโนโลยี ควรเลือกลงทุนในประเทศที่มีการเติบโตทางด้านเทคโนโลยีอาหารในยุโรปตะวันตก
จากแรงกดดันหลากปัจจัยที่กระทบต่อผู้ประกอบการส่งออกไทยไปยุโรป ทั้งจากการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรเป็นการทั่วไป หรือ GSP (Generalised System of Preferences) จาก EU ทุกรายการสินค้าไปเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2558 กฎระเบียบการค้าในการนำเข้าสินค้าของสหภาพยุโรปที่มีแนวโน้มเข้มงวดยิ่งขึ้น รวมไปถึงการอ่อนค่าของเงินสกุลยูโรที่ส่งผลให้สินค้าส่งออกไทยไปยังยุโรปมี ราคาสูงขึ้นล้วนส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าไทย ทั้งนี้ ผลจากการตัดสิทธิ GSP ทุกรายการสินค้าในปี 2558 ส่งผลให้มูลค่าการส่งออกของไทยไปสหภาพยุโรปปรับตัวลดลงอย่างมีนัยยะ โดยมูลค่าการส่งออกจากไทยไปสหภาพยุโรปในช่วงเดือน มกราคม-มิถุนายน 2558 ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.95 สอดคล้องกับมูลค่าการส่งออกในรายการที่เคยได้รับสิทธิ GSP ที่ปรับตัวลดลงร้อยละ 8.09 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า ซึ่งการหดตัวดังกล่าวนอกจากสะท้อนความอ่อนแรงของตลาด EU แล้วยังบ่งชี้ถึงการสูญเสียศักยภาพการแข่งขันของสินค้าไทยในสินค้าบางรายการ เมื่อเทียบกับคู่แข่ง โดยสินค้าส่งออกที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดอยู่ในกลุ่มเครื่องปรับอากาศและ ส่วนประกอบ เครื่องนุ่งห่ม ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลและอาหารทะเลแปรรูป รวมไปถึงยางพาราและผลิตภัณฑ์
อย่างไรก็ดี ทางออกสำหรับผู้ประกอบการส่งออกไทยที่ยังต้องการรักษาตลาดยุโรปที่เป็นตลาด ส่งออกสำคัญ สามารถปรับตัวได้ในหลายช่องทางตามลักษณะของอุตสาหกรรม ซึ่งการเข้าไปลงทุนผลิตสินค้าโดยใช้ยุโรปเป็นฐานการผลิตก็เป็นอีกทางเลือก เพื่อลดแรงกดดันข้างต้น
การลงทุนในสหภาพยุโรปเปิดกว้างสำหรับนักลงทุนที่แสวงหาโอกาสและมีความพร้อม ซึ่งนอกจากจะเป็นทางเลือกสำหรับผู้ประกอบการส่งออกไทยเพื่อลดแรงกดดันของการ ถูกตัดสิทธิ GSP แล้ว การลงทุนในสหภาพยุโรปยังมีความโดดเด่นจากการได้รับยกเว้นภาษีศุลกากรภายใต้ ข้อตกลงของการเป็นตลาดร่วม (Single Market) ของประเทศสมาชิก 28 ประเทศ ที่มีประชากรรวมกันราว 500 ล้านคน การคมนาคมและโลจิสติกส์ที่ทันสมัยครอบคลุมที่ช่วยปลดล็อคข้อจำกัดทางด้าน ภาษีนำเข้าในการทำตลาดในภูมิภาค อีกทั้งยังเป็นจุดเชื่อมต่อกับพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ อาทิ รัสเซีย ตะวันออกกลาง และแอฟริกา นอกจากนี้ ความหลากหลายของทั้งอัตราค่าจ้างแรงงานและทักษะแรงงานที่มีความแตกต่าง ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งเสริมการลงทุนในสหภาพยุโรป และเป็นตัวดึงดูดการลงทุนในหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมการผลิตขั้นต้นที่ใช้วัตถุดิบและทรัพยากรธรรมชาติ รวมไปถึงอุตสาหกรรมที่เน้นเทคโนโลยีขั้นสูง การวิจัยและพัฒนา
ทั้งนี้ นอกจากปัจจัยพื้นฐานข้างต้นที่ดึงดูดการลงทุนแล้ว การลงทุนในยุโรปยังมีความน่าสนใจในประเด็นการลงทุนเชิงกลยุทธ์ในการใช้เป็น ฐานการผลิตตามข้อกำหนดและมาตรฐานการผลิตที่สูง เพื่อสร้างมาตรฐานสินค้าและส่งออกต่อไปยังประเทศที่สามให้สอดคล้องกับ มาตรฐานโลก ที่ส่วนใหญ่สหภาพยุโรปเป็นผู้กำหนดมาตรฐานและข้อกำหนดใหม่ๆ ดังกล่าว โดยในระยะข้างหน้าแนวโน้มการกำหนดมาตรฐานสินค้าที่เข้มงวดและการกีดกันทาง การค้าที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก จะส่งผลกดดันผู้ประกอบการการผลิตสินค้าทั่วโลก
ซึ่งจากภาพการลงทุนในยอดคงค้างการลงทุนสะสม (FDI Inward Stock) ที่เข้าสู่สหภาพยุโรปมีมูลค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ถึงแม้ว่าการลงทุนทางตรง (Foreign Direct Investment inflows: FDI inflows) จะชะลอตัวลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ยังเปราะบางในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา แต่เป็นที่น่าสังเกตว่ามูลค่า FDI inflows ที่เข้าสู่ประเทศในภูมิภาคยุโรปตะวันตกที่มีมูลค่าการลงทุนสูงได้ปรับตัวลด ลงในหลายประเทศไม่ว่าจะเป็นเบลเยี่ยม ฝรั่งเศส เยอรมนี สวนทางกับการลงทุนในภูมิภาคยุโรปกลางและตะวันออก (Central and Eastern European Countries: CEE) ที่มีมูลค่าเงินลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สะท้อนความน่าสนใจด้านการลงทุนที่มีแรงดึงดูดของแรงงานมีฝีมือและมีค่าแรง ยังไม่สูงนักหากเปรียบเทียบกับค่าแรงในยุโรปตะวันตก โดยเฉพาะการลงทุนในประเทศโปแลนด์ สาธารณรัฐเช็ก ฮังการีและโครเอเชีย
อย่างไรก็ดี ถึงแม้ว่าสหภาพยุโรปจะมีกรอบกฎหมายระดับสหภาพที่เอื้ออำนวยต่อการลงทุนของ นักลงทุนต่างชาติ และนโยบายการลงทุนที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกยึดหลัก National Treatment หากแต่เงื่อนไขและกฎระเบียบการลงทุนรายประเทศที่ยังเป็นอำนาจของประเทศ สมาชิก อาทิ การกำหนดนโยบายส่งเสริมการลงทุนในแต่ละประเทศ (Investment Promotion) ขั้นตอนการอนุมัติและจัดตั้งบริษัท รวมไปถึงประเด็นใบอนุญาตทำงาน กฎหมายแรงงาน และภาษีที่อาจยังมีความซับซ้อนในบางประเทศ อาจเป็นปัญหาและอุปสรรคต่อการลงทุนของนักลงทุนต่างชาติได้
สำหรับภาพการลงทุนทางตรงของไทยในสหภาพยุโรปมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยในปี 2557 ยอดคงค้างการลงทุนของไทยในสหภาพยุโรปอยู่ที่ 5,201 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นการลงทุนในสหราชอาณาจักรด้วยสัดส่วนการลงทุนที่สูงที่สุดอยู่ที่ร้อย ละ 36.2 ตามมาด้วยเนเธอร์แลนด์ร้อยละ 25.8 และเยอรมนีร้อยละ 8 ในขณะที่สาขาธุรกิจที่ไทยมีการลงทุนในสหภาพยุโรปที่มียอดคงค้างการลงทุนสูง สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ สาขาการผลิต (Manufacturing) คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 32.7 สาขาธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก (Wholesale and Retail Trade) ร้อยละ 13.0 สาขาการเงินและประกันภัย (Financial and Insurance Activities) ร้อยละ 11.2 โดยแนวโน้มการลงทุนมีการกระจายในสาขาธุรกิจที่หลากหลายมากขึ้น ส่วนหนึ่งอาจสะท้อนจากสัดส่วนการลงทุนในสาขาอื่น (Others) ที่มีเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง นอกจากนี้ ความสนใจของนักลงทุนไทยในยุโรปยังสะท้อนผ่านการลงทุนของไทยในลักษณะการควบ รวมกิจการ (Merger and Acquisition) ที่มีเพิ่มขึ้นโดยเฉพาะจำนวนโครงการการลงทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยการลงทุนในลักษณะดังกล่าวสอดคล้องกับลักษณะของกลุ่มผู้ประกอบการไทยที่ลง ทุนในยุโรปซึ่งกระจายไปในหลากหลายธุรกิจภายใต้เป้าหมายที่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่และมีความพร้อมด้านเงินทุน รวมทั้งมีประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจในต่างประเทศ
หากพิจารณารูปแบบการลงทุนของไทยในยุโรปที่ส่วนใหญ่เป็นลักษณะการควบรวม กิจการ (Merger and Acquisition) การร่วมทุน และการจ้างผลิต (Original Equipment Manufacturer: OEM) ไม่เพียงแต่เป็นการลงทุนเพื่อการแสวงหาตลาด (Market Seeking) และทรัพยากร (Resource Seeking) เท่านั้น การลงทุนของผู้ประกอบการไทยในยุโรปยังมีสาเหตุหลักในการแสวงหาเทคโนโลยี ความรู้ความชำนาญ เพื่อใช้ยุโรปเป็นฐานการผลิตโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความเชื่อมั่นใน มาตรฐานสินค้าส่งออกไปยังประเทศที่สาม และการถ่ายโอนเทคโนโลยีกลับมายังบริษัทในไทย นอกจากนี้ การอ่อนค่าของเงินยูโรเป็นอีกแรงจูงใจหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจมีต้นทุนในการเข้า ซื้อกิจการต่ำลง
ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าธุรกิจไทยที่มีโอกาสในการลงทุนในยุโรปอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและ แปรรูปอาหารที่ไทยมีข้อได้เปรียบในด้านความชำนาญในอุตสาหกรรม รวมไปถึงอุตสาหกรรมการผลิตบรรจุภัณฑ์อาหารและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นหนึ่งในห่วงโซ่การผลิตสินค้าในกลุ่มสินค้าอาหารและแปรรูปอาหารก็ เป็นอุตสาหกรรมที่น่าสนใจ อย่างไรก็ดี การลงทุนในยุโรปไม่จำกัดเพียงแต่เป็นในอุตสาหกรรมการผลิตเท่านั้น การลงทุนสาขาการบริการยังสามารถเติบโตได้ในหลากหลายสาขา อาทิ การลงทุนด้านการบริการโรงแรม ร้านอาหาร ยังเปิดกว้างสำหรับผู้ประกอบการไทยที่มีความสนใจ
การลงทุนในสหภาพยุโรปสำหรับผู้ประกอบการไทยน่าจะเป็นโอกาสที่เหมาะสมสำหรับ ผู้ประกอบการกลุ่มสินค้าอาหารและอาหารแปรรูป ซึ่งนอกจากจะเป็นสาขาที่ไทยมีความชำนาญและตลาดภายในยุโรปมีความต้องการแล้ว ยังสามารถตอบโจทย์โอกาสในการใช้ฐานการผลิตในยุโรปเพื่อส่งออกไปยังตลาดโลก และด้วยความแตกต่างทางด้านนโยบายการลงทุนและค่าจ้างแรงงานที่มีความหลายหลาย ของแต่ละประเทศ ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยสามารถเลือกลักษณะการลงทุนให้เหมาะกับศักยภาพ โดยการลงทุนในสหภาพยุโรปในอุตสาหกรรมอาหารและการแปรรูปได้รับการส่งเสริมไม่ เพียงแต่ผู้ประกอบการขนาดใหญ่เท่านั้น ยังให้การส่งเสริมการลงทุนของผู้ประกอบการรายย่อย อีกทั้งรูปแบบการผลิตยังมีความหลากหลายแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
เนื่องจากยุโรปมีความหลากหลายของมิติการลงทุนในอุตสาหกรรมอาหาร การพิจารณาพื้นที่ในการลงทุนของผู้ประกอบการไทยอาจจะต้องพิจารณาจุดประสงค์ และตลาดผู้ซื้อเป็นสำคัญ โดยหากเน้นการลงทุนอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารที่อาศัยเทคโนโลยีและเน้นสินค้าอา หารพรีเมี่ยม การลงทุนในประเทศเบลเยี่ยม สหราชอาณาจักร เยอรมนี และเนเธอร์แลนด์ เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพที่นอกจากจะได้ประโยชน์ในการทำตลาดยุโรปตะวันตกแล้ว ยังได้ประโยชน์จากการเป็นศูนย์กลางการขนส่งไปยังตลาดต่างประเทศ อย่างไรก็ดี หากต้องการลงทุนในด้านการเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร อาทิ อาหารสัตว์ รวมไปถึงอุตสาหกรรมอาหารที่ไม่มีความซับซ้อนมากนัก พื้นที่ในยุโรปกลางและตะวันออกเป็นทางเลือกสำหรับการลงทุนที่มีต้นทุนค่าแรง ที่ต่ำกว่ายุโรปตะวันตก โดยประเทศที่มีศักยภาพได้แก่ ประเทศโปแลนด์ ออสเตรีย ฮังการี ที่นอกจากมีข้อได้เปรียบดังกล่าว ยังเป็นพื้นที่ได้เปรียบเชิงกลยุทธ์ในการเชื่อมต่อเข้าสู่ภูมิภาคใกล้เคียง อันได้แก่ ยุโรปเหนือ ตะวันตก ตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้
ทั้งนี้ ถึงแม้ว่าต้นทุนการผลิตในสหภาพยุโรปโดยเฉลี่ยอาจสูงกว่าต้นทุนการผลิตในไทย แต่หากเปรียบเทียบต้นทุนโดยรวม การลงทุนในสหภาพยุโรปยังคงได้เปรียบเรื่องต้นทุนค่าขนส่ง และภาษีศุลกากร นอกจากนี้ ยังมีข้อได้เปรียบจากแรงงานที่มีคุณภาพและระบบโลจิสติกส์ที่ได้มาตรฐานของ สหภาพยุโรป ที่ยังจะช่วยผู้ประกอบการไทยลดต้นทุนทางอ้อม อาทิ ความสูญเสียจากงานเสีย (Defect) ที่เกิดจากพนักงานขาดทักษะ และความสูญเสียจากการเก็บวัสดุคงคลังมากเกินไป (Excess Inventory) เป็นต้น
ประเทศที่น่าสนใจในการลงทุนอุตสาหกรรมอาหาร
-สหภาพยุโรปในพื้นที่ยุโรปตะวันตก: เบลเยี่ยม เยอรมนี เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร
ยุโรปตะวันตก โดดเด่นด้านการใช้เทคโนโลยีในการผลิต กำลังซื้อสูง ระบบโลจิสติกส์เชื่อมต่อต่างประเทศ
เบลเยี่ยม เทคโนโลยีอาหารพร้อมรับประทาน ทั้งแบบแช่แข็ง และแบบไม่ต้องแช่แข็ง
สหราชอาณาจักร กำลังซื้อสูงในสินค้าอาหารที่มีมูลค่าเพิ่ม ศักยภาพเด่นในการแปรรูปเนื้อสัตว์
เนเธอร์แลนด์ ท่าเรือขนาดใหญ่ที่สุดในยุโรปเชื่อมต่อต่างประเทศ ระบบภาษีที่เอื้อต่อการดำเนินธุรกิจและการค้าระหว่างประเทศ
เยอรมนี ตลาดสินค้าเกษตรและอาหารที่ใหญ่สุดในสหภาพยุโรป ตลาดสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ อาทิ สินค้าเกษตรอินทรีย์ เชี่ยวชาญนวัตกรรมแปรรูปเนื้อสัตว์แช่แข็ง นอกจากนี้ โครงสร้างผู้ผลิตสินค้าอาหารและเครื่องดื่มในประเทศประกอบด้วย SMEs จำนวนมากซึ่งส่งผลให้ได้รับความสะดวกในการลงทุน
สหภาพยุโรปในพื้นที่ยุโรปกลางและตะวันออก?โปแลนด์ ออสเตรีย ฮังการี โรมาเนีย
ยุโรปกลางและตะวันออก การลงทุนด้านสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปเด่น แรงงานมีคุณภาพและค่าแรงไม่สูงนักหากเทียบกับพื้นที่ยุโรปตะวันตก
โปแลนด์ เป็นตลาดใหญ่และเศรษฐกิจเติบโต เป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อยุโรปตะวันตกและยุโรปเหนือในกลุ่มประเทศนอร์ดิก ได้แก่ นอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ และรัสเซีย สำหรับการส่งเสริมการลงทุนของรัฐบาลโปแลนด์ อยู่ในรูปแบบเงินช่วยเหลือหากคุณสมบัติในการลงทุนตรงกับข้อกำหนดที่รัฐบาล ให้การส่งเสริม อาทิ การลงทุนที่มีมูลค่าไม่น้อยกว่า42.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารและสินค้าเกษตร ที่มีการจ้างงานขั้นต่ำ 50 คน จะได้รับเงินช่วยเหลือราวร้อยละ 1.5-7.5 ของค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริงสำหรับการดำเนินโครงการ
ออสเตรีย มีพื้นที่เชื่อมต่อระหว่างยุโรปตะวันตก ตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้ กิจการการลงทุนของ SMEs ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ อาทิ สินเชื่อวงเงิน 0.1-7.5 ล้านยูโร ต่อโครงการต่อปี สำหรับการลงทุนใหม่ในพื้นที่ที่กำหนด หรือเงินอุดหนุนเบื้องต้นร้อยละ 5 สำหรับกิจการ SMEs ที่มีการใช้เทคโนโลยีใหม่
ฮังการี มีพื้นที่เพาะปลูกอุดมสมบูรณ์และสร้างผลผลิตได้สูง เหมาะสำหรับธุรกิจไทยที่มีความสนใจในการผลิตสินค้าเกษตรและแปรรูปการเกษตร นอกจากนี้ยังมีโครงสร้างสาธารณูปโภคที่ใช้เป็นฐานการผลิตและกระจายสินค้าไป ในยุโรปตะวันออกและตะวันตก โดยเชื่อมต่อกับท่าเรือสำคัญ สำหรับนโยบายส่งเสริมการลงทุนในฮังการีมีข้อเด่นด้านบรรยากาศการลงทุนและกฎ ระเบียบมีความโปร่งใส มีกฎหมายปกป้องนักลงทุนต่างชาติเยี่ยงคนในชาติ และอนุญาตให้นักลงทุนต่างชาติถือหุ้นในกิจการได้ร้อยละ 100 ยกเว้นกิจการที่เกี่ยวกับการทหาร
โรมาเนีย มีโอกาสลงทุนในภาคการเกษตร รวมไปถึงเครื่องจักรและอุปกรณ์ในการทำการเกษตร ทั้งนี้ การส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐของโรมาเนียแตกต่างกันไปตามรูปแบบอุตสาหกรรม และขนาดการลงทุน โดยเป็นการช่วยเหลือทั้งจากรัฐบาลกลางและส่วนท้องถิ่น อาทิ การยกเว้นภาษีในกรณีการลงทุนตั้งอยู่ในนิคมอุตสาหกรรม และพื้นที่เกษตรกรรมที่เป็นของนิคมอุตสาหกรรมนั้นๆ
โดยสรุปแล้ว สำหรับผู้ประกอบการไทยที่ต้องการทำตลาดยุโรป การลงทุนผลิตสินค้าในภูมิภาคนั้นมีข้อได้เปรียบด้านต้นทุน อีกทั้งยังเป็นการเปิดโอกาสทางการค้ากับภูมิภาคใกล้เคียง อาทิ รัสเซีย แอฟริกา นอกจากนี้ ข้อตกลงความร่วมมือทางการค้าระหว่างยุโรปกับประเทศต่างๆ ที่บรรลุข้อตกลงแล้ว อาทิ ชิลี เม็กซิโก และแอฟริกาใต้ จะเป็นอีกช่องทางที่ช่วยการกระจายสินค้าไปยังประเทศคู่สัญญา ตลอดจนข้อตกลงที่ยังอยู่ในขั้นตอนการเจรจากับประเทศเศรษฐกิจสำคัญ อาทิ แคนาดา อินเดีย และกลุ่มประเทศ GCC อนึ่ง การเจรจาหุ้นส่วนการค้าและการลงทุนข้ามแอตแลนติก (Transatlantic Trade and Investment Partnership: TTIP) ที่ยังอยู่ระหว่างการการเจรจาเพื่อจัดตั้งเขตการค้าเสรีระหว่างสหรัฐฯกับ สหภาพยุโรป ซึ่งหากการเจรจาบรรลุข้อตกลงจะเป็นอีกช่องทางและโอกาสสำคัญสำหรับผู้ประกอบ การไทยที่มีฐานการผลิตในสหภาพยุโรปในการเชื่อมโยงตลาดการค้ากับสหรัฐฯ
อย่างไรก็ดี การลงทุนในอุตสาหกรรมอาหารในสหภาพยุโรปยังมีประเด็นความแตกต่างในรายละเอียด ที่ผู้ประกอบการไทยต้องให้ความสำคัญ อาทิ นโยบายการส่งเสริมการลงทุนที่นอกจากจะแยกไปตามประเทศแล้ว ยังมีความแตกต่างกันไปในตามเขตการปกครองในประเทศนั้นๆ อาทิ ในประเทศเบลเยี่ยม ที่แต่ละพื้นที่จะกำหนดนโยบายจากลักษณะของสภาพเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละรัฐ ภาษาท้องถิ่นที่แม้ว่าประเทศในยุโรปส่วนใหญ่ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาราชการ หากแต่ในขั้นตอนในการทำธุรกรรมกับประเทศนั้นๆ การใช้ภาษาท้องถิ่นอาจได้รับความสะดวกมากกว่า นอกจากนี้ หากผู้ประกอบการไทยลงทุนในประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกยูโรโซน นโยบายการเงินของประเทศนั้นๆ เป็นประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ เนื่องจากจะส่งผลถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราและกระทบต่อกลยุทธ์การตั้งราคา ขายของสินค้าที่ผลิตในประเทศนั้นๆ
ข่าวเด่น