จากแนวโน้มทางเศรษฐกิจของไทยที่ขณะนี้ยังไม่ฟื้นตัวในทิศทางที่ดีขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคยังมีปัญหาหนี้ครัวเรือนสูง โดยเฉพาะผู้บริโภคในระดับกลางและระดับล่าง ส่งผลให้สมาคมผู้ค้าปลีกไทยออกมาคาดการณ์ว่า ภาพรวมของอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยในปีนี้ น่าจะมีอัตราการเติบโตเพียง 3-3.2% เท่านั้น ปรับตัวลดลงจากเป้าหมายเดิมที่ประกาศไว้เมื่อต้นปีว่าจะมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ประมาณ 6% เนื่องจากการอนุมัติงบประมาณของภาครัฐที่จะนำมากระตุ้นเศรษฐกิจมีความล่าช้า
นอกจากนี้ เม็ดเงินดังกล่าวหากจะหมุนเข้ามาถึงอุตสาหกรรมค้าปลีกต้องใช้ระยะเวลานาน 4-6 เดือน หลังการอนุมัติงบ ซึ่งจากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ภาพรวมของอุตสาหกรรมค้าปลีกในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตเพียง 2.8% เท่านั้น เนื่องจากผู้บริโภคยังคงระมัดระวังการจับจ่ายใช้สอย
น.ส.จริยา จิราธิวัฒน์ ประธานสมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยในปี 2558 ครึ่งปีแรกอยู่ในทิศทางที่ชะลอตัวลง ซึ่งจากการประกาศตัวเลขของสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือ สภาพัฒน์ GDP ของประเทศไทยมีอัตราการเติบโตอยู่ที่ 3% เท่านั้น และจากแนวโน้มที่เกิดขึ้นดังกล่าว จึงทำให้ภาพรวมดัชนีของอุตสาหกรรมค้าปลีกไทยในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมา มีการขยายตัวเพียง 2.8% เท่านั้น ซึ่งปัจจัยหลักที่ส่งผลกระทบ คือ บรรยากาศการจับจ่ายไม่เอื้ออำนวย ส่งผลให้ผู้บริโภคชะลอการใช้เงินอย่างต่อเนื่อง
ทั้งนี้ จากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้สินค้าหมวดคงทนเติบโตเหลือเพียง 2.7% ในส่วนหมวดสินค้ากึ่งคงทนมีอัตราการเติบโตที่ 3% และสินค้าไม่คงทน ซึ่งเป็นสินค้าที่มีความจำเป็นในการดำรงชีวิตประจำวันมีตัวเลขการจับจ่ายเติบโตอยู่ที่ 2.8% จากตัวเลขการเติบโตดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงกำลังซื้อของผู้บริโภคระดับรายได้ต่ำ และกลุ่มเกษตรกรที่ยังไม่ฟื้นตัว เนื่องจากมีหนี้ครัวเรือนสูง ซึ่งหากแบ่งเป็นประเภทของร้านค้าปลีกจะพบว่า ประเภทค้าปลีกที่มีอัตราการเติบโตต่ำที่สุด คือ ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เติบโตที่ประมาณ 1.8% ตามด้วยร้านค้าเฉพาะทาง 2.7% คอนวีเนียนสโตร์ 2.8% ดีพาร์ทเม้นท์สโตร์ 3% และ ซูเปอร์มาร์เก็ต เติบโตขึ้น 8.5%
อย่างไรก็ดี แม้ว่าภาพรวมรายได้จะมีอัตราการเติบโตลดลง แต่ในด้านของการขยายสาขาใหม่ ผู้ประกอบการค้าปลีกแต่ละประเภทยังคงเดินหน้าเปิดร้านใหม่กันอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการลงทุนเปิดสาขาใหม่เป็นแผนการดำเนินธุรกิจที่ต้องมองระยะยาว ช่วงเวลานี้จึงถือเป็นช่วงเวลาที่ดีของการลงทุนเปิดร้านใหม่
สำหรับภาพรวมในช่วงครึ่งปีหลังนี้ สมาคมผู้ค้าปลีกไทย ยังคงมองว่าการเติบโตของอุตสาหกรรมค้าปลีกยังคงมีทิศทางที่ยังไม่สดใสมากนักนัก เนื่องจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจและการลงทุนของรัฐบาลอาจยังไม่สัมฤทธิ์ผล ขณะเดียวกันยังคงมีปัจจัยที่น่าเป็นห่วง ซึ่งเป็นปัจจัยภายในประเทศเป็นหลัก คือ เรื่องของหนี้ครัวเรือนที่ยังสูง กำลังซื้อรากหญ้าหดหาย รวมทั้งปัญหาภัยแล้งที่ยังเป็นเรื่องที่น่าวิตก เพราะอาจฉุดกำลังซื้อโดยเฉพาะผู้บริโภคในภาคเกษตรกร
จากปัจจัยลบที่เกิดขึ้นดังกล่าวเชื่อว่าผู้ประกอบการคงจะมีการทำกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดแคมเปญต่างๆ เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของกลุ่มบริโภคระดับกลางบน เนื่องจากเป็นกลุ่มที่ยังมีกำลังซื้อที่ดี เมื่อเทียบกับกลุ่มผู้บริโภคระดับล่างที่มีปัญหาเรื่องหนี้ครัวเรือนสูง ซึ่งจากปัญหาที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการไฮเปอร์มาร์เก็ตที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักอยู่ในระดับกลางและล่างยังคงต้องใช้กลยุทธ์การทำโปรโมชั่นลดราคา เพื่อกระตุ้นกำลังซื้อของผู้บริโภคกลุ่มดังกล่าว
ทั้งนี้ ประเภทธุรกิจค้าปลีกที่น่าเป็นห่วงมากที่สุดในช่วงครึ่งปีหลัง คือ กลุ่มสร้างและซ่อมแซมบ้าน เนื่องจากค้าปลีกประเภทดังกล่าว หากเศรษฐกิจไม่ดีจะได้รับผลกระทบโดยตรง ส่วนประเภทที่น่าเป็นห่วงรองลงมา คือ ไฮเปอร์มาร์เก็ต และ ซูเปอร์เซ็นเตอร์ เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีกลุ่มเป้าหมายหลักเป็นกลุ่มกลางและล่าง
น.ส.จริยา กล่าวว่า ปัจจัยลบที่น่าเป็นห่วงในช่วงครึ่งปีหลังนี้ มองว่ายังเป็นเรื่องของการบริโภคภายในประเทศ ที่ยังคงปรับตัวลดลง เนื่องจากกว่า 60% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศ มีหนี้ครัวเรือนสูงเกือบ 90% ขณะเดียวกันราคาพืชผลทางการเกษตรก็ยังคงตกต่ำ ไม่ว่าจะเป็นข้าว ปาล์ม หรือ ยางพารา เพราะสินค้าดังกล่าวพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก และหากมองไปที่งบประมาณการเบิกจ่ายของรัฐที่ยังไม่สัมฤทธิ์ผล ก็ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยลบที่ทำให้เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่องทั้งระบบ
อย่างไรก็ดี แม้ว่าจะมีปัจจัยลบหลายด้านเกิดขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็มีปัจจัยบวกที่พอจะกระตุ้นให้ภาพรวมเศรษฐกิจของไทยยังมีโอกาสเติบโตในทิศทางที่ดีขึ้น คือ คนไทยหันมาท่องเที่ยวภายในประเทศมากขึ้น ซึ่งหากเปรียบเทียบกับปีที่ผ่านมา มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึง 12% ขณะเดียวกันในส่วนของนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยก็มีการปรับตัวเพิ่มขึ้นเช่นกันที่ประมาณ 25%
นอกจากนี้ การที่ราคาพลังงานในตลาดโลกปรับตัวลดลง ก็ส่งผลให้ราคาพลังงานในประเทศปรับตัวลดลงเช่นกัน ซึ่งปัจจัยดังกล่าวทำให้คนไทยมีค่าใช้จ่ายในด้านพลังงานลดลง พร้อมกันนี้การที่ภาครัฐมีการประกาศพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษ ส่งผลให้เกิดการจ้างงาน การลงทุนเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน และการขยายตัวของธุรกิจโลจิสติกส์ ส่งผลให้เกิดการลงทุนและมีเงินหมุนเวียนมากขึ้น
น.ส.จริยา กล่าวอีกว่า จากปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น อยากเสนอมาตรการต่างๆ ดังนี้ไปยังภาครัฐ เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมค้าปลีกให้มีอัตราการเติบโตที่ดีขึ้น ซึ่งในส่วนของมาตรการที่จะนำไปเสนอก็มีด้วยกัน 2 มาตรการ คือ 1.ข้อเสนอแนะให้ภาครัฐกระตุ้นภาคการท่องเที่ยวและบริการ เนื่องจากการท่องเที่ยวเป็นเซ็กเม้นท์เดียวที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แม้ว่าสัดส่วน GDP จะไม่มากนัก แต่ประเทศไทยมีศักยภาพในการดึงดูดนักท่องเที่ยว ทั้งแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ และ ด้านศิลปวัฒนธรรม รวมถึงโรงแรมและภาคบริการในระดับโลก จึงควรพัฒนาให้เป็นจุดหมายการท่องเที่ยวที่ครบวงจร และควรใช้โอกาสช่วงไฮซีซั่นในครึ่งปีหลังกระตุ้นการท่องเที่ยว
ส่วนมาตรการที่ 2. คือ อยากเสนอแนะให้ภาครัฐพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้าในกลุ่มแฟชั่นชั้นนำ (Luxury Brand) เพื่อกระตุ้นยอดจับจ่ายของนักท่องเที่ยวต่างชาติให้เพิ่มขึ้นได้ ขณะเดียวกันก็เพื่อเพิ่มมูลเหตุจูงใจให้ผู้บริโภคไทยหันกลับมาใช้จ่ายในประเทศ ซึ่งจากสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่ชะลอตัวก็เริ่มเห็นคนไทยกลุ่มหนึ่งเริ่มหันกลับมาใช้จ่ายในประเทศ
นายฉัตรชัย ตวงรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการบริหาร สมาคมผู้ค้าปลีกไทย กล่าวว่า สมาคมฯ มีแผนที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้เติบโตไปพร้อมผู้ประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ ด้วยการสนับสนุนสินค้าชุมชนผ่านโครงการต่างๆ ประกอบด้วย 5 โครงการ คือ 1. โครงการเพื่อพัฒนาศักยภาพของผู้ค้าปลีกและคู่ค้าระดับเอสเอ็มอี โดยการเปิดหลักสูตรฝึกอบรม เพื่อให้ผู้ประกอบการได้รับความรู้พื้นฐานและสามารถนำไปใช้ได้จริงในการทำการตลาดให้กับธุรกิจของตน
ส่วนโครงการที่ 2. คือ โครงการการจัดทำมาตรฐานคุณวุฒิวิชาชีพ สาขาค้าปลีก โครงการที่ประสานความร่วมมือกับผู้ประกอบการ ภาครัฐ และภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง เพื่อการจัดการองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับคุณวุฒิวิชาชีพและมาตรฐานอาชีพ พร้อมรับรองและประเมินองค์กรที่ทดสอบการประยุกต์ใช้ความรู้ ทักษะ และความสามารถในการประกอบอาชีพของบุคคล เทียบเคียงคุณวุฒิวิชาชีพกับคุณวุฒิทางการศึกษา และเชื่อมโยงระบบฐานข้อมูลคุณวุฒิวิชาชีพกับอาเซียน โดยมีเป้าหมายเพื่อนำไปสู่การต่อยอดความรู้และทักษะของผู้ประกอบอาชีพ อันจะส่งผลต่อความก้าวหน้าในสายอาชีพ
ขณะที่โครงการที่ 3. คือ การร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษากลุ่มอาชีพค้าปลีกเพื่อสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชน เพื่อพัฒนากำลังคนอาชีวศึกษา (กรอ.อศ.)
4. โครงการเทใจคืนสุข โดยความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ ในการลดราคาจำหน่ายสินค้า ในทุกสาขาของห้างค้าปลีกค้าส่ง ห้างสรรพสินค้า และร้านสะดวกซื้อทั่วประเทศ เพื่อคืนความสุขให้กับประชาชน
5. โครงการฟู้ดคอร์ท 25 บาท ในความร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ เน้นการส่งเสริมและสนับสนุนให้ร้านจำหน่ายอาหารปรุงสำเร็จในราคาไม่เกินจานละ 25-35 บาท เพื่อดูแลค่าครองชีพประชาชนตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อคืนความสุขให้ประชาชน
แม้ว่าขณะนี้สมาคมผู้ค้าปลีกไทยจะออกมาประกาศปรับเป้าอัตราการเติบโตของอุตสาหกรรมค้าปลีกจาก 6% เหลือเพียง 3% เท่านั้น แต่หากทุกภาคส่วนร่วมกันกระตุ้นเศรษฐกิจ เพื่อฟื้นกำลังซื้อของผู้บริโภค เป้าหมายที่ปรับลดลงอาจขยับเพิ่มขึ้นมากกว่า 3% ที่วางไว้ก็เป็นได้ เพราะตอนนี้ยังเหลือช่วงไตรมาสที่ 4 ให้ผู้ประกอบการได้กระตุ้นยอดขายในเฮือกสุดท้ายของปีนี้
ข่าวเด่น