เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เก็บ "ภาษีอีคอมเมิร์ซ" หวังสร้างความเป็นธรรมให้ระบบ


 

 

 การขายสินค้าออนไลน์ในประเทศไทย มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2557 มีมูลค่าประมาณ 10,000 ล้านบาท เมื่อเทียบจากปี 2555 มีมูลค่าประมาณ 3,000 ล้านบาท ทำให้เป็นอีกหนึ่งช่องทางในการเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล

 

ซึ่ง นายรังสรรค์ ศรีวรศาสตร์ ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้สั่งให้เร่งปิดช่องโหว่การจัดเก็บภาษี โดยเฉพาะในส่วนที่ยังมีการหลีกเลี่ยงการชำระภาษี โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจซื้อมาขายไปผ่านระบบอินเทอร์เน็ต หรือ อีคอมเมิร์ซ

กระทรวงการคลังจึงได้เรียกประชุม 2 กรมจัดเก็บภาษี ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรงมาร่วมบูรณาการ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีดังกล่าว และตั้งคณะทำงานขึ้นมามอนิเตอร์ข้อมูล ป ระกอบด้วย กรมสรรพากร และกรมศุลกากร โดยที่ผ่านมา แม้กรมสรรพากร จะทำหน้าที่ในการตรวจสอบและเก็บภาษีจากผู้ประกอบการเหล่านี้ แต่อาจจะมีบางราย
ที่ยังใช้ช่องโหว่ในการหลีกเลี่ยง จึงต้องการให้มีการตรวจสอบเชิงลึก โดยดึงกรมศุลกากรเข้ามาร่วมให้ข้อมูลด้วย

เนื่องจากผู้ประกอบการเหล่านี้ มีต้นทุนในการทำธุรกิจต่ำ รัฐบาลก็ต้องการให้มีความเป็นธรรมแก่ผู้เสียภาษีรายอื่นๆ ถ้าไม่ยอมเสียภาษีอย่างถูกต้อง กระทรวงจะเข้าไปตรวจสอบอย่างเข้มงวด และปัจจุบันมีโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำเร็จรูปที่สามารถใส่ชื่อคนลงไปแล้วลิงค์ข้อมูลไปยังหน่วยงานต่างๆ ก็จะทราบข้อมูลในเรื่องที่เราต้องการได้ทันที ซึ่งรวมถึง เส้นทางการโอนชำระเงินในบัญชีด้วย

 

ด้านการปรับตัวของผู้ประกอบการ นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ นายกสมาคมผู้ประกอบการพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ไทย กล่าวว่า ทางสมาคมไม่ได้นิ่งนอนใจในเรื่องภาษีอีคอมเมิร์ซ โดยที่ผ่านมาได้หารือกับอธิบดีกรมสรรพากร ซึ่งสมาคมฯ ได้ให้ความรู้ความเข้าใจผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง

 

และจากการสำรวจของสมาคมฯ ประเทศไทยมีผู้ประกอบการที่ทำอีคอมเมิร์ซ โดยการเปิดเว็บไซต์มากกว่า 500,000 ราย ส่วนใหญ่มีการเสียภาษีถูกต้อง ขณะที่กลุ่มผู้ประกอบการขายผ่านทางโซเชียลฯคาดว่าจะมีถึงล้านราย ซึ่งกลุ่มนี้กระจายอยู่เป็นจำนวนมาก ทางสมาคมฯ อยู่ระหว่างทำการสำรวจร่วมกับสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์
เพื่อรวบรวมผู้ประกอบการกลุ่มที่ขายสินค้าผ่านโซเชียล เน็ตเวิร์คโดยเฉพาะ และสร้างความเข้าใจในเรื่องของการเสียภาษีให้ถูกต้อง

แต่อยากให้รัฐมีนโยบายในเชิงบวก แค่การไม่เก็บภาษีย้อนหลังอาจยังไม่เพียงพอที่จะกระตุ้นให้ผู้ประกอบการเข้าระบบ โดยภาครัฐ ควรต้องหาแนวทางร่วมกับผู้ประกอบการ เพื่อสร้างความเข้าใจที่ตรงกัน เพราะหากมีนโยบายเชิงลบ จะยิ่งทำให้ผู้ประกอบการไม่กล้าเข้ามาในธุรกิจนี้


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 07 ส.ค. 2558 เวลา : 12:30:02
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 6:16 pm