เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ดีเดย์ 11ส.ค.58 "ลดคุ้มครองเงินฝาก" เหลือ 25 ล้านบาท


11 ส.ค.2528 นี้ นับเป็นอีกหนึ่งวันของผู้ที่มีเงินฝากจำนวนมากกับสถาบันการเงิน ต้องปรับวิธีการบริหารจัดการเงินฝากใหม่ เมื่อรัฐบาลจะลดการคุ้มครองเงินฝากเหลือ 25 ล้านบาทต่อรายต่อบัญชีในสถาบันการเงินแต่ละแห่ง จากเดิมที่คุ้มครอง 50 ล้านบาท และจะลดวงเงินอีกครั้ง ในวันเดียวกันของปี 2559 เหลือเพียง 1 ล้านบาท/ราย/สถาบันการเงิน

 

 

นายสรสิทธิ์ สุนทรเกศ ผู้อำนวยการสถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังได้ส่งหนังสือมายัง สคฝ. โดยยืนยันนโยบายการลดเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือ 25 ล้านบาท ในวันที่ 11 สิงหาคม 2558 และจะลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือเพียง 1 ล้านบาท ในวันที่ 11 สิงหาคม 2559 ดังนั้นทาง สคฝ.จะเดินหน้าทำความเข้าใจกับผู้ฝากเงิน โดยได้มีการหารือกับทางสมาคมธนาคารไทย เพื่อขอให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยทำความเข้าใจและประชาสัมพันธ์กับผู้ฝากเงินให้เข้าใจถึงการลดความคุ้มครองเงินฝากลง เพื่อไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกเกี่ยวกับการลดความคุ้มครองเงินฝากลง

แต่เท่าที่ติดตามบัญชีของผู้ฝากเงิน ยังไม่พบการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติ โดยเงินฝากในไม่เกิน 1 ล้านบาท มีสัดส่วนถึง 98.23% ของผู้ฝากเงินทั้งหมด หรือมีถึง 65.7 ล้านบัญชี คิดเป็นยอดเงินรวม 2 ล้านล้านบาท จากบัญชีเงินฝากเงินในระบบธนาคารพาณิชย์ประมาณ 66.9 ล้านราย วงเงินฝาก 10.8 ล้านล้านบาท

 

 

นายสรสิทธิ์ บอกด้วยว่า ปัจจุบันกองทุนคุ้มครองเงินฝากมีเงินในบัญชีประมาณ 1.1 แสนล้านบาท โดยกองทุนดังกล่าวมีเงินไหลเข้าจากเงินนำส่ง 0.01% จากยอดเงินฝาก ซึ่งจะได้เงินปีละ 1,000 ล้านบาท โดยจำนวนเงินขณะนี้เพียงพอที่จะนำมาใช้ดูแลผู้ฝากเงินหากเกิดปัญหาขึ้นมา และถ้าเงินไม่พอสามารถกู้หรือออกพันธบัตรเพื่อนำเงินมาดูแลผู้ฝากเงินได้ และสำหรับธนาคารเฉพาะกิจของรัฐ (แบงก์รัฐ) นั้นจะไม่อยู่ในการดูแลของ สคฝ. เพราะมีรัฐค้ำประกันเงินฝากอยู่แล้ว

ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การลดความคุ้มครองเงินฝากเหลือ 25 ล้านบาท น่าจะผ่านไปได้อย่างราบรื่น แม้จังหวะการลดความคุ้มครองเงินฝากครั้งนี้ เศรษฐกิจไทยจะยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ก็ตาม เนื่อ'จากถึงจะลดวงเงินคุ้มครองเหลือ 25 ล้านบาท/บัญชี/ รายผู้ฝาก แต่สัดส่วนวงเงินฝากที่ได้รับการคุ้มครองต่อรายได้ของประชากรยังอยู่ในระดับสูงกว่าประเทศอื่นๆ ที่ใช้ระบบคุ้มครอง เงินฝากเหมือนกับของไทย

นอกจากนี้ สัดส่วนบัญชีที่ได้รับความคุ้มครองต่อบัญชีเงินฝากทั้งหมดในระบบ ในส่วนของไทยจากข้อมูล ณ สิ้นเดือน พ.ค. 2558 จำนวนบัญชีเงินฝากราว 99.95% ของบัญชีเงินฝากทั้งระบบ จะได้ความคุ้มครอง จนครบวงเงิน เนื่องจากมีเงินฝากต่ำกว่า 25 ล้านบาท ซึ่งถือว่าครอบคลุมผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ของประเทศ (หรือคิดเป็นปริมาณเงินฝาก 57.6% ของปริมาณเงินฝากรวมที่ได้รับความคุ้มครอง) ส่วนบัญชีที่เหลืออีกราว 0.05% ของบัญชีเงินฝากทั้งประเทศ ได้รับความคุ้มครองเท่ากับ 25 ล้านบาท หรือคิดเป็นปริมาณเงินฝาก 42.4% ของปริมาณเงินฝากรวม) เทียบแล้วสูงกว่าประเทศอื่นๆ ค่อนข้างมาก

ส่วนการเคลื่อนย้ายเงินฝาก ที่น่าจะเห็นในระยะต่อจากนี้ไป เชื่อว่าคงอยู่ในระดับที่ธนาคารพาณิชย์สามารถบริหารจัดการได้ ตามการออกแคมเปญ เพื่อรักษาฐานลูกค้าคล้ายกับที่เคยปรากฏขึ้นในช่วงปี 2554 ที่มีการลดความคุ้มครองเงินฝากจากเต็มจำนวนเหลือ 50 ล้านบาท

 

อย่างไรก็ตาม จุดจับตาที่สำคัญ คือ การปรับตัวของธนาคารเพื่อรับมือกับปี 2559 ที่จะมีการลดวงเงินคุ้มครองเงินฝากเหลือเพียง 1 ล้านบาท ขณะที่ในต้นปีเดียวกันนั้น ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะบังคับใช้ หลักเกณฑ์การดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องเพื่อรองรับภาวะวิกฤต หรือ Liquidity Coverage Ratio (LCR) ตามเกณฑ์ Basel III ที่มีหลักการสำคัญ คือ ธนาคารพาณิชย์ต้องมีสินทรัพย์สภาพคล่องสูง ไม่ติดภาระผูกพัน เปลี่ยนเป็นเงินสดได้เร็ว ในปริมาณที่เพียงพอรองรับประมาณการกระแสเงินสดที่อาจไหลออกสุทธิ 30 วัน ภายใต้สถานการณ์วิกฤต โดยเริ่มต้นที่สัดส่วน 60% ก่อนขยับขึ้นปีละ 10% เพื่อครบ 100% ตาม Basel III ในปี 2563

ซึ่งศูนย์วิจัยกสิกรไทยเชื่อว่า ด้วยสินทรัพย์สภาพคล่องโดยรวมต่อเงินฝาก น่าจะทำให้ธนาคารพาณิชย์ไทยแต่ละแห่งผ่านเกณฑ์ LCR ที่ระดับ 60% ในปี 2559 โดยไม่มีประเด็นน่ากังวล และด้วยกลยุทธ์การรักษาฐานลูกค้าและการบริหารต้นทุนดอกเบี้ยให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และสถานะธนาคารพาณิชย์ไทยที่เข้มแข็ง และสภาพคล่องที่ยังอยู่ในระดับสูง
คงเพียงพอต่อการเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ฝากเงินไทย และสนับสนุนให้การเปลี่ยนผ่านวงเงินคุ้มครองเงินฝากเป็นไปได้อย่างราบรื่น


LastUpdate 10/08/2558 12:25:43 โดย : Admin
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 6:35 pm