เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง และการส่งออกที่ลดลง รวมทั้งตลาดหุ้นที่มีความผันผวนอย่างรุนแรงในช่วงที่ผ่านมา เป็นเหตุผลหลักที่ทำให้รัฐบาลจีนต้องประกาศลดค่าเงินหยวนลงจากระดับ 6.1162 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ มาอยู่ที่ 6.2298 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ หรือ ประมาณ 1.9%
ซึ่ง นายสมหมาย ภาษี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับว่า การลดค่าเงินหยวน จะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของไทยบ้าง เนื่องจากจีนจะสั่งซื้อสินค้าจากไทยน้อยลง ขณะที่การลดค่าเงินหยวน ยังเป็นวิธีช่วยให้การส่งออกของจีนดีขึ้น ทำให้เห็นว่าเป็นปัญหาที่เกิดทั่วโลก แต่ละประเทศจึงต้องหาวิธีทำให้ส่งออกดีขึ้น
นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เห็นว่า เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิรูปทางการเงินของจีนที่จะค่อยๆ ปล่อยให้อัตราแลกเปลี่ยนมีความยืดหยุ่นมากขึ้น ส่วนผลกระทบของค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลง แม้จะมีผลกระทบต่อตลาดในระยะสั้น แต่คงต้องประเมินผลในระยะยาวด้วยว่า ค่าเงินหยวนที่มีความยืดหยุ่นมากขึ้น น่าจะเป็นผลดีต่อการปฏิรูปเศรษฐกิจจีน อีกทั้งการอ่อนค่าของเงินหยวนน่าจะมีผลบวกที่ช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจจีนได้มากขึ้น ซึ่งน่าจะเป็นผลดีต่อการค้าภายในภูมิภาคด้วย
ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปีนี้ การค้าระหว่างไทยและจีน มีสัดส่วนสูงเป็นอันดับ 1 ที่ 14.8% ของมูลค่าการค้ารวม
และสัดส่วนการใช้เงินหยวนเพื่อการชำระค่าสินค้าและบริการประมาณเกือบ 1% ของมูลค่าการค้าระหว่างไทย-จีน อย่างไรก็ดี ตลาดการเงินโลกที่อาจเผชิญกับความผันผวนที่สูงขึ้นได้ในช่วงนี้ ผู้ประกอบการจึงควรติดตามสถานการณ์และใช้เครื่องมือป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนเพื่อลดทอนผลกระทบด้านลบที่อาจเกิดขึ้นได้ โดย ธปท. จะติดตามการเคลื่อนไหวของค่าเงินและผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไปอย่างใกล้ชิด
สำหรับมุมมองของภาคเอกชน นายวัลลภ วิตนากร รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (สอท.) กล่าวว่า หากมองในแง่ดี อาจส่งผลดีต่อการส่งออกของไทย หากค่าเงินบาทเคลื่อนไหวอ่อนไปในทิศทางเดียวกัน เพราะจะช่วยให้ผู้ประกอบการส่งออกสินค้าได้ในมูลค่าที่สูงขึ้น แต่ในด้านลบอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าของไทยไปจีนโดยตรง ทำให้จีนอาจชะลอการนำเข้า หรือหาแหล่งนำเข้าสินค้าต้นทุนถูกกว่าไทยได้ ซึ่งต้องติดตามสถานการณ์และปัจจัยอื่นที่อาจมีผลต่อการส่งออกและเศรษฐกิจไทยอย่างใกล้ชิด เพื่อหารือในที่ประชุมคณะกรรมการร่วม 3 สถาบัน ครั้งต่อไปในวันที่1 ก.ย.นี้
ด้าน นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ รองประธานกรรมการหอการค้าไทย และนายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า หากเงินหยวนอ่อนค่าลงเพียง 2% การส่งออกของไทยยังแข่งขันได้ แต่ถ้าอ่อนค่าลงมากกว่านี้ ผู้ส่งออกไทยจะลำบากมากขึ้น เพราะราคาสินค้าจีนจะถูกกว่าของไทย และจีนเป็นคู่แข่งของไทยในสินค้าหลายชนิด และในแทบทุกตลาด
ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย เห็นว่า การปรับลดค่าเงินหยวนในรอบนี้ ไม่ใช่ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะกระทบต่อสถานการณ์การท่องเที่ยวและการส่งออกระหว่างไทย-จีน เนื่องจากเงินหยวนและเงินบาทต่างก็อ่อนค่าไปพร้อมกัน นอกจากนั้นภาพรวมการเคลื่อนไหวนับจากต้นปี 2558 เงินหยวนก็ยังคงแข็งค่าเมื่อเทียบกับเงินบาทอยู่ประมาณ 5.2% ดังนั้น
ปัจจัยเรื่องค่าเงินเพียงอย่างเดียว อาจจะยังไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อการตัดสินใจของนักท่องเที่ยวจีน
แต่สถานการณ์ของสกุลเงินในเอเชียและเงินบาทในช่วงหลายเดือนหลังจากนี้ น่าจะเป็นช่วงที่มีปัจจัยทับซ้อนกันหลายเรื่อง โดยในช่วง 1 เดือนจากนี้ แรงกดดันที่อาจจะทำให้สกุลเงินเอเชียยังคงเคลื่อนไหวในกรอบที่อ่อนค่าได้ต่อเนื่องนั้น จะเป็นเรื่องของกระแสการคาดการณ์เกี่ยวกับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ หรือ Fed ซึ่งอาจเกิดขึ้นในรอบการประชุมคณะกรรมการกำหนดนโยบายการเงิน หรือ FOMC วันที่ 16-17 ก.ย. 2558
ดังนั้น คงจะต้องติดตามตัวเลขตลาดแรงงานของสหรัฐฯ เดือนส.ค.2558 ที่จะประกาศออกมาในช่วงต้นเดือนก.ย.นี้ อย่างใกล้ชิด เพราะข้อมูลดังกล่าวน่าจะเป็นหนึ่งในตัวแปรที่สะท้อนว่า จังหวะการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ซึ่งจะเป็นปัจจัยหนุนของเงินดอลลาร์ฯ จะมีความต่อเนื่องมากน้อยเพียงใดในช่วงหลายเดือนข้างหน้า
ทั้งนี้ คงต้องยอมรับว่า ความผันผวนของสกุลเงินเอเชียก็อาจเพิ่มมากขึ้นในช่วงหลายเดือนข้างหน้า เพราะนอกจากจะมีตัวแปรเรื่องดอกเบี้ยของสหรัฐฯแล้ว ยังมีเรื่องแนวโน้มเศรษฐกิจของหลายๆ ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะมาเลเซีย และอินโดนีเซีย ที่ยังฟื้นตัวล่าช้า และมีฐานะดุลต่างประเทศและระดับทุนสำรองฯ ที่อ่อนแอ ซึ่งต้องติดตามอย่างใกล้ชิด
ข่าวเด่น