เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
SCB EIC วิเคราะห์ "การเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนครั้งใหญ่ของจีน...จับตาแนวโน้มและผลกระทบ"


 

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC)วิเคราะห์ "การเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนครั้งใหญ่ของจีน...จับตาแนวโน้มและผลกระทบ"

 

 

โดยเมื่อวันอังคารที่ 11 สิงหาคม ที่ผ่านมา ธนาคารกลางจีน (PBOC) ได้ประกาศลดค่าเงินหยวนอ้างอิงรายวันลงถึง 1.9% และเปลี่ยนแปลงการกำหนดค่าเงินหยวนอ้างอิงรายวันโดยใช้อัตราปิด ณ สิ้นวันของวันก่อนหน้า ประกอบกับภาวะอุปสงค์และอุปทานของเงินหยวนและทิศทางค่าเงินหลักของโลก ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ PBOC มีนโยบายการรักษาระดับค่าเงินหยวนที่ค่อนข้างคงที่ที่ระดับ 6.1 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐฯ แต่ยังคงกำหนดกรอบการเคลื่อนไหวของหยวนไว้ไม่เกิน 2% จากค่าอ้างอิงที่ประกาศ
    

 

ทั้งนี้ การเปลี่ยนแปลงนโยบายอัตราแลกเปลี่ยนของจีน ทำให้ค่าเงินหยวนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงในระยะสั้น เนื่องจากสาเหตุ 2 ประการคือ 1) ค่าเงินหยวนจะเคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาดมากขึ้น ซึ่งในช่วงที่ผ่านมาค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียมีทิศทางอ่อนค่าลงค่อนข้างมาก ขณะที่ค่าเงินหยวนค่อนข้างคงที่

นอกจากนี้ จีนได้เผชิญกับภาวะเงินทุนไหลออกนับตั้งแต่กลางปี 2014 เห็นได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศของจีนที่ลดลงจากราว 4 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนมกราคม มาอยู่ที่ระดับ 3.7 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนมิถุนายน หรือลดลงราว 9% ซึ่งเกิดจากการรักษาค่าเงินหยวนให้อยู่ในระดับคงที่

2) การขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ ภายในปีนี้ ส่งผลให้เงินทุนต่างชาติมีแนวโน้มไหลออกอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้ การปล่อยให้เงินหยวนเคลื่อนไหวไปตามกลไกตลาด ส่งผลให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงไปเกือบ 5% ภายใน 3 วัน แม้ว่า PBOC จะไม่ได้ประกาศลดค่าเงินเพิ่มเติมอีกแต่อย่างใด

 

 

การปรับเปลี่ยนนโยบายค่าเงินหยวนส่งผลดีต่อประเทศจีนสองประการ คือช่วยในการกระตุ้นการส่งออกที่กำลังหดตัว และเป็นการปูทางเพื่อนำเงินหยวนเป็นสกุลหลักของโลก (Internationalization) โดยการเข้าเป็นหนึ่งในสิทธิพิเศษถอนเงิน (Special Drawing Rights: SDRs) ซึ่งเป็นตะกร้าของเงินตราต่างประเทศที่สร้างขึ้นโดยกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพื่อให้ประเทศต่าง ๆ เป็นเงินสำรองระหว่างประเทศ ซึ่ง IMF มีเงื่อนไขว่าการที่หยวนจะเข้าร่วมเป็น SDRs ได้นั้น จีนจะต้องปล่อยให้ค่าเงินหยวนเคลื่อนไหวอย่างเสรี

แต่ค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าเป็นความเสี่ยงใหม่ที่กระทบต่อเศรษฐกิจเอเชีย เห็นได้จากค่าเงิน ราคาหุ้น และราคาสินค้าโภคภัณฑ์ ที่ปรับตัวลดลง โดยประเทศที่มีความเชื่อมโยงกับจีนมากมีแนวโน้มได้รับผลกระทบสูง เช่น เกาหลีใต้ อินโดนีเซีย และอินเดีย ที่มีสัดส่วนการส่งออกไปจีนสูง เผชิญกับค่าเงินที่อ่อนค่า 2.3% 1.8% และ 1.5% ตามลำดับ

นอกจากนี้ มาเลเซียและออสเตรเลียที่พึ่งพาการส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์เผชิญกับค่าเงินอ่อนค่าลง 2.3% และ 0.5% เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ เนื่องจากกระแสเงินทุนต่างชาติไหลออกจากประเทศกำลังพัฒนาไปสู่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงต่ำ (Safe haven) อย่างเช่น พันธบัตรรัฐบาลสหรัฐฯ และเยอรมนี สะท้อนจากอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลของสหรัฐฯ และเยอรมนีลดลง 8.6 และ 6.6 basis points ในวันที่ 11 สิงหาคม

รวมถึงต้องจับตามองความเสี่ยงต่อภาคเอกชนจีนที่มีหนี้เป็นเงินตราต่างประเทศ เพราะค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงส่งผลให้ภาระหนี้สกุลเงินตราต่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ของบริษัทจีน จากข้อมูลของ Bank of International Settlement (BIS) พบว่าปัจจุบันภาคเอกชนจีนมีหนี้ต่างประเทศราว 51% ของ GDP หรือคิดเป็น 26% ของหนี้ภาคเอกชนทั้งหมด นอกจากนี้ยังอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนในต่างประเทศของบริษัทจีนเช่นเดียวกัน

 

ด้านผลกระทบจากเงินหยวนอ่อนค่า ไม่ส่งผลเสียต่อเสถียรภาพทางการเงินของไทยมากนัก ประเทศไทยยังมีสถานะทางการเงินระหว่างประเทศที่แข็งแกร่ง โดยดุลบัญชีเดินสะพัดมีแนวโน้มเกินดุลได้ราว 6% ของ GDP ในปีนี้ และยังมีเงินสำรองระหว่างประเทศในระดับสูงที่ 40% ของ GDP อย่างไรก็ตาม ประเทศที่มีความเสี่ยงต่อเงินทุนไหลออกมากที่สุด คือ มาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันมีสัดส่วนทุนสำรองระหว่างประเทศน้อยกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้น

การส่งออกของไทยไปยังจีนอาจชะลอลงอีก แต่ผลกระทบในภาคการท่องเที่ยวมีจำกัด ราคาสินค้านำเข้าในรูปเงินหยวนจะเพิ่มสูงขึ้นจากค่าเงินหยวนที่อ่อนค่า ส่งผลให้ความต้องการสินค้าของจีนอาจลดลง อย่างไรก็ตาม ในแง่ของความสามารถในการแข่งขันของไทยอาจไม่ได้เปลี่ยนแปลงมากนัก เนื่องจากค่าเงินในภูมิภาคอ่อนค่าลงในทิศทางเดียวกัน ในส่วนของการท่องเที่ยวของไทยน่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก เนื่องจากในอดีตที่ผ่านมาพบว่า ค่าเงินหยวนที่อ่อนค่าลงไม่ได้เป็นการกำหนดพฤติกรรมของนักท่องเที่ยวจีน แต่ปัจจัยสำคัญคือ การเติบโตของเศรษฐกิจจีน

ค่าเงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่าได้อีก ตามทิศทางค่าเงินหยวน โดยเงินหยวนมีแนวโน้มอ่อนค่าลงได้อีกเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว การส่งออกอ่อนแอ และภาวะเงินทุนไหลออก ซึ่งเป็นปัจจัยใหม่ที่เพิ่มเข้ามานอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่จะเริ่มปรับเพิ่มขึ้นภายในปีนี้

    

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 13 ส.ค. 2558 เวลา : 18:51:34
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 6:54 pm