เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"ดัชนีคอร์รัปชั่นไทย" ดีสุดรอบ 6 ปี


ดัชนีชี้วัดคอร์รัปชั่นของไทยปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตั้งแต่รัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เข้ามาบริหารประเทศ

 

 

โดยสะท้อนได้จากการสำรวจของมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย นางเสาวนีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี เปิดเผยว่า จากผลสำรวจดัชนีสถานการณ์คอร์รัปชันไทย (ซีเอสไอ ไทย) ในเดือนมิถุนายน 2558 จากประชนชน ผู้ประกอบการภาคเอกชน ข้าราชการ และเจ้าหน้าที่ภาครัฐ 2,400 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่า ดัชนีชี้วัดการทุจริตการคอร์รัปชั่นในไทยเพิ่มขึ้นทุกหมวด โดย 0 หมายถึงการมีคอร์รัปชันที่รุนแรงที่สุด ไปจนถึงระดับที่ 100 ซึ่งหมายถึงการคอร์รัปชันที่ไม่รุนแรง แสดงให้เห็นถึงสถานการณ์ที่ดีขึ้นในการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชันภายในประเทศ

โดยดัชนีซีเอสไอไทยอยู่ที่ระดับ 55 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ระดับ 49 ถือเป็นการเพิ่มขึ้นสูงที่สุดในรอบ 6 ปี ส่วนดัชนีสถานการณ์คอรัปชันในปัจจุบัน อยู่ที่ระดับ 52 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ระดับ 47 และดัชนีแนวโน้มสถานการณ์คอร์รัปชั่นไทยอยู่ที่ 58 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ระดับ 51 ดัชนีปัญหาและความรุนแรงของการคอร์รัปชัน อยู่ที่ระดับ 54
เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ระดับ 42 ดัชนีการป้องกันการคอร์รัปชัน อยู่ที่ระดับ 57 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ระดับ 51 ดัชนีการปราบปรามการคอร์รัปชั่น อยู่ที่ระดับ 56 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ระดับ 54 และดัชนีการสร้างจริยธรรมและจิตสำนึก อยู่ที่ระดับ 54 เพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมาที่ระดับ 49

นอกจากนี้ยังพบว่า ผลการสำรวจการจ่ายเงินเพิ่มพิเศษให้แก่ข้าราชการและนักการเมืองเพื่อให้ได้สัญญาในเดือนมิถุนายน 2558 เฉลี่ยเพียง 1 – 15% เท่านั้น โดยลดลงจากการสำรวจในปี 2553 – 2556 ที่มีการจ่ายเงินเพิ่มในส่วนนี้สูงถึง 25 – 35% ส่วนในเดือนมิถุนยน 2557 ที่มีการจ่ายเงินเพิ่มในส่วนนี้ 15 – 25% และธันวาคม 2557 ที่ยังมีการจ่ายเงินเพิ่มในส่วนนี้อยู่ที่ 5 - 15%

 

 

ทั้ังนี้การลดการจ่ายเพิ่มให้แก่ข้าราชการและนักการเมืองมาเหลือเพียง 1 –15% จะช่วยให้รัฐบาลลดการสูญเสียเงินไปจากการคอร์รัปชั่นได้ถึง 1.5 -1.8 แสนล้านบาท ซึ่งจะมีผลทำให้เวลาดำเนินโครงการต่างๆ งบประมาณสามารถออกมาได้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยและมีประสิทธิภาพ โดยจะส่งผลให้โครงการที่ออกมาในปี 2558 น่าจะเป็นโครงการที่มีการใช้เม็ดเงินงบประมาณไปได้อย่างคุ้มค่ามากที่สุดเท่าที่มีการใช้มาในประวัติศาสตร์ ซึ่งยังถือเป็นอีกช่องทางหนึ่งในการกระตุ้นเศรษฐกิจ ที่ทำให้เม็ดเงินสามารถถึงมือประชาชนโดยตรงโดยไม่ผ่านกระบวนการคอร์รัปชัน

ส่วนสถานการณ์ความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอรัปชันในปัจจุบันเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่า 35% ระบุว่าเพิ่มขึ้น 34% ระบุว่า ลดลง และ 31% ระบุเท่าเดิม

และสำหรับความรุนแรงของปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันในปีหน้า พบว่า 18% ระบุว่าลดลง 27% ระบุว่าเพิ่มขึ้น 26% ระบุว่าลดลง และ19% ระบุไม่มีความคิดเห็น ส่วนสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการทุจริตคอร์รัปชัน พบว่า อันดับหนึ่ง 15.2% ระบุว่า ความไม่เข้มงวดของการบังคับใช้กฎหมายและกฎระเบียบ อันดับสอง 13.5% ระบุว่า กฎหมายเปิดโอกาสให้สามารถใช้ดุลยพินิจที่เอื้อต่อการทุจริต อันดับสาม 11.8% ระบุว่า ขาดกลไกการกำกับดูแลกิจการ/การตรวจสอบที่มีประสิทธิภาพ

ส่วนรูปแบบการทุจริตคอร์รัปชันในสังคมไทยที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุด พบว่า อันดับหนึ่ง 15.4% ระบุว่าการให้สินบน ของกำนัล หรือรางวัลต่างๆ อันดับสอง 13.9% ระบุว่า การใช้ตำแหน่งทางการเมืองเพื่อเอื้อประโยชน์แก่พรรคพวก อันดับสาม 13.6% ระบุว่าการจ่ายเงินเพื่อให้ได้ผลประโยชน์ในภายหลัง

ทั้งนี้ ผลของการจริงจังในการปราบปรามการป้องกันและการสร้างเครือข่ายในการต่อต้านคอร์รัปชั่น ทำให้นักธุรกิจที่อยู่ในวงการประมูลงานจากรัฐเพื่อให้ได้สัญญาจากเดิมมีปริมาณนักธุรกิจ 75% ที่เคยจ่ายเงินใต้โต๊ะ แต่ปัจจุบันกลับเหลือเพียง 6% เท่านั้น ซึ่งถือว่าเป็นครั้งแรกที่นักธุรกิจตอบว่าสถานการณ์การแก้ปัญหาคอร์รัปชั่นในไทยดีที่สุดเท่าที่มีการสำรวจมาในรอบ 6 ปี และอยากให้รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งที่เข้ามาบริหารประเทศต่อจาก คสช. สานต่อนโยบายดังกล่าว

ซึ่งผลการสำรวจดังกล่าวยังสอดคล้องกับการจัดอันดับของมูลนิธิองค์กรเพื่อความโปร่งใสในประเทศไทย (Transparency Thailand) ซึ่ง ดร.จุรี วิจิตรวาทการ เลขาธิการองค์กร เคยระบุว่า การจัดอันดับดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชัน ประจำปี 2557 ประเทศไทยได้คะแนน 38 คะแนน จากคะแนนเต็ม 100 คะแนน อยู่อันดับที่ 85 จากการจัดอันดับทั้งหมด 175 ประเทศทั่วโลก และเป็นอันดับที่ 12 จาก 28 ประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก


LastUpdate 16/08/2558 16:16:35 โดย : Admin
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 6:32 pm