หลังจากออกมาประกาศแผน 5 ปี ว่าจะใช้งบลงทุนรวม 5,000 ล้านบาท ในการขยายสาขาโรงหนังเพิ่มอีก 500 โรง ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ วันนี้บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) ยังคงเดินหน้าตามแผนงานที่วางไว้ ด้วยการลุยเปิดโรงหนังใหม่ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด รวมไปถึงตลาดต่างประเทศในภูมิภาคอาเซียน เพื่อสร้างอาณาจักรธุรกิจโรงภาพยนตร์ให้มีความแข็งแกร่งและเป็นที่รู้จักในวงกว้างโดยเฉพาะในสายตาของต่างชาติ
สำหรับประเทศล่าสุดที่ บริษัท เมเจอร์ฯ ปักธงเข้าไปเปิดธุรกิจโรงภาพยนตร์ คือ ประเทศลาว เนื่องจากประชาชนชาวลาวมีความชื่นชอบในการชมภาพยนตร์ และมีวัฒนธรรมใกล้เคียงกับประเทศไทย บริษัท เมเจอร์ฯ จึงเล็งเห็นโอกาสในการเข้าไปเปิดโรงภาพยนตร์ในเมืองเวียงจันทร์ ประเทศลาว ด้วยการจับมือกับบริษัท แพลตินัม ซีนีเพล็กซ์ จำกัด ผู้ดำเนินธุรกิจโรงภาพยนตร์และตัวแทนจำหน่ายภาพยนตร์ในเอเชีย เปิดโรงภาพยนตร์ภายใต้แบรนด์ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ แพลตินัม”จำนวน 5 โรง รวม 1,148 ที่นั่ง บริเวณชั้น 4 ของศูนย์การค้าเวียนเทียน เซ็นเตอร์
ส่วนกลุ่มเป้าหมายหลักของโรงภาพยนตร์แห่งดังกล่าวจะเน้นไปที่กลุ่มวัยรุ่นอายุ 10-35 ปี ซึ่งคิดเป็น 40% ของประชากร 1 ล้านคนในเวียงจันทน์ โดยในส่วนของภาพยนตร์ไทยที่มีแผนจะนำเข้าไปฉายในประเทศลาวคือเรื่อง"เลิฟเฮี้ยวเฟี้ยวต๊อด" ภาพยนตร์จากค่ายพระนครฟิล์ม
นายวิชา พูลวรลักษณ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า ลาวถือเป็นตลาดใหม่ที่มีโอกาสในการเติบโตสูงโดยเฉพาะในเวียงจันทร์ เนื่องจากประชากรมีกำลังซื้อสูง โดยในส่วนของราคาตั๋วชมภาพยนตร์ที่ขายในเวียงจันทร์จะอยู่ที่ราคา 180-200 บาท ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการในสาขาศูนย์การค้าเวียนเทียน เซ็นเตอร์ไประยะหนึ่ง ในปีหน้าบริษัทมีแผนที่จะขยายโรงภาพยนตร์ในเวียงจันทร์อีกประมาณ 2 สาขา
อย่างไรก็ดี โรงภาพยนตร์อีก 2 สาขาที่เกิดขึ้นในปี 2559 นี้ บริษัท เมเจอร์ฯ จะเน้นไปที่การจับมือกับพันธมิตรนักธุรกิจไทยที่เข้าไปลงทุนในประเทศลาว เนื่องจากขณะนี้มีนักธุรกิจไทยหลายรายเริ่มมีความสนใจเข้าไปลงทุนขยายธุรกิจในประเทศลาว ขณะเดียวกันก็มีแผนที่จะจับมือกับนักลงทุนจากประเทศจีนที่เข้าไปลงทุนในโครงการศูนย์การค้าเวิลด์เทรด อีกจำนวน 8 โรง ในปี 2560 ซึ่งจากศักยภาพที่ดีของเวียงจันทร์ บริษัท เมเจอร์ฯ คาดว่าจะสามารถขยายธุรกิจโรงภาพยนตร์ได้ไม่ต่ำกว่า 30 โรง ภายใต้งบลงทุนโรงละ 15 ล้านบาท
นอกจากนี้ เมเจอร์ฯยังจะให้ความสนใจขยายธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศกัมพูชา ซึ่งก่อนหน้านี้ได้เข้าไปเปิดให้บริการที่พนมเปญ ภายในศูนย์การค้าอิออน มอลล์ โดยมีแผนที่จะเปิดเพิ่มอีก 1 สาขาในอนาคตอันใกล้นี้ และยังมีความสนใจที่จะเข้าไปขยายธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศพม่าและเวียดนามอีกด้วย โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาตลาดและหาพันธมิตรที่มีความเหมาะสม เพื่อร่วมกันขยายธุรกิจโรงภาพยนตร์
จากแนวทางดังกล่าว บริษัท เมเจอร์ฯ มั่นใจว่าในอีก 5 ปีนับจากนี้ จะมีจำนวนโรงภาพยนตร์ทั้งในประเทศและต่างประเทศเปิดให้บริการครบ 1,000 โรงอย่างแน่นอน ในจำนวนดังกล่าวประมาณ 900 โรงจะเปิดให้บริการในประเทศไทย และอีกประมาณ 100 โรงจะเปิดให้บริการในกลุ่มประเทศ CLMV หรือกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง ซึ่งประกอบด้วย พม่า ลาว เวียดนาม และกัมพูชา ซึ่งหากทุกอย่างเป็นไปตามแผนที่วางไว้บริษัท เมเจอร์ฯ คาดว่าในปี 2020 หรือปี 2563 จะมีรายได้รวมไม่ต่ำกว่า 20,000 ล้านบาท แบ่งเป็นรายได้จากประเทศไทย 90% และต่างประเทศ 10%
สำหรับแผนการลงทุนในปี 2558 นี้ ซึ่งเป็นปีที่ 21 ของการดำเนินธุรกิจโรงภาพยนตร์ บริษัท เมเจอร์ฯ มีแผนที่จะขยายโรงภาพยนตร์ใหม่เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 100 โรง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ซึ่งในส่วนของงบที่จะใช้ในการลงทุนคาดว่าจะอยู่ที่กว่า 1,500 ล้านบาท และจากแผนการดำเนินงานดังกล่าว บริษัท เมเจอร์ฯ คาดว่าสิ้นปี 2558 จะมีโรงภาพยนตร์ที่เปิดให้บริการในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 600 โรง โดยในส่วนของสาขาใหม่ที่จะเห็นในปีนี้ ประกอบด้วย ศูนย์การค้าเอ็มควอเทียร์ , ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เวทเกสต์, ศูนย์การค้าเซ็นทรัล อีสท์ วิลล์ และศูนย์การค้าเซ็นทรัล พลาซ่า ระยอง เป็นต้น
ปัจจุบัน ธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศไทยมีประมาณ 800 โรง ทั้งในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด ในจำนวนดังกล่าวเป็นของ เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ๊ป กว่า 500 โรง ในพื้นที่ 30 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจากจำนวนโรงภาพยนตร์ในจำนวนดังกล่าวหากนำมาเทียบกับจำนวนประชากรของประเทศที่มีประมาณ 66 ล้านคน ถือว่าธุรกิจโรงภาพยนตร์ในประเทศไทยยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก
นายวิชา กล่าวว่า ภายใต้แผนธุรกิจ 5 ปีนับจากนี้ บริษัทจะเดินหน้าลงทุนธุรกิจโรงภาพยนตร์อย่างต่อเนื่องทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อกระตุ้นให้อุตสาหกรรมมีการขยายตัวโดยเฉพาะอุตสาหกรรมหนังไทย เนื่องจากยังมีโอกาสในการขยายตัวได้อีกมากโดยเฉพาะตลาดในต่างจังหวัด และตลาดกลุ่มประเทศ CLMV ซึ่งนิยมดูหนังไทยมากกว่าหนังต่างประเทศ ซึ่งบริษัทในฐานะเป็นผู้นำเสนอสินค้าไปยังผู้บริโภคมั่นใจว่า หากหนังไทยมีการพัฒนาคุณภาพที่ดีและโดนใจผู้ชมจะได้ผลการตอบรับที่ดีจากผู้ชมอย่างแน่นอน
ทั้งนี้ ในส่วนของบริษัท เมเจอร์ฯเอง ก็มีบริษัทในเครือที่ผลิตหนังไทยเข้าฉายในโรงภาพยนตร์ด้วยกัน 4 บริษัท ประกอบด้วย บริษัท เอ็ม เทอร์ตี้ไนน์ จำกัด , บริษัท ทาเล้นท์วัน จำกัด , บริษัท ทรานฟอร์เมชั่น ฟิล์ม จำกัด ,บริษัท ซีเจ อีแอนด์เอ็ม จำกัด และบริษัทเอ็นเตอร์เมนท์รายใหญ่ในเอเชีย ซึ่งเพิ่งได้เซ็นสัญญาร่วมกันทำธุรกิจรายล่าสุด ซึ่งจากความร่วมมือดังกล่าวบริษัท เมเจอร์ฯ คาดว่าในแต่ละปีจะสามารถผลิตภาพยนตร์เข้าฉายได้ประมาณ 10 เรื่อง โดยแต่ละเรื่องคาดว่าจะใช้งบลงทุนอยู่ที่ประมาณ 34-35 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม ในปี 2558 จะเป็นอีกปีทองของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ เนื่องจากมีภาพยนตร์บล็อกบัสเตอร์ที่ทำเงินจากฝั่งฮอลลีวู้ดเข้าฉายจำนวนมาก รวมทั้งมีภาพยนตร์ไทยเข้าฉายประมาณ 50 เรื่อง โดยบริษัท เมเจอร์ฯ มีแผนสร้างภาพยนตร์ไทยออกฉายปีหน้าประมาณ 12-15 เรื่อง เพิ่มขึ้นจากปีนี้ที่มีแผนจะสร้างภาพยนตร์ไทยเข้าฉายประมาณ 6-7 เรื่อง
สำหรับเป้าหมายรายได้ของบริษัท เมเจอร์ฯ ในปีนี้ คาดการณ์ว่าจะมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 8,000 ล้านบาท เติบโตประมาณ 10% ถือว่าเติบโตไม่สูงมาก เนื่องจากในช่วงครึ่งปีแรกที่ผ่านมามีปัญหาด้านเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม บริษัท เมเจอร์ฯ มั่นใจว่าปีหน้าจะกลับมามีอัตราการเติบโตสูงอีกครั้งที่ประมาณ 15-20% หรือมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 10,000 ล้านบาท
จากแนวทางการดำเนินธุรกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 ปี มีโรงภาพยนตร์ครบ 1,000 โรง ชื่อของบริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) และโรงภาพยนตร์ในเครือจะต้องเป็นที่รู้จักในวงกว้างอย่างแน่นอน โดยเฉพาะตลาดในประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากบริษัท เมเจอร์ฯ เริ่มออกมาเปิดเกมรุกขยายสาขามากขึ้น ส่วนจะสามารถสร้างเป็นรายได้หลักได้หรือไม่ เรื่องนี้คงต้องรอดูผลการตอบรับ หลังจากเปิดให้บริการครบใน 4 ประเทศของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง หรือ CLMV
ข่าวเด่น