ประกัน
มิตรแท้ฯ ลงดาบประเดิมฟ้องรายแรกผู้แชร์ข่าวลือ Blacklist บ.ประกันฯ


มิตรแท้ประกันภัยนำจำเลยกล่าวขอโทษต่อสาธารณะหลังถูกฟ้องทั้งคดีอาญาและคดีแพ่งเรียกค่าเสียหาย 1 ล้านบาท กรณีแชร์ข่าวลือ Blacklist บริษัทประกันฯ นับเป็นครั้งแรกของวงการประกันภัยเพื่อมิให้เป็นเยี่ยงอย่างและเพื่อเป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ที่ชอบแชร์ต่อข้อมูลผ่าน Social Media โดยมิได้ตรวจสอบข้อเท็จจริงเสียก่อนจนสร้างความเสียหายต่อองค์กร หรือ บุคคลอื่น ซึ่งมีความผิดตาม พรบ. ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือ ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ และเตรียมเดินสายขึ้นศาลทั่วประเทศเพื่อจัดการผู้แชร์ข่าวลือฯ ดังกล่าวอีกหลายรายที่รอจ่อคิวตามสำนวนฟ้องอย่างต่อเนื่อง



 

 

นายสรภ์ศักย์ ภิธเจริญสายทอง กรรมการบริหารและรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ฝ่ายขยายงาน กล่าวในงานแถลงข่าวว่า สำหรับข่าวลือ Blacklist นี้ ทราบว่ามีมานานกว่า 10 ปีแล้ว ปัจจุบันมิตรแท้ประกันภัยมีตัวแทนทั่วประเทศมากกว่า 140,000 คน และสำนักงานตัวแทนอีกกว่า 1,300 แห่งทั่วทุกภูมิภาค ต่างก็ได้รับความเดือดร้อนจากผลกระทบของข่าวลือฯ นี้มาโดยตลอด ตัวแทนบางคนกำลังจะขายกรมธรรม์ได้ แต่เมื่อลูกค้าเผอิญไปได้รับข่าวลือฯ นี้ก็เปลี่ยนใจไม่ซื้อกรมธรรม์ ลูกค้าบางคนก็ไม่กล้าตัดสินใจที่จะซื้อประกันภัยของมิตรแท้ฯ ด้วยเหตุผลที่ว่าไปเห็นข่าวลือฯ นี้ก็บ่อยครั้ง ซึ่งทางตัวแทนก็จะต้องพยายามชี้แจ้งข้อเท็จจริงว่าข่าวลือฯ นั้นไม่เป็นความจริง เป็นข่าวลือฯนานมากแล้ว พร้อมกับแสดงข้อมูลสถานะความมั่นคงขององค์กรเพื่อเรียกความมั่นใจของลูกค้ากลับมาให้ได้ โดยลูกค้าบางรายก็มีความเชื่อมั่นมากขึ้นและเป็นลูกค้าของมิตรแท้ฯ ในที่สุด แต่ก็มีจำนวนมากที่ลูกค้าไม่ยอมเชื่อข้อเท็จจริงที่ตัวแทนพยายามชี้แจงเลยและปฏิเสธที่จะเลือกใช้บริการของมิตรแท้ฯ ไปเลย

ทั้งๆ ที่องค์กรมิตรแท้ประกันภัยมีความมั่นคงทางธุรกิจมากกว่า 68 ปี สถานะทางการเงินแข็งแกร่งมากๆ และมีทุนจดทะเบียนสูงถึง 1,618,425,000 บาท ซึ่งบริษัทฯไม่เคยหยุดนิ่งที่จะพัฒนาการให้บริการทั้งระบบเทคโนโลยีและระบบปฏิบัติงานของตัวแทนและพนักงานเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้ามาอย่างต่อเนื่อง แต่ด้วยผลกระทบของข่าวลือฯ ดังกล่าวนี้ทำให้ยอดขายอันควรจะเป็นรายได้ของมิตรแท้ฯ นั้นสูญหายไปเป็นจำนวนเงินมหาศาลอย่างประเมินตัวเลขไม่ได้เลย ถ้าหากลองคิดแบบคร่าวๆ ว่าตัวแทน จำนวน 140,000 คน ขายประกันภัยกรมธรรม์ละ 10,000 บาท คิดเป็นเบี้ยประกันภัย 1,400 ล้านบาท และสำนักงานตัวแทน จำนวน 1,300 แห่ง ขายประกันภัยกรมธรรม์ละ 10,000 บาท คิดเป็นเบี้ยประกันภัย 13 ล้านบาท เมื่อรวมเบี้ยประกันภัยทั้งในส่วนของตัวแทนและสำนักงานตัวแทนเข้าด้วยกันสูงถึง 1,413 ล้านบาท นั่นคือ ตัวเลขแบบคร่าวๆ ที่คิดเพียง 1 กรมธรรม์ต่อตัวแทน 1 คนเท่านั้น และถ้าตัวแทนขายคนละมากกว่า 1 กรมธรรม์ตัวเลขเบี้ยประกันภัยที่มิตรแท้ฯ ต้องสูญเสียไปจะมากมายมหาศาลขนาดไหน

ดังนั้น การตัดสินใจของมิตรแท้ประกันภัยที่จะฟ้องผู้แชร์ข่าวลือ Blacklist ในครั้งนี้และผู้แชร์รายอื่นๆ ในอนาคตข้างหน้านี้นั้น จึงนับได้ว่าเป็นสิ่งที่สมควรและถูกต้องแล้ว ทั้งนี้เพื่อเป็นการปกป้องผลประโยชน์ขององค์กรและทำให้อุตสาหกรรมประกันภัยมีความสะอาดทางด้านภาพลักษณ์อันดีมากยิ่งขึ้นด้วย

 

ด้าน นายวรพัทธ์ ปรีชาสิรโรจน์ ผู้จัดการอาวุโสและหัวหน้าแผนกประชาสัมพันธ์ กล่าวว่า ตลอดเวลาเกือบ 10 ปีที่เข้ามาดูแลงานด้านการประชาสัมพันธ์ของมิตรแท้ประกันภัยได้ติดตามข่าวลือฯ นี้และพยายามออกหนังสือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อประชาชน ตัวแทนและลูกค้ามาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี เพื่อแจ้งว่าข้อความต่างๆ เหล่านั้นเป็นเพียงข่าวลือมิได้มีความเป็นจริงแต่อย่างใดพร้อมทั้งชี้แจงให้เห็นความล้าสมัยของข้อความบางส่วนว่าบางบริษัทที่ปรากฏชื่อในข่าวลือฯ ได้ปิดตัวไปนานมากแล้ว แต่ก็ยังคงนำมาส่งวนเวียนอยู่ไม่เคยขาด ซึ่งได้เฝ้าสังเกตการเปลี่ยนแปลงของข่าวลือฯ นั้นมาตลอดเวลาเกือบ 10 ปี

โดยชี้ให้เห็นว่าสามารถแบ่งลักษณะของข่าวลือฯ นั้นได้เป็น 3 รูปแบบ ได้แก่ รูปแบบที่ 1 เป็นข้อความในช่วงก่อนปี 2549 – 2552 จะเป็นยุคของ Webboard หรือ Webchat มีจุดสังเกตคือ ด้านหน้าแต่ละบรรทัดจะมีสัญลักษณ์ลูกศร 3 อัน ซึ่งเป็นลักษณะเฉพาะของการก๊อปปี้มาจาก Webboard หรือ Webchat ปรากฏชื่อบริษัทประกันฯ จำนวน 7 บริษัท รูปแบบที่ 2 เป็นข้อความในช่วงปี 2553 – 2556 จะเป็นยุคของ E-mail และ Website มีจุดสังเกตคือ สัญลักษณ์ลูกศร 3 อันด้านหน้าแต่ละบรรทัดจะหายไป นั่นแสดงว่าข้อความได้ถูกดัดแปลงแก้ไขโดยบุคคลใดบุคคลหนึ่งแต่เนื้อหาส่วนอื่นๆ ยังคงเหมือนเดิม รูปแบบที่ 3 เป็นข้อความในช่วงปี 2557 – 2558 จะเป็นยุคของ Facebook และ Line มีจุดสังเกตคือ ข้อความได้ถูกพิมพ์เพิ่มเติมช่วงท้ายอีก 2 บรรทัดโดยปรากฏชื่อบริษัทประกันภัยอีกแห่งหนึ่งเข้ามาเป็นบริษัทที่ 8 สำหรับ ในปี 2558 นี้เองที่มีการส่งต่อข่าวลือฯ ผ่านโปรมแกรม Line ซึ่งมีความรวดเร็วมากและสามารถขยายขอบเขตกลุ่มผู้ได้รับข้อความไปอย่างกว้างขวางเป็นอย่างมากในช่วงเวลาเพียงเสี้ยววินาที ซึ่งมิตรแท้ประกันภัยไม่สามารถติดตามชี้แจงข้อเท็จจริงเป็นรายๆ ได้ดังเช่นที่ผ่านมา ดังนั้น จึงได้อาศัยอำนาจแห่ง พรบ. ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ดำเนินการฟ้องร้องผู้แชร์ต่อข่าวลือฯ ดังกล่าวทุกรายที่ตรวจสอบพบว่าเป็นผู้ส่งต่อข่าวลือฯ ดังกล่าว

 

ทางด้านจำเลยรายแรกที่นำมาร่วมแถลงข่าวในครั้งนี้ชื่อ นางสาวกิตติยา วรมิศร์ ซึ่งได้ยอมรับผิดตลอดข้อกล่าวหาต่อหน้าผู้พิพากษาและผู้พิพากษาสมทบอีก 2 ท่านในนัดไกล่เกลี่ย ณ ศาลอาญากรุงเทพใต้ โดยมีข้อตกลงจากการไกล่เกลี่ยนั้น ดังนี้

 
1.โจทก์ยินยอมข้อเสนอการแถลงข่าวของจำเลย โดยจำเลยยินยอมชำระเงินค่าใช้จ่ายในการจัดการแถลงข่าวทั้งหมดพร้อมชำระค่าทนายความ ส่วนการจัดงานแถลงข่าวนั้นจำเลยได้ร้องขอให้โจทก์เป็นผู้ดำเนินการทุกขั้นตอนเนื่องจากจำเลยไม่มีความรู้ความสามารถในการจัดการแถลงข่าว โดยจำเลยยินยอมแถลงข่าวทุกรายละเอียดที่เกี่ยวข้องและจะกล่าวแสดงการขอโทษต่อการกระทำผิดของตนเอง

2.จำเลยยินยอมลงข้อความขอโทษใน Social Media ที่ตนใช้งานอยู่ทุกช่องทาง ส่วนข้อความขอให้โจทก์เป็นผู้ร่างและจัดทำได้ตามสมควร

Ø FB 30 วัน

Ø Fanpage FB 30 Page แต่ละ Fanpage ต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 100 คน

Ø Line ของจำเลย 5 กลุ่ม ทุกครั้งที่มีการลงข้อความฯ ต้อง Capture หน้าจอและโทรแจ้งมายังโจทก์ทุกครั้งเพื่อตรวจสอบ

3.จำเลยยินยอมที่จะเปิดเผยสมาชิกใน Line ทั้งหมดให้โจทก์ทราบเพื่อนำไปสู่การฟ้องร้องผู้ Post และผู้แชร์คนต่อไป

4.คณะผู้ไกล่เกลี่ยเห็นว่าเมื่อคดีสามารถตกลงกันได้แต่ต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการตามข้อเรียกร้องของโจทก์ ดังนั้น จึงให้โจทก์และจำเลยดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยให้ประสานงานกันเอง ในส่วนของคดีเฉพาะงานไกล่เกลี่ย จึงให้เลื่อนคดีนัดไกล่เกลี่ยไปก่อน รอฟังผลการดำเนินการในวันศุกร์ที่ 30 ต.ค. 58 เวลา 13.30 น. ณ ศาลอาญากรุงเทพใต้

สำหรับการไกล่เกลี่ยในครั้งนี้เป็นเพียงทางด้านคดีอาญาเท่านั้น ยังคงเหลือการขึ้นศาลในคดีแพ่งเพื่อเรียกร้องค่าเสียหายอีก 1,000,000 บาท ในลำดับต่อไป

นายวรพัทธ์ กล่าวต่อว่า ขอให้จำเลยรายนี้เป็นอุทาหรณ์สำหรับผู้ที่ใช้งาน Social Media ทุกๆ ช่องทาง ก่อนที่จะส่งต่อข้อความใดๆ ควรจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงให้ชัดเจนเสียก่อน หรือ ถ้าหากไม่มั่นใจก็ไม่ควรส่งต่อไปเป็นอันขาด เนื่องจาก พรบ. ว่าด้วยการกระทำผิดทางคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 ระบุไว้ชัดเจนว่าไม่ว่าจะเป็นผู้พิมพ์ หรือ ผู้ส่งต่อข้อความอันเป็นเท็จทางคอมพิวเตอร์แล้วสร้างความเสียหายต่อองค์กร หรือ บุคคลอื่นจะต้องได้รับโทษทางกฎหมายแน่นอน ซึ่งหลักฐานข้อความต่างๆ ที่ส่งออกไปนั้นก็แสดงความเป็นตัวตนของผู้ส่งอย่างชัดเจนอยู่แล้วจึงเป็นการยากที่จะปฏิเสธการระทำของตนเองด้วย โดยเฉพาะข่าวลือ Blacklist บริษัทประกันภัย ถ้าหากส่งต่อเมื่อใดก็จะมีความผิดทันทีเพราะเป็นข่าวลือที่มีข้อความอันเป็นเท็จมิได้เป็นความจริงแต่อย่างใด มิตรแท้ประกันภัยเตรียมฟ้องร้องทุกรายโดยไม่มีข้อยกเว้น ซึ่งจะมีการขึ้นศาลอาญาและศาลแพ่ง ณ ศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช สำหรับการฟ้องร้องจำเลยรายที่ 2 ในวันที่ 14-15 กันยายน ศกนี้ด้วย


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ส.ค. 2558 เวลา : 18:00:34
19-09-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ September 19, 2024, 11:04 pm