Event กระทรวงพาณิชย์รายงานมูลค่าการส่งออกไทยเดือนกรกฎาคมอยู่ที่ 18,222.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวลง 3.6%YOY (เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า) ด้านมูลค่าการนำเข้าเดือนกรกฎาคมนั้นอยู่ที่ 17,452 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวกว่า 12.7%YOY ส่งผลให้ในเดือนกรกฎาคมไทยเกินดุลการค้าเพิ่มเติมที่ 770.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
Analysis มูลค่าการส่งออกสินค้าของไทยยังคงถูกกระทบจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลกที่มีแนวโน้มหดตัวลง ซึ่งกดดันมูลค่าการส่งออกสินค้าที่เชื่อมโยงกับน้ำมันให้หดตัวลงอีกในเดือนกรกฎาคมนี้ โดยมูลค่าการส่งออกเคมีภัณฑ์และพลาสติกหดตัว 10.1%YOY และมูลค่าการส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปหดตัว 9.8%YOY นอกจากปัจจัยด้านราคาน้ำมันโลกที่มีแนวโน้มลดลงแล้วนั้น การส่งออกไทยยังถูกกดดันจากการถูกตัดสิทธิพิเศษทางภาษี GSP จากสหภาพยุโรป ซึ่งส่งผลให้การส่งออกอาหารทะเลแช่แข็งและแปรรูปหดตัวลงอีก 17.3%YOY ในเดือนกรกฎาคม อีกทั้งมูลค่าการส่งออกข้าวก็หดตัวกว่า 22.8%YOY โดยมาจากการลดลงของปริมาณการส่งออกเป็นหลัก นอกจากนี้การส่งออกคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบก็หดตัวลงอีกกว่า 8.4%YOY จากปัญหาเชิงโครงสร้างที่ส่งออกสินค้าที่ล้าสมัย เช่น เทปและจานแม่เหล็กสำหรับคอมพิวเตอร์ซึ่งหดตัวลงอีก 30%YOY ด้านการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้ายังคงได้รับผลกระทบจากการย้ายฐานการผลิตโทรทัศน์ ที่ทำให้การส่งออกโทรทัศน์หดตัวราว 6.6%YOY และกดดันให้การส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าโดยรวมหดตัว 0.7%YOY ถึงแม้ว่าจะได้รับปัจจัยบวกมาจากการส่งออกเครื่องปรับอากาศที่ในเดือนกรกฎาคมเพิ่มขึ้นถึง 12.7%YOY จากการส่งออกที่เพิ่มขึ้นไปยังประเทศในตะวันออกกลาง
มูลค่าการส่งออกรถยนต์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า ยางพารา และน้ำตาลกลับมาขยายตัวในเดือนกรกฎาคม โดยมูลค่าการส่งออกรถยนต์กลับมาขยายตัวอีกครั้งที่ 6.8% ในเดือนกรกฎาคม จากการส่งออกรถยนต์นั่งที่เพิ่มขึ้นกว่า 77.5%YOY ไปยังตลาดรองอย่างเช่น สหภาพยุโรป และอเมริกาใต้ อย่างไรก็ดีการส่งออกรถยนต์ยังคงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนรุ่นการส่งออกรถกระบะที่ยังคงหดตัว 33.7%YOY ด้านแผงวงจรไฟฟ้าปรับเพิ่มขึ้นราว 9.7%YOY จากการส่งออกไปยังจีนกับฮ่องกง ในขณะที่การส่งออกยางพาราและน้ำตาลที่ปรับเพิ่มขึ้นราว 18.5%YOY และ 14.1%YOY นั้นเป็นผลมาจากปริมาณส่งออกที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะการส่งออกไปยังจีน
การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนได้ส่งผลกระทบไปถึงเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญอื่นๆ ของไทย โดยการส่งออกของไทยไปจีนในเดือนกรกฎาคมลดลงอีก 1.6%YOY ส่งผลให้ใน 7 เดือนแรกของปีการส่งออกไปจีนลดลงแล้วกว่า 6.2%YOY ทั้งนี้ เศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัวทำให้เศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียนชะลอลงตามไปด้วย เป็นผลให้การส่งออกไทยไปยังกลุ่มประเทศอาเซียน 5 ในเดือนกรกฎาคมลดลงอีก 13.1%YOY นอกจากนี้ การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนยังอาจส่งผลกระทบไปถึงการฟื้นตัวของเศรษฐกิจญี่ปุ่นซึ่งกดดันให้การส่งออกของไทยไปยังประเทศดังกล่าวยังไม่สามารถกลับมาฟื้นตัวได้ โดยหดตัวลงอีก 9.6%YOY ในเดือนกรกฎาคม อีกทั้งการส่งออกไปยังสหภาพยุโรปลดลง 0.6%YOY ตามเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไป มีเพียงการส่งออกไปยังสหรัฐฯ และ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ที่สามารถขยายตัวต่อเนื่องที่ราว 1.4%YOY และ 11.6%YOY ตามลำดับ
มูลค่าการนำเข้ากลับมาหดตัวรุนแรงอีกครั้งที่ 12.7%YOY ผลจากการนำเข้าเครื่องบินและส่วนประกอบหมดไปในช่วงที่ผ่านมา โดยการนำเข้าของไทยยังคงหดตัวลงตามราคาน้ำมันดิบโลกที่ลดลงซึ่งส่งผลให้การนำเข้าเชื้อเพลิงลดลงกว่า 29.5%YOY ในเดือนกรกฎาคม ด้านการนำเข้าสินค้าทุนกลับมาหดตัวที่ 24.8%YOY โดยการนำเข้าเครื่องจักรกลและส่วนประกอบยังคงหดตัวกว่า 13%YOY ตามการลงทุนในประเทศที่มีแนวโน้มชะลอลง โดยการนำเข้าที่หดตัวรุนแรงนั้นส่งผลให้ไทยเกินดุลการค้าเพิ่มอีกราว 770.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในเดือนกรกฎาคม
Implication อีไอซีมองว่าการส่งออกไทยปีนี้จะหดตัวรุนแรงมากกว่าปีที่แล้ว โดยมูลค่าการส่งออกไทยในช่วง 7 เดือนแรกของปีหดตัวลง 4.7%YOY ตามราคาสินค้าโภคภัณฑ์และน้ำมันที่หดตัวลง อีกทั้งความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก การถูกตัดสิทธิพิเศษ GSP ในทุกหมวดสินค้าจากสหภาพยุโรป การย้ายฐานการผลิต และปัญหาเชิงโครงสร้างของการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ของไทย โดยในช่วงต่อไปการส่งออกไทยจะยังคงถูกกดดันจากเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว ซึ่งได้ส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังราคาสินค้าโภคภัณฑ์โลก และเศรษฐกิจของประเทศที่มีความเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจกับจีนสูงอย่างประเทศในภูมิภาคอาเซียนและญี่ปุ่น รวมถึงราคาน้ำมันที่มีแนวโน้มหดตัวต่อเนื่องทั้งปี ส่งผลให้การส่งออกไทยในปีนี้จะหดตัวลงรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ก่อนหน้า ทั้งนี้ ปัจจัยที่จะช่วยพยุงการส่งออกของไทยในระยะต่อไปจะมาจากทิศทางค่าเงินบาทที่อ่อนลง ซึ่งจะเป็นผลดีต่อการส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าที่มีการแข่งขันด้านราคาสูง
ข่าวเด่น