ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) ระบุว่า ธปท.มีแผนผ่อนคลายให้ผู้ลงทุนรายย่อยลงทุนในต่างประเทศได้โดยไม่ผ่านตัวกลาง เพื่อสนับสนุนให้คนไทยกระจายความเสี่ยงการลงทุน โดยมีทางเลือกการติดต่อกับสำนักงานในต่างประเทศเพื่อลงทุนได้เอง ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการลงทุน ซึ่งการผ่อนคลายดังกล่าวจะดำเนินการเป็น 2 ระยะ คือ ในปี 59 และปี 60
สำหรับในระยะแรกปี 2559 ธปท.จะอนุญาตให้ผู้ลงทุนที่มีคุณสมบัติตามที่กำหนด "Qualified invester" คือผู้ที่มีสินทรัพย์ขั้นต่ำ ดังนี้ บุคคลธรรมดาที่มีสินทรัพย์สภาพคล่อง ได้แก่ เงินฝากหรือพอร์ตการลงทุนในผลิตภัณฑ์ทางการเงินตั้งแต่ 100 ล้านบาท หรือ นิติบุคคลที่มีสินทรัพย์รวม 1,000-5,000 ล้านบาท
กำหนดวงเงินโอนออก(gross) 5 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี ประเภทผลิตภัณฑ์ที่ลงทุนได้ คือ หลักทรัพย์ทุกประเภท รวมเงินฝากในต่างประเทศ อนุพันธ์ทั้งในและนอกตลาด exchange โดยจะต้องยื่นหลักฐานแสดงสินทรัพย์ตามที่กำหนดกับธนาคารพาณิชย์
ส่วนระยะที่ 2 ในปี 2560 ธปท.จะอนุญาตให้ผู้ลงทุนรายย่อยทั่วไปสามารถลงทุนในหลักทรัพย์ทุกประเภท รวมถึงเงินฝากในต่างประเทศ อนุพันธ์เฉพาะในตลาด exchange วงเงินโอนออก 5 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี โดยจะต้องยื่นหนังสือรับรองต่อธนาคารพาณิชย์ ได้แก่ รับทราบความเสี่ยงการลงทุน และ เงินที่นำมาลงทุนต้องไม่ใช่เงินที่มาจากการกู้ยืม
ทั้งนี้ ธปท.กำหนดหน้าที่ของผู้ลงทุนให้แจ้งความประสงค์การลงทุนในหลักรัพย์ต่างประเทศกับ ธปท.เป็นรายปี ก่อนการซื้อเงินตราต่างประเทศกับธนาคารพาณิชย์ รายงานการลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศเป็นรายเดือน จัดเก็บเอกสารเกี่ยวกับการลงทุน เช่น statement โดยหากไม่รายงานและจัดเก็บเอกสารตามเกณฑ์ที่กำหนด ธปท.จะไม่ออกแบบรับทราบการแจ้งความประสงค์ ซึ่งเป็นเอกสารประกอบการซื้อเงินกับธนาคารพาณิชย์ในปีต่อไป
ข่าวเด่น