เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
รัฐบาลอัดฉีดเงิน 1.36 แสนล้านกระตุ้นเศรษฐกิจ


การช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และผู้ประกอบการธุรกิจขนาดเล็ก ให้รอดพ้นจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว นับเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญและต้องทำอย่างเร่งด่วน เพื่อไม่ให้เศรษฐกิจไทยทรุดตัวลงไปอีก

 

 

ซึ่งในที่สุดคณะรัฐมนตรีก็มีมติอนุมัติมาตรการที่เสนอโดยทีมเศรษฐกิจชุดใหม่ ที่นำโดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ

 


โดย นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบ 3 มาตรการตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อย และเพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจ ประกอบด้วย 1.มาตรการให้เงินกองทุนหมู่บ้านนำไปกู้ต่อสมาชิก วงเงินรวม 6 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะปล่อยสินเชื่อผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และธนาคารออมสิน แห่งละ 3 หมื่นล้านบาท ระยะเวลา 7 ปี ซึ่งรัฐจ่ายชดเชยดอกเบี้ยเป็นเวลา 2 ปี คิดเป็นเงิน 2,000 ล้านบาท และจะปล่อยกู้ให้กองทุนหมู่บ้านเฉพาะเกรด เอ และ บี ภายใต้เงื่อนไขไม่ให้นำไปรีไฟแนนซ์ แต่นำไปชำระหนี้อื่นๆ ได้ เช่น หนี้นอกระบบ

มาตรการที่ 2 คือ การใช้จ่ายผ่านตำบล วงเงิน 3.6 หมื่นล้านบาท ตำบลละ 5 ล้านบาท ซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกระทรวงมหาดไทย โดยจะให้ผู้ว่าราชการจังหวัดคัดเลือกนำไปสร้างสาธารณูปโภค เพื่อให้ความเป็นอยู่ของประชาชนดีขึ้น เช่น การเพิ่มแหล่งน้ำ

สำหรับมาตรการที่ 3 เป็นการเร่งรัดใช้เงินงบประมาณเบิกจ่ายโครงการลงทุนต่ำกว่า 1 ล้านบาท ให้ได้ภายใน 3 เดือน วงเงินรวม 4 หมื่นบ้านบาท ซึ่งมีงบประมาณอยู่ในแล้วในปี 2559 จำนวน 1.6 หมื่นล้านบาท และอีก 2.4 หมื่นล้านบาท จะให้หน่วยงานเสนอแผนแต่ละโครงการวงเงินไม่เกิน 1 ล้านบาท

 

3 มาตรการกระตุ้นศก.วงเงิน1.36 แสนลบ.
             

1. ปล่อยกู้ผ่านกองทุนหมู่บ้าน 6 หมื่นลบ.
2. เร่งรัดการใช้จ่ายระดับตำบล 3.6 หมื่นลบ.
3.เร่งรัดใช้จ่ายงบผ่านโครงการขนาดเล็ก 4 หมื่นลบ.


 

 

ด้าน นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา ก็มั่นใจว่า มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ในระดับหนึ่ง ซึ่งสถานการณ์ท่องเที่ยวในปีนี้ มั่นใจว่ารายได้การท่องเที่ยวจะเป็นไปตามเป้าหมายที่ 2 ล้านล้านบาท จำนวนนักท่องเที่ยว 28.8 ล้านคน

 

 

ส่วน นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เอกชนอยู่ระหว่างติดตามและประเมินผลงานมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของนายสมคิด ว่าจะมีผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ GDP ของประเทศมากน้อยเพียงใด โดยเฉพาะล่าสุด ที่กระทรวงการคลังเตรียมเร่งเบิกจ่ายงบประมาณลงทุนโครงการขนาดเล็ก 1.3 แสนล้านบาท เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจระยะสั้นในประเทศเป็นหลัก โดยเบื้องต้นเชื่อว่า จะช่วยกระจายรายได้ ลดความเหลื่อมล้ำ และทำให้ประชาชนมีกำลังซื้อมากขึ้น ส่วนในระยะยาวรัฐบาลต้องเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์และระบบราง และส่งเสริม Digital Economy อย่างต่อเนื่อง

ซึ่งนอกเหนือจากมาตรการแก้ปัญหาราคาสินค้าเกษตร และการช่วยเหลือผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อมที่รัฐกำลังดำเนินการอย่างเร่งด่วน ภาคเอกชนต้องการเห็นความคืบหน้าจากภาครัฐในการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ระหว่างไทย-อินเดีย, ไทย-ปากีสถาน และไทย-ตุรกี รวมถึงการผลักดันการค้าชายแดน เพื่อรองรับการเปิดเขตประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี)


LastUpdate 01/09/2558 20:02:32 โดย : Admin
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 6:31 pm