เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
คาดเงินเฟ้อเฉลี่ยปี 58 ติดลบครั้งแรกรอบ6 ปี


กระทรวงพาณิชย์รายงานอัตราเงินเฟ้อเดือนสิงหาคม ซึ่งยังคงปรับลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ผลจากราคาน้ำมันที่ปรับลดลง

 

 

โดย นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค(CPI) ในเดือน ส.ค.58 อยู่ที่ 106.33 ลดลง 1.19% เมื่อเทียบกับเดือน ส.ค.57 โดยเป็นการขยายตัวติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ส่งผลให้ CPI ช่วง 8 เดือนแรกของปีนี้(ม.ค.-ส.ค.58) ลดลง 0.89% จากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่อง ได้แก่ น้ำมันดีเซล และกลุ่มแก๊สโซฮอล์ รวมทั้งราคาก๊าซหุงต้มที่ปรับตัวลดลง จากมติปรับลดราคาขายปลีกก๊าซแอลพีจีของคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน และการปรับตัวลดลงของราคาอาหารสด ตามปริมาณผลผลิตที่ออกสู่ตลาดมากเพียงพอต่อการบริโภค

ส่วนดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน(Core CPI) เดือน ส.ค.58 อยู่ที่ 105.96 เพิ่มขึ้น 0.89% เมื่อเทียบจากเดือน ส.ค.57 แต่สำหรับความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะเงินฝืดยังอยู่ในระดับต่ำ เนื่องจากราคาสินค้าทั่วไปยังเพิ่มขึ้นและทรงตัว โดยมีจำนวนสินค้าที่ราคาสูงขึ้น 148 รายการ ทรงตัว 191 รายการ ขณะที่จำนวนสินค้าที่ราคาลดลงมีจำนวน 111 รายการ

 

 

สำหรับแนวโน้มเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือ นายสมเกียรติ คาดว่า ยังมีโอกาสติดลบต่อเนื่องได้อีก เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก ยังมีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดลง หลังปริมาณการผลิตน้ำมันจากแหล่งต่างๆ จะออกสู่ตลาดโลกเพิ่มขึ้น ซึ่งต่างจากที่เคยประเมินไว้ว่าในช่วงปลายปีซึ่งเป็นช่วงฤดูหนาวราคาน้ำมันในตลาดโลกจะเริ่มปรับตัวเพิ่มขึ้นจากปริมาณความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้น

ดังนั้นหากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ดอลลาร์/บาร์เรลไปจนถึงสิ้นปีนี้ ก็มีความเป็นไปได้ที่อัตราเงินเฟ้อปีนี้จะติดลบ ซึ่งจะเป็นการติดลบครั้งแรกในรอบ 6 ปี นับตั้งแต่ปี 52 ที่อัตราเงินเฟ้อติดลบ 0.9% ผลจากการเริ่มโครงการลดค่าครองชีพให้ประชาชน เช่น โครงการรถเมล์ รถไฟฟรี รวมทั้งราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ช่วงนั้นอยู่ในระดับต่ำประมาณ 60 ดอลลาร์/บาร์เรล

 

และในเดือนหน้ากระทรวงพาณิชย์จะมีการทบทวนเป้าหมายอัตราเงินเฟ้อในปีนี้ใหม่ ซึ่งคาดว่าจะปรับลดลงจากปัจจุบันที่วางกรอบไว้ที่ 0.6-1.3% เพื่อให้สอดคล้องกับราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับลดลง และค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงมาก

ด้านศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ หรือ อีไอซี ก็เห็นว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงที่เหลือของปีนี้จะคงยังอยู่ในภาวะชะลอตัว โดยเฉลี่ยทั้งปี 2015 จะติดลบ เนื่องจากยังคงมีอุปทานส่วนเกินในตลาดโลกจนเป็นปัจจัยฉุดรั้งการขยายตัวของเงินเฟ้อทั่วไปในหลายภูมิภาคตลอดทั้งปีนี้


LastUpdate 01/09/2558 20:54:20 โดย : Admin
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 6:42 pm