นายนาวิน อินทรสมบัติ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กสิกรไทย จำกัด (บลจ. กสิกรไทย) เปิดเผยว่า บลจ.กสิกรไทยเตรียมจ่ายปันผลกองทุนต่างประเทศ ได้แก่ กองทุนเปิดเค หุ้นยูเอส ดัชนีเอ็นดีคิว 100 (K-USXNDQ) ในอัตรา 0.25 บาทต่อหน่วย สำหรับผลการดำเนินงานตั้งแต่วันที่ 1 มีนาคม 2558 - 31 สิงหาคม 2558 โดยกองทุนดังกล่าวจะจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหน่วยลงทุนที่มีรายชื่ออยู่ในสมุดทะเบียน ณ เวลา 8.00 น. ของวันที่ 31 สิงหาคม 2558 และมีกำหนดจ่ายเงินปันผลดังกล่าวพร้อมกันในวันที่ 14 กันยายน 2558 นี้ รวมมูลค่าเงินปันผลทั้งสิ้น 9.77 ล้านบาท
“สำหรับผลการดำเนินงานของกองทุน K-USXNDQ ในรอบบัญชีที่ผ่านมา (1 มี.ค. 58 - 31 ส.ค. 58) กองทุนมีการจ่ายเงินปันผลไปแล้วทั้งสิ้น 2 ครั้ง โดยครั้งแรกจ่ายในอัตรา 0.25 บาทต่อหน่วย และจะจ่ายครั้งนี้อีกในอัตรา 0.25 บาทต่อหน่วย รวมแล้วทั้งสิ้น 0.50 บาทต่อหน่วย หรือสามารถคิดเป็นอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลในรอบผลดำเนินงาน 6 เดือน อยู่ที่ 4.30% ขณะที่เมื่อเปรียบเทียบกับเกณฑ์มาตรฐาน ดัชนี Nasdaq 100 มีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลในรอบปีที่ผ่านมา เพียงแค่ 1.30% เท่านั้น” นายนาวินกล่าว
นายนาวินกล่าวต่อไปว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ยังคงขยายตัวได้ดี ทั้งภาคธุรกิจ การใช้จ่ายภาคครัวเรือน การใช้จ่ายภาครัฐและภาคแรงงาน โดยตัวเลข GDP ในไตรมาส 2/2558 ขยายตัว 3.7% ต่อปี ซึ่งสูงกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ก่อนหน้า ส่วนผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในไตรมาส 2/2558 ส่วนใหญ่ออกมาดี โดยกว่า 74% ของบริษัท มีผลประกอบการออกมาดีกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี ขณะที่กว่า 50% ของบริษัท มียอดขายดีกว่าค่าเฉลี่ย 5 ปี (ข้อมูล ณ วันที่ 28 ส.ค. 58) โดยเฉพาะหุ้นในกลุ่มไอที สินค้าฟุ่มเฟือย และกลุ่มสุขภาพ ซึ่งมีสัดส่วนรวมกันในดัชนี Nasdaq สูงถึงกว่า 90% ต่างมีผลประกอบการออกมาค่อนข้างดีเช่นเดียวกัน
ด้านตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในช่วงที่ผ่านมา ตั้งแต่ต้นปี 2558 – 1 กันยายน 2558 ดัชนี Nasdaq ปรับตัวลงเพียง 2% ขณะที่ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในภาพรวมติดลบ 7% ทั้งนี้ตลาดหุ้นสหรัฐฯ ในปีนี้มีความผันผวนค่อนข้างสูง โดยเฉพาะในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา ซึ่งสาเหตุหลักมาจากความวิตกกังวลต่อเศรษฐกิจจีนที่มีความเสี่ยงชะลอตัวลง จากตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาถดถอย ประกอบกับการปรับลดค่าเงินหยวนที่เกิดขึ้นเหนือความคาดหมายของตลาด ทำให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้างในตลาดการเงินทั่วโลก รวมถึงในสหรัฐฯ
นอกจากนี้ ผลกระทบที่เกิดขึ้นดังกล่าว ทำให้นักลงทุนต่างมองว่าภาวะความปั่นป่วนของตลาดทั่วโลกในช่วงที่ผ่านมา มีผลสำคัญต่อการตัดสินใจเกี่ยวกับทิศทางและจังหวะการปรับขึ้นดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (FED) ที่จะมีการประชุมในกลางเดือนกันยายนนี้ โดยนักวิเคราะห์ต่างปรับลดโอกาสในการขึ้นดอกเบี้ยของ FED ในครั้งนี้ลง
อย่างไรก็ดี แม้ว่ามูลค่าหุ้นสหรัฐฯ จะมีการปรับฐานลงมาประมาณ 10% จากจุดสูงสุดในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา แต่ระดับราคาหุ้นปัจจุบันก็ยังซื้อขายอยู่ในระดับสูงกว่าค่าเฉลี่ยระยะยาว โดยอัตราส่วนราคาต่อกำไร (Forward P/E) ปัจจุบันอยู่ที่ 16.47 เท่า เทียบกับค่าเฉลี่ยระยะยาว 10 ปีที่ 14.94 เท่า นักลงทุนจึงอาจต้องใช้ความระมัดระวังในการเข้าลงทุนในหุ้นสหรัฐฯ เพิ่มเติม เนื่องจากมองว่าความน่าสนใจในการเข้าลงทุนมีค่อนข้างจำกัด รวมถึงในภาวะที่ยังคงมีความไม่แน่ชัดเกี่ยวกับกรณีการปรับขึ้นดอกเบี้ยของ FED
ข่าวเด่น