เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
จับตา "ดอกเบี้ยกนง.&เฟด"


ทิศทางอัตราดอกเบี้ยทั้งในและต่างประเทศ เป็นปัจจัยที่นักลงทุนให้ความสำคัญอย่างมากในระยะนี้ เพราะจะสะท้อนถึงความผันผวนที่จะเกิดขึ้นในตลาดทุนและตลาดเงิน

 

สำหรับอัตราดอกเบี้ยในประเทศค่อนข้างมั่นใจได้ว่า การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของคณะกรรรมการนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (กนง.) มีน้ำหนักน้อยที่จะปรับขึ้น โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า กนง. น่าจะมีมติในการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 1.50% ในการประชุมรอบที่หกของปี 2558 ในวันที่ 16 กันยายน 2558 นี้
เพื่อรักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจต่างประเทศของไทย ภายใต้บริบทความผันผวนทางการเงินที่อยู่ในระดับสูง จากคาดการณ์ถึงการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด

โดยมาตรการทางการเงินคงเป็นปัจจัยช่วยหนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทย ขณะที่ปัจจัยหลักในการผลักดันการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ คงมาจากมาตรการทางการคลังของภาครัฐ ที่รัฐบาลได้มีการออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจรอบใหม่ ขณะที่ปัจจัยค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงค่อนข้างมาก พอจะสนับสนุนการฟื้นตัวของภาคการส่งออกได้บ้าง

 

 

โดยปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะข้างหน้า ได้แก่ ทิศทางอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลไทย ที่อาจจะปรับตัวเพิ่มขึ้นตามทิศทางการเพิ่มขึ้นของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐฯ อันอาจจะส่งผ่านไปยังต้นทุนทางการเงินที่ปรับเพิ่มขึ้นได้ นอกจากนี้ ยังต้องติดตามการตัดสินใจปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐหรือเฟด ตลอดจนการส่งสัญญาณถึงเส้นทางในการปรับนโยบายการเงินในระยะต่อไป ที่คงส่งผลต่อความผันผวนทางการเงินตลอดจนกระแสการไหลของเงินทุนในตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทย

ขณะที่ทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ก็ยังมีความไม่แน่นอนว่าจะไปในทิศทางใด เพราะตัวเลขเศรษฐกิจของสหรัฐฯที่ยังไม่มีเสถียรภาพมากขึ้น ทำให้มีโอกาส 50:50 ที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในการประชุม กลางเดือนกันยายนนี้ แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องส่วนใหญ่ก็เชื่อว่า ตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลก คงหนีไม่พ้นการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟดในปีนี้อย่างแน่นอน

 

 

ด้านประธานสมาคมธนาคารไทย นายบุญทักษ์ หวังเจริญ กล่าวว่า ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) คงจะปรับขึ้นดอกเบี้ยแน่นอนภายในปีนี้ ส่วนจะปรับขึ้นในการประชุมวันที่ 16-17 กันยายนหรือไม่ ไม่ใช่ประเด็นหลัก แต่อยู่ที่เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยเท่าไหร่ และความถี่ในการปรับดอกเบี้ยจะมากน้อยแค่ไหน และเชื่อว่าประเทศไทยจะสามารถรับมือกับการขึ้นดอกเบี้ยของสหรัฐได้ เนื่องจากไทยมีฐานะการคลังที่มั่นคง และมีทุนสำรองระหว่างประเทศสูง แม้ว่าค่าเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาจะอ่อนค่าแต่ยังมีเสถียรภาพ แตกต่างจากหลายประเทศที่มีปัญหาเงินทุนไหลออกและอัตราแลกเปลี่ยนอ่อนค่ามาก จนต้องปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพื่อแก้ปัญหาการไหลออกของเงินทุน แต่สำหรับประเทศไทย ธปท.ยังสามารถใช้นโยบายทางการเงิน และมีเครื่องมืออื่นๆ ในการบริหารค่าเงินบาทได้ดี


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 16 ก.ย. 2558 เวลา : 02:06:28
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 6:28 pm