เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
กนง.มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ต่อปี


กนง.มีมติเอกฉันท์คงดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.5% ต่อปี พร้อมประเมินจีดีพีปีนี้ต่ำกว่า 3% หลังเศรษฐกิจโลกชะลอตัว  ชี้เงินบาทขณะนี้อ่อนค่าเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ยันพร้อมดูแลค่าเงินบาทหากผันผวนหนัก  คาดเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบถึงสิ้นปี หลังราคาน้ำมันอยู่ในระดับต่ำคาดจะกลับมาเป็นบวกใน Q1/59 ด้านเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวกหลังราคาสินค้านอกกลุ่มพลังงานปรับตัวสูงขึ้น  

   

 

นายเมธี สุภาพงษ์ เลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. เปิดเผยว่า ที่ประชุมกนง.มีมติเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 1.5% ต่อปี เนื่องจากเศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มฟื้นตัวขึ้น จากแรงขับเคลื่อนจากภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวสูง และการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐบาลที่เร่งตัวขึ้น รวมทั้งได้รับผลจากมาตรการเศรษฐกิจชุดใหม่ของภาครัฐบาล โดยกนง.จะมีการประกาศตัวเลขอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี อย่างเป็นทางการในวันที่ 25 ก.ย. นี้
  

“เชื่อว่ามาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจะช่วยเพิ่มอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจได้ อย่างมีนัยสำคัญ แต่ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยยังมีทั้งปัจจัยบวกและปัจจัยลบที่จะต้องประเมิน”นายเมธี กล่าว
  

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจออกมา แต่ กนง.ประเมินว่า จีดีพีของไทยในปีนี้จะต่ำกว่าประมาณการที่ 3% อย่างแน่นอน เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังชะลอตัวลง โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีน ที่จะต้องจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะจะมีผลในด้านของการส่งออกของไทยค่อนข้างมาก
  

ส่วนค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงอย่างต่อเนื่องนั้น ส่วนใหญ่มาจากค่าเงินดอลลาร์ที่ปรับตัวแข็งค่าขึ้น ซึ่งหากธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.เห็นว่าค่าเงินมีความผันผวน ธปท.ก็พร้อมที่จะเข้าไปดูแล แต่อย่างไรก็ตาม มองว่าค่าเงินบาทที่อ่อนค่าในระดับปัจจุบันที่ประมาณ 36 บาทต่อดอลลาร์ ยังช่วยในการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
  

สำหรับเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 2/2558 และเดือนก.ค.ที่ผ่านมา เศรษฐกิจขยายตัวอย่างช้าๆ จากการส่งออกที่หดตัวต่อเนื่อง ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนและเอเชีย และรายได้ครัวเรือนที่ยังไม่กระเตื้องขึ้นเป็นปัจจัยลบต่อความเชื่อมั่นและการใช้จ่ายของภาคเอกชน
         

ด้านแรงกดดันของเงินเฟ้อที่ปรับลดลงตามราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำกว่าคาด ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปมีแนวโน้มติดลบต่อเนื่องจนถึงสิ้นปี และคาดว่าจะกลับมาเป็นบวกได้ในช่วงไตรมาส 1/2559 ซึ่งช้ากว่าที่เคยประเมินไว้ สำหรับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวก สะท้อนว่าราคาสินค้านอกกลุ่มพลังงาน ส่วนใหญ่ยังมีแนวโน้มทรงตัวหรือ ปรับตัวสูงขึ้น และการคาดการณ์เงินเฟ้อของประชาชนยังอยู่ในระดับใกล้เคียงกับเป้าหมายเงินเฟ้อ ทำให้ความเสี่ยงของภาวะเงินฝืดยังคงมีจำกัด
  

ทั้งนี้ คณะกรรมการประเมินว่า เศรษฐกิจไทยยังคงเผชิญกับปัจจัยลบ โดยเฉพาะจากต่างประเทศรวมทั้งความผันผวนของตลาดการเงินที่อาจสูงขึ้น ส่วนภาวะการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนยังเอื้อต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ
  

“กนง.เห็นให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ เพราะเห็นว่านโยบายการเงินในปัจจุบันยังผ่อนปรน และเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพทางการเงินของประเทศ”นายเมธี กล่าว


LastUpdate 16/09/2558 16:10:23 โดย : Admin
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 6:40 pm