ข่าวประชาสัมพันธ์
สำน้ักผู้ตรวจการแผ่นดิน แจ้งผลการวินิจฉัยของผู้ตรวจการแผ่นดิน


ผู้ตรวจการแผ่นดินแจ้งผลการวินิจฉัยกรณีนายเฉลิมศักดิ์ กาญจนศิราธิป (ผู้ร้องเรียน) ที่ขอให้พิจารณาและตรวจสอบจริยธรรมของประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกรณีพูดจาโน้มน้าวให้สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติลงมติรับร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  ตรวจสอบการกระทำของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่เป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญกรณีการลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยเป็นการขัดแย้งกันแห่งผลประโยชน์ของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง  และตรวจสอบการกระทำของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 275 และมาตรา 276 เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ดำรงตำแหน่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
         

 

 

นายรักษเกชา แฉ่ฉาย  เลขาธิการและโฆษกสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน กล่าวว่าผู้ตรวจการแผ่นดินได้พิจารณาข้อเท็จจริงและกฎหมายเกี่ยวข้องแล้วมีมติไม่รับเรื่องร้องเรียนดังกล่าวทั้ง 3 ประเด็น ไว้พิจารณาตามมาตรา 28 (3) แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 โดยมีความเห็นประกอบคำวินิจฉัย ดังนี้
         

1. กรณีการตรวจสอบจริยธรรมของประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 มาตรา 13 (2) ประกอบมาตรา 36 มาตรา 37 และมาตรา 38 บัญญัติให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการเกี่ยวกับจริยธรรมของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองและเจ้าหน้าที่ของรัฐตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ดังนั้น การที่จะพิจารณาว่า ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามประมวลจริยธรรมหรือไม่ ในเบื้องต้นต้องพิจารณาก่อนว่า ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือไม่ ดังนี้
                   

1.1 ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือไม่ มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 ได้บัญญัตินิยามคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง” หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต และเมื่อพิจารณาพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตรา 4 บัญญัตินิยามคำว่า “ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หมายความว่า นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือสมาชิกวุฒิสภา โดยไม่รวมถึงคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ประกอบกับเมื่อพิจารณารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พุทธศักราช 2557 มาตรา 33 บัญญัติให้ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญต้องมีสัญชาติไทยโดยการเกิดและไม่มีลักษณะต้องห้าม ดังต่อไปนี้ (1) เป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้น ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จึงมิได้มีฐานะเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552
              

1.2 ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐหรือไม่ มาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 ได้บัญญัตินิยามคำว่า “เจ้าหน้าที่ของรัฐ” หมายความว่า ข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น และเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ ซึ่งกรณีการร้องเรียนในประเด็นนี้เป็นการร้องเรียนถึงการกระทำของบุคคลในฐานะเป็นประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญหรือเป็นสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ ซึ่งบุคคลดังกล่าวมิได้เป็นบุคคลที่มีฐานะเป็นข้าราชการ พนักงาน ลูกจ้าง หรือบุคคลผู้ปฏิบัติงานในหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น และเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยลักษณะปกครองท้องที่ ตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 ประกอบกับในกรณีนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 1) ได้พิจารณาให้ความเห็นทางกฎหมายกรณีเกี่ยวกับฐานะของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติโดยสรุปว่า สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ มิได้เป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามพระราชบัญญัติบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ของรัฐฯ ตามเรื่องเสร็จที่ 262/2558 ดังนั้น ประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จึงมิได้มีฐานะเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐตามมาตรา 4 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552
         

ดังนั้น กรณีการร้องเรียนขอให้ตรวจสอบจริยธรรมของประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จึงเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน

         

2. กรณีการตรวจสอบการกระทำของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่เป็นคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่จะพิจารณาและลงมติเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 มาตรา 13 (1) บัญญัติให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในกรณีการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้าง ของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น โดยที่สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติมิได้มีฐานะเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้าง ของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น กรณีการร้องเรียนในประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน

         

3. ตรวจสอบการกระทำของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 275 และมาตรา 276 เพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ดำรงตำแหน่งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เห็นว่า
              

3.1 กรณีการตรวจสอบการกระทำของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 มาตรา 13 (1) บัญญัติให้ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่พิจารณาและสอบสวนหาข้อเท็จจริงตามคำร้องเรียนในกรณีการไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือปฏิบัตินอกเหนืออำนาจหน้าที่ตามกฎหมายของข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้าง ของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น โดยที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ มิได้มีฐานะเป็นข้าราชการ พนักงาน หรือลูกจ้าง ของหน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจ หรือราชการส่วนท้องถิ่น เช่นเดียวกับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ กรณีการร้องเรียนในประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน
              

3.2 กรณีการตรวจสอบบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ เห็นว่า พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 มาตรา 14 บัญญัติให้ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญได้เมื่อเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ ให้เสนอเรื่องพร้อมความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ

โดยในกรณีเกี่ยวกับบทบัญญัติดังกล่าวศาลรัฐธรรมนูญได้เคยมีคำวินิจฉัยไว้โดยสรุปว่า รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 บัญญัติให้ศาลรัฐธรรมนูญมีบทบาทและอำนาจในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนโดยการตรวจสอบความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมาย ตามหลักการตรวจสอบก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมายในมาตรา 141 และ  มาตรา 154 ซึ่งเป็นการตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญและร่างพระราชบัญญัติอื่นที่รัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้วว่า ตราขึ้นโดยถูกต้องตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือไม่ และมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่

และตามหลักการตรวจสอบภายหลังประกาศใช้เป็นกฎหมาย ตามมาตรา 211 มาตรา 212 มาตรา 245 และมาตรา 257 ที่บัญญัติให้ศาลที่พิจารณาคดี บุคคลซึ่งถูกละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพ ผู้ตรวจการแผ่นดิน และคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เสนอเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้ ว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ประกาศใช้แล้วมีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ โดยไม่อาจหยิบยกประเด็นความไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกระบวนการตรากฎหมายฉบับนั้นให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาวินิจฉัยได้อีก คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 2/2551 ซึ่งตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าว ผู้ตรวจการแผ่นดินมีอำนาจหน้าที่ในการตรวจสอบปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญของกฎหมายในระดับพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ พระราชบัญญัติ หรือกฎหมายอื่นที่มีผลใช้บังคับระดับพระราชบัญญัติที่มีการประกาศใช้บังคับแล้วเท่านั้น

แต่กรณีการร้องเรียนคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญในการยกร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 275 และมาตรา 276 ว่าเป็นการเพื่อเอื้อประโยชน์ให้กับสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติ นั้น เป็นการร้องเรียนบทบัญญัติแห่งร่างรัฐธรรมนูญ มาตรา 275 และมาตรา 276 มิใช่การร้องเรียนว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายว่ามีข้อความขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ กรณีการร้องเรียนในประเด็นนี้จึงเป็นเรื่องที่ไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของผู้ตรวจการแผ่นดิน


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 17 ก.ย. 2558 เวลา : 17:06:33
22-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 22, 2025, 9:42 am