ปัญหาหลักของผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่กำลังเผชิญในปัจจุบัน ได้แก่ การเข้าถึงแหล่งเงินที่ยากลำบากขึ้น ซึ่งหมายถึงการขาดสภาพคล่องในการขยายธุรกิจ และรัฐบาลได้พยายามแก้ปัญหานี้
โดย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) เปิดเผยว่า ขณะนี้หน่วยงานภาครัฐหลายภาคส่วนมีความพร้อมในการให้ความช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัว โดยล่าสุด บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ได้ประกาศความพร้อมในการดำเนินมาตรการค้ำประกันสินเชื่อแบบ Portfolio Guarantee Scheme ระยะที่ 5 (PGS5) ปรับปรุงใหม่ ตามมติ ครม. 8 ก.ย.58 ในวงเงินค้ำประกัน 1 แสนล้านบาท เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการได้รับสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้เพียงพอต่อการดำเนินธุรกิจและช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs ได้รับสินเชื่อเพิ่มขึ้นกว่า 30,000 ราย และก่อให้เกิดสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินประมาณ 170,000 ล้านบาท
ด้าน นายญาณศักดิ์ มโนมัยพิบูลย์ ประธานกรรมการ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) เปิดเผยว่า บสย.พร้อมให้บริการค้ำประกันสินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs ตั้งแต่วันที่ 16 ก.ย.58 เป็นต้นไป ภายใต้โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 5 ซึ่งจะเอื้อประโยชน์กับผู้ประกอบการ SMEs เนื่องจากได้ปรับเกณฑ์การค้ำประกันให้ผ่อนคลายมากขึ้น เพื่อช่วยให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเข้าถึงแหล่งทุนง่ายขึ้น โดยช่วยปลดล็อกเปิดโอกาสผู้ที่เคยมีประวัติด้านการเงิน แต่มีศักยภาพในการชำระหนี้ ขณะเดียวกันภายใต้หลักเกณฑ์ใหม่นี้ จะทำให้ธนาคารมั่นใจในการปล่อยสินเชื่อให้กับลูกค้าที่มีศักยภาพน้อยกว่าเกณฑ์ปกติได้มากขึ้น และเร็วขึ้นตามเจตนารมณ์ของภาครัฐ
นอกจากนี้ รัฐบาลยังช่วยแบ่งเบาภาระของผู้ประกอบการ SMEs โดยเป็นผู้รับภาระค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้กับผู้ประกอบการ SMEs ต่อเนื่อง 4 ปี คิดเป็นเงินชดเชยที่รัฐบาลจ่ายแทนผู้ประกอบการ SMEs ตลอด 4 ปี คิดเป็นเม็ดเงิน 4,000 ล้านบาท ซึ่งถือว่าเป็นการช่วยเหลือภาระค่าธรรมเนียมแทนผู้ประกอบการ SMEs ที่สูงกว่าทุกครั้งที่ บสย.เคยดำเนินโครงการ เพื่อเป็นการแบ่งเบาภาระค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ SMEs
ส่วนการปรับเงื่อนไขการค้ำประกันใหม่ในครั้งนี้ บสย.จะรับภาระจ่ายค่าประกันชดเชยกรณีที่เป็นหนี้ NPGs ทั้งโครงการรวมทั้งสิ้นไม่เกิน 30% ของภาระค้ำประกัน โดยแบ่งการจ่ายค่าประกันชดเชยเป็นสัดส่วน 100% ของผู้ประกอบการ SMEs แต่ละราย ในหนี้ NPGs 15% แรก ส่วนหนี้ NPGs ที่เกินกว่า 15% แต่ไม่เกิน 30% บสย.จ่ายค่าประกันชดเชย 50% ของการค้ำประกันแต่ละราย ทำให้การจ่ายค่าประกันชดเชยของโครงการดังกล่าวสูงสุดไม่เกิน 22.5% ตลอดระยะเวลาโครงการ
โดยคาดว่า บสย.จะอนุมัติการค้ำประกันได้เฉลี่ยในช่วง 3 เดือนสุดท้ายของปีนี้ เดือนละ 8,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้น 60% จากยอดการค้ำประกันปกติที่อนุมัติเพียงประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อเดือน
ด้าน นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย บอกว่า การเพิ่มการค้ำประกันของ บสย.จากเดิม 18% เป็น 30% นั้น จะส่งผลให้สามารถปล่อยสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นเป็นเดือนละ 1 หมื่นล้านบาท จากเดิมที่ 6 พันล้านบาท และคาดว่าจะใช้เวลาในการปล่อยสินเชื่อหมดภายใน 10-12 เดือน
แม้รัฐบาลจะออกมาตรการต่างๆ เพื่อช่วยเหลือ SMEs แต่อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ปีนี้ก็ยังไม่สดใส โดย น.ส.วิมลกานต์ โกสุมาศ รองผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เปิดเผยว่า ได้ปรับลดประมาณการ จีดีพี ภาคเอสเอ็มอี เหลือ 2.8 % จากต้นปีที่คาดว่าจะขยายตัว 3 % เนื่องจากช่วง 7-8 เดือนที่ผ่านมา เศรษฐกิจในประเทศยังขยายตัวได้ไม่ดี รวมทั้งภาคการส่งออกยังได้รับผลกระทบจากประเทศคู่ค้าเศรษฐกิจชะลอตัว มีเพียงภาคการท่องเที่ยวและบริการเท่านั้นที่ขับเคลื่อน
ส่วนปี 2559 คาดว่า จีดีพี ภาคเอสเอ็มอี จะขยายตัวไม่ต่ำกว่า 3 % เพราะเชื่อว่ามาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอีของรัฐบาลที่ประกาศออกมาจะเริ่มเห็นผล รวมทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ ทำให้กำลังซื้อในประเทศฟื้นและภาคการส่งออกในประเทศหลักโดยเฉพาะสหรัฐอเมริกาที่ปรับตัวดีขึ้น
ข่าวเด่น