ภายหลังจากที่ คณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้ให้ความเห็นชอบให้บีโอไอออกมาตรการเร่งรัดการลงทุนในปี 2558-2559 และกำหนดให้มีผลครอบคลุมโครงการลงทุนที่ยื่นขอรับส่งเสริมตั้งแต่ 1 มกราคม 2558 ถึงสิ้นปี 2559 และต้องดำเนินการจริงทั้งการผลิตหรือการให้บริการภายในสิ้นปี 2560 เพื่อสนับสนุนให้นักลงทุนเริ่มดำเนินการเร็วขึ้น
ซึ่งโครงการที่ลงทุนจริงและเริ่มดำเนินการภายในสิ้นปี 2560 ตามมาตรการเร่งรัดการลงทุนจะได้รับสิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มเติมแบ่งเป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
1.กิจการที่ลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเพิ่มอีก 2 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี หรือหากเป็นกิจการที่ได้รับยกเว้น 8 ปีอยู่แล้วให้ได้รับลดหย่อน 50% อีก 5 ปี (ในปีที่ 9-13)
2.กลุ่มกิจการที่ตั้งนอกเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติ บุคคลเพิ่มอีก 1 ปี แต่รวมแล้วไม่เกิน 8 ปี
นอกจากนี้ ที่ประชุมได้พิจารณาเรื่องนโยบายเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษในรูปแบบคลัสเตอร์ เพื่อสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่มูลค่าและฐานอุตสาหกรรมแห่งอนาคต เสริมสร้างศักยภาพด้านการลงทุนของประเทศไทย เพื่อดึงดูดการลงทุนที่มีคุณค่าทั้งจากนักลงทุนรายเดิมและรายใหม่ ตลอดจนกระจายความเจริญสู่ภูมิภาคและท้องถิ่น
การพิจารณากำหนดคลัสเตอร์ต่างๆ อยู่บนพื้นฐานของปัจจัยหลัก ได้แก่ 1.การกระจุกตัวในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมเชิงยุทธศาสตร์ในการพัฒนาอุตสาหกรรมเฉพาะอย่าง 2.มีการเชื่อมโยงขององค์ประกอบต่างๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้กับห่วงโซ่การผลิต และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรม 3.มีการเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจท้องถิ่น เช่น จ้างงาน หรือใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น เชื่อมโยงกับเอสเอ็มอีในท้องถิ่น
พร้อมทั้งกำหนดคลัสเตอร์เป้าหมายในระยะแรก รวม 6 กลุ่มอุตสาหกรรม ได้แก่ กลุ่ม Super Cluster ซึ่งเป็นคลัสเตอร์สำหรับกิจการที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงและอุตสาหกรรมแห่งอนาคต ซึ่งประกอบไปด้วยคลัสเตอร์ 4 กลุ่ม คือ
(1) คลัสเตอร์ยานยนต์และชิ้นส่วน
(2) คลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์โทรคมนาคม
(3)คลัสเตอร์ปิโตรเคมีและเคมีภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
(4) คลัสเตอร์ดิจิทัลลำดับต่อมา คือ คลัสเตอร์ เป้าหมายอื่นๆ อีก 2 กลุ่ม ได้แก่ คลัสเตอร์เกษตรแปรรูป คลัสเตอร์สิ่งทอและเครื่อง นุ่งห่ม
การกระตุ้นการลงทุนดังกล่าวแม้จะส่งผลดี แต่ก็สร้างความกังวลให้กับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) โดยนายกฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการ สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กล่าวว่า ได้มอบหมายให้สำนักแผนภาษีของ สศค. พิจารณาถึงแนวทางการส่งเสริมการลงทุนผ่านมาตรการทางภาษีว่า ควรมีส่วนใดที่จะสนับสนุนได้บ้าง ขณะเดียวกัน สศค.ต้องมีข้อเสนอไปยังคณะกรรมการชุดดังกล่าวด้วยว่า หากใช้มาตรการทางภาษี เพื่อสนับสนุนการลงทุนแล้ว รัฐบาลควรจะมีนโยบายในการสร้างรายได้เพิ่มหรือไม่ เนื่องจากปัจจุบันการยกเว้นภาษีสำหรับการลงทุนในบีโอไอ ทำให้รัฐสูญเสียรายได้ปีละประมาณ 1 แสนล้านบาท และหากต่ออายุมาตรการจะทำให้รัฐต้องเสียรายได้มากขึ้น
แต่ขณะนี้มีสัญญาณที่ดีว่า รัฐบาล โดยรองนายกรัฐมนตรี นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ จะให้ความสำคัญเกี่ยวกับฐานะการคลังในอนาคต โดยดูได้จากนโยบายที่ต้องการเพิ่มสัดส่วนการลงทุนของภาคเอกชนในโครงการขนาดใหญ่ของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการลดภาระงบประมาณรายจ่ายของรัฐบาลในแต่ละปีและในอนาคตลงไปได้
ข่าวเด่น