ไอที
แอพฯเด็ดวันนี้..."ราชบัณฑิตยฯ โมไบล์" พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2554


ในยุคสมัยนี้ที่อะไรๆ ก็วิ่งมาอยู่บนโทรศัพท์มือถือ จึงไม่น่าแปลกใจนัก หากจะมีการพัฒนา “แอพพลิเคชั่นพจนานุกรมภาษาไทย” ขึ้นเพื่อการอ่าน การเขียน ที่ถูกต้องสำหรับคนไทย เหมือนกับที่ใช้ Dictionary  ช่วยแปลภาษาอังกฤษ เป็นภาษาไทย หรือภาษาอื่นๆ ซึ่งเวลานี้แอพฯที่ว่านี้เกิดขึ้นแล้วจริงๆ และเป็นฝีมือของคนไทย เพื่อให้คนไทยใช้อ่านเขียนภาษาไทยให้ถูกต้องยิ่งขึ้น เหมาะสำหรับนักเรียน นักศึกษา นักวิชาการ และประชาชนทั่วไปไว้ใช้

 

ทั้งนี้ สำนักงานราชบัณฑิตยสภาร่วมกับศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ(เนคเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พัฒนาแอพฯ ชื่อว่า "ราชบัณฑิตยฯ โมไบล์" คือ พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2554 และ แอพฯ อ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสภา ที่จะมาช่วยให้คนไทยใช้ภาษาไทยได้ง่ายๆ แค่ปลายนิ้ว พร้อมให้ดาวน์โหลดกันได้แล้ววันนี้ทั้งโทรศัพท์ระบบปฏิบัติการ iOS Version 7, iOS Version 8, Android และ Windows Mobile

 

 

พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554  เป็นหนังสืออ้างอิงที่ประมวลคำที่มีใช้ในภาษาไทยเป็นจำนวนมากกว่า 43,000 คำ พร้อมให้คำอ่าน ความหมาย ตลอดจนที่มาของคำ และเป็นพจนานุกรมที่มีประกาศสำนักนายกรัฐมนตรี เรื่องระเบียบตัวสะกด กำหนดให้หนังสือราชการและการศึกษาเล่าเรียนในโรงเรียนใช้ตัวสะกดตามที่ปรากฏในพจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2554 เพื่อให้การเขียนหนังสือไทยมีมาตรฐานเดียวกัน

 

การใช้งานแอพฯ มี 2 รูปแบบ คือ รูปแบบหมวดอักษร และรูปแบบการค้นคำ ผู้ใช้สามารถค้นคำได้ทั้งจากตัวอักษรตั้งต้น และจากส่วนหนึ่งของคำ นอกจากนี้ ในระบบยังสามารถค้นคำจากประวัติการใช้งานของผู้ใช้เองได้ด้วย



 

 

ส่วนอ่านอย่างไรและเขียนอย่างไร ฉบับราชบัณฑิตยสถาน เป็นหนังสือที่รวบรวมคำภาษาไทยที่มักมีผู้อ่านผิดและเขียนผิด โดยให้คำอ่านอย่างถูกต้องและคำเขียนที่ถูกต้อง และได้เพิ่มเติมเนื้อหาเกี่ยวกับการอ่านและการเขียนที่ควรรู้ ได้แก่ การอ่านคำวิสามานยนาม เช่น เครื่องราชอิสริยาภรณ์บางตระกูล การอ่านตัวเลข การอ่านเครื่องหมายต่าง ๆ การอ่านพยัญชนะ สระ วรรณยุกต์ การอ่านชื่อจังหวัด เขต อำเภอ แขวง ตำบล (เฉพาะบางจังหวัด) ที่พบว่า มักอ่านไม่ถูกต้อง

ส่วนการเขียน ได้เพิ่มเติมคำวิสามานยนามที่เป็นชื่อแขวง ถนน ตรอก ซอย ทางแยก ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มักเขียนผิด เพื่อให้เขียนกันได้อย่างถูกต้อง นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มชื่อธาตุพร้อมสัญลักษณ์เรียงตามลำดับของเลขเชิงอะตอมไว้ด้วย

 

ผู้ใช้สามารถเลือกใช้งานได้ 2 หมวด คือ (1) “หมวดอ่านอย่างไร” เพื่อทราบคำอ่านที่ถูกต้องและ (2) “หมวดเขียนอย่างไร” โดยพิมพ์คำที่ต้องการทราบคำอ่านหรือการสะกดคำลงไป แม้ว่าผู้ใช้สะกดคำผิด แอพพลิเคชันนี้จะแนะนำการสะกดคำที่ถูกต้องให้ นอกจากนี้ผู้ใช้ยังค้นคำจากประวัติการใช้งานของผู้ใช้เองได้อีกเช่นกัน

 

โดยภาพรวมแล้วใช้งานไม่ยากและเป็นประโยชน์มากเลยทีเดียว รีบดาวน์โหลดติดเครื่องไว้ใช้กันได้แล้ว เปิดกว้างถึง 3 ระบบที่ใช้กันแพร่หลายทั่วไป ได้แก่  iOS Version 7, iOS Version 8, Android และ Windows Mobile

 

 


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ก.ย. 2558 เวลา : 19:44:03
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 7:59 pm