ไอที
ผลงาน"Visionnear" มจธ.โดนใจนักลงทุน ปูทาง "เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี"


กลุ่มบริษัทสามารถร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) นำ 10 ผลงานเด่นที่เข้ารอบ 2 รวม 25 ผลงานในการแข่งขันความสามารถด้านการคิดสร้างสรรค์ผลงานเทคโนโลยี ที่จะสามารถต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ได้ของเยาวชนไทยในโครงการ “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี 2015” ออกสู่สายตาของนักลงทุนและผู้สนใจทำธุรกิจ ผลงานที่โดนใจชิ้นหนึ่งได้แก่ "Visionnear : อุปกรณ์สวมใส่สําหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น" ของทีมนักศึกษาจาก มจธ.  
 

 

ทั้งนี้ ท่ามกลางการเดินหน้าประเทศไทยสู่การเป็นเศรษฐกิจดิจิตอล การส่งเสริมการเรียนรู้วิจัยและพัฒนาเพื่อนำเทคโนโลยีดิจิตอลมาใช้ประโยชน์ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริการ การทำธุรกิจและการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนและสังคมไทยจึงเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นที่มาของการส่งเสริมลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา (R&D) รวมถึงเวทีจัดประชันทางความคิดแสดงความสามารถคิดค้นพัฒนาสิ่งประดิษฐ์ด้านเทคโนโลยีมากมาย ในที่นี้รวมถึง “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี 2015” ด้วยเช่นกัน

“เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี”  เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ(สวทช.) และกลุ่มบริษัทสามารถ โดยได้รับการสนับสนุนจากพันธมิตรจากภาครัฐอีกแห่ง คือ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ซึ่งร่วมผนึกกำลังส่งเสริมนักคิด นักพัฒนา นำแนวคิดสร้างสรรค์ด้านเทคโนโลยี ผลักดันสู่การเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ โดยนิสิต นักศึกษา และบุคคลทั่วไป จากสถาบันการศึกษาทั่วประเทศ (ไม่จำกัดระดับการศึกษา)ที่มีอายุระหว่าง 20 – 35 ปี โดยคาดหวังว่าโครงการนี้จะสามารถช่วยขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน อีกทั้งช่วยเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันในระดับโลกได้

สำหรับในปี 2015 ถือเป็นปีที่ 4 เปิดรับสมัครไปในช่วงเดือนมกราคมถึงมีนาคม 2558 ที่ผ่านมา และได้รับการตอบรับอย่างคึกคัก โดยมีผู้ส่งผลงานเข้าประกวดมากกว่า 100 ผลงาน ผ่านการสัมภาษณ์ให้เข้ารอบแรกมานำเสนอผลงานกับคณะกรรมการจำนวน 45 ผลงาน และผ่านคัดเลือกอย่างเข้มข้นจนได้ 25 ผลงานในรอบที่ 2 ซึ่งทั้งหมดนี้จะได้รับทุน (Business Startup Funds) ทุนละ 20,000 บาท ก่อนที่จะไปสู่การคัดเลือกผู้ชนะเลิศ “รางวัล Samart Innovation Award 2015”  ที่จะได้รับเงินรางวัล 200,000 บาท รางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1 รับเงินรางวัล 100,000 บาท และรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 2  รับเงินรางวัล 50,000 บาท และทั้ง 3 อันดับแรกนี้ยังได้รับรางวัลทัศนศึกษาต่างประเทศด้วย รวมมูลค่าโครงการฯกว่า 1,000,000 บาท

แต่ก่อนที่จะไปสู่การคัดเลือกผู้ชนะเลิศ ทางกลุ่มบริษัทสามารถและ สวทช. ได้นำ 10 ผลงานเด่นจาก 25 ผลงานมาโชว์ก่อน ในกิจกรรม  “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี พบนักลงทุน” (Business Matching)   เพื่อเปิดโอกาสให้นักลงทุนพบนวัตกรคนไทย  

 

นางสาวโชติกา กำลูนเวสารัช กรรมการผู้จัดการ บริษัท สามารถคอมเทค จำกัด กล่าวถึง การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ของกลุ่มบริษัทสามารถว่า การจัดงาน “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี พบนักลงทุน”   ครั้งนี้ มีเป้าหมายเพื่อให้เกิดการพบปะกัน เพื่อให้เกิดการเจรจาต่อรองทางธุรกิจระหว่างนักลงทุนกับเจ้าของผลงาน ซึ่งเจ้าของผลงานจะได้มีโอกาสต่อยอดในเชิงพาณิชย์ นักลงทุนมีโอกาสได้พิจารณาผลงานที่มีศักยภาพเพื่อนำไปต่อยอดทางธุรกิจของตน เป็นการสร้างโอกาสให้กับประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการค้าและการลงทุนด้านอุตสาหกรรมเทคโนโลยีในภูมิภาคมากขึ้น นอกจากนี้หากผลงานใดมีโอกาสกลายเป็นธุรกิจทำเงินตัวจริง จะสามารถกลับมาเป็นที่ปรึกษาให้กับน้องๆ รุ่นต่อไปได้ ช่วยสร้างระบบนิเวศน์ของสตาร์ทอัพในเมืองไทยให้ก้าวหน้าชัดเจนขึ้นและเป็นรูปธรรมในที่สุด
 

 

ด้าน นายเฉลิมพล ตู้จินดา ผู้อำนวยการ เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย (ซอฟต์แวร์พาร์ค) กล่าวว่า การจัดงานครั้งนี้ เพื่อแสดงผลงานเทคโนโลยีและแผนธุรกิจของผู้เข้าร่วมโครงการฯ โดยนำความรู้และประสบการณ์จากการร่วมกิจกรรมตั้งแต่ต้นปี จากความรู้ด้านการตลาดทั้งหมด ตั้งแต่เรื่องการจัดตั้งธุรกิจ การเขียนแผน การเจรจาต่อรอง จนถึงการออกไปปฏิบัติจริง มาปรับใช้กับผลงาน และกลับมานำเสนอให้กับนักลงทุนผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยี ผู้ประกอบการ และผู้ทรงอิทธิพลด้านออนไลน์จากหลากหลายกลุ่มธุรกิจ ซึ่งล้วนแต่มีประสบการณ์ ความรอบรู้ ที่ต้องการแสวงหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่มีโอกาสเติบโต มาร่วมลงทุน มาต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่ หรือนำไปขยายตลาดต่อทั้งในและต่างประเทศ

 

สำหรับ ผลงานเด่น 1 ใน 10 ได้แก่  "Visionnear : อุปกรณ์สวมใส่สําหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็น" ของ  ทีมนายนันทิพัฒน์ นาคทอง จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.)  ซึ่งยังสามารถคว้ารางวัล Investors Award ด้วยเช่นกัน

นายนันทิพัฒน์เปิดเผยว่า ได้พัฒนาอุปกรณ์สวมใส่สำหรับผู้บกพร่องทางการมองเห็นที่จะช่วยบรรเทาปัญหาในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งในขณะนี้อุปกรณ์สามารถแยกแยะธนบัตร แยกสิ่งของบนชั้นวางสินค้าที่มีบาร์โค้ด แยกสีและแยกไฟเปิดและปิดได้ คุณสมบัติเหล่านี้จะช่วยให้ผู้บกพร่องทางการมองเห็นมีอิสระและสามารถพึ่งพาตนเองได้มากขึ้น นอกจากนี้ยังใช้งานและเรียนรู้ได้ง่ายและมีต้นทุนในการผลิตไม่แพงเพียงประมาณ 3,000 บาท ซึ่งจะถูกลงอีกหากมีการผลิตเป็นจำนวนมาก

“เวลานี้กำลังผลิตออกมา 10 ชิ้น เพื่อนำไปให้ผู้บกพร่องทางการมองเห็นหมุนเวียนทดลองใช้ที่สมาคมคนตาบอดแห่งประเทศไทย ส่วนการพัฒนาในอนาคตที่มีผู้ให้โจทย์มา คือ ต้องการให้แยกแยะตัวเลขบนสลากกินแบ่งรัฐบาลได้ด้วย เป็นโจทย์ที่จะต้องพัฒนาต่อไป”

นายนันทิพัฒน์กล่าวต่อว่า “สำหรับความสนใจเพื่อนำผลงานไปใช้ประโยชน์ในขณะนี้ มีทางสมาคมฯให้ความสนใจจะนำไปประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้ ขณะที่ทางสำนักงานสร้างเสริมกิจการเพื่อสังคมแห่งชาติ (สกส.) จะให้การช่วยเหลือแนะนำในการตั้งบริษัทและการลงทุนเบื้องต้น

นอกเหนือจากนี้ยังได้รับการสนับสนุนจาก ศูนย์บ่มเพาะธุรกิจ ของ สวทช.และศูนย์บ่มเพาะธุรกิจของมหาวิทยาลัยฯเองด้วย”

ถือเป็นผลงานที่ดูเรียบง่าย ใกล้ตัวและน่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากต่อผู้พิการทางสายตาทั่วไป ให้สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกสบายขึ้น อีกไม่นานเราอาจได้เห็นน้อง ๆ ทีมนี้กลายเป้น “เถ้าแก่น้อยเทคโนโลยี” ที่มีชื่อของเมืองไทยก็เป็นได้ ...


บันทึกโดย : วันที่ : 23 ก.ย. 2558 เวลา : 23:56:06
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 7:54 pm