"เศรษฐกิจดิจิทัล" ถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้น้ำหนักในการวางระบบเศรษฐกิจไทยในอนาคต เพื่อรองรับการแข่งขันที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งหมายถึงการพัฒนาอุตสาหกรรมไทยให้เน้นในเรื่องของนวัตกรรม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าไทย
สอดคล้องกับที่ นางหิรัญญา สุจินัย เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า ทิศทางการลงทุนในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลของรัฐบาลได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ประกอบการอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในกิจการด้านซอฟต์แวร์ ตั้งแต่ช่วงต้นปีถึงเดือนกรกฎาคม 2558 บีโอไอได้อนุมัติส่งเสริมการลงทุนไปแล้วถึง 107 โครงการ เงินลงทุนรวมกว่า 668 ล้านบาท แม้การลงทุนแต่ละโครงการมีมูลค่าไม่สูงนัก แต่จะสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจได้อย่างมาก
โดยกิจการที่ได้รับอนุมัติส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์ อำนวยความสะดวกแก่ผู้ใช้เทคโนโลยีในชีวิตประจำวัน และตอบสนองการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ อาทิ การพัฒนาระบบเกมบนโทรศัพท์มือถือ ซอฟต์แวร์รองรับระบบโทรคมนาคม 4จี การพัฒนาระบบบอกพิกัดช่วยติดตามตัวบุคคลสำหรับธุรกิจประเภทต่างๆ อาทิ การประกันภัย การเงินการธนาคาร ซอฟต์แวร์สำหรับระบบบอกพิกัดของสถานที่สำคัญๆ ในประเทศไทย และซอฟต์แวร์ที่ใช้พัฒนาระบบข้อมูลหรือระบบประมวลผลขนาดใหญ่ขององค์กร
และสำหรับแนวโน้มการขอรับส่งเสริมการลงทุนในกิจการซอฟต์แวร์ พบว่า ยังมีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดมีกิจการที่น่าสนใจได้ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนแล้วและบีโอไออยู่ระหว่างการพิจารณาหลายโครงการ อาทิ กิจการพัฒนาซอฟต์แวร์สำหรับระบบเก็บเงินออนไลน์ของรถไฟฟ้า เพื่อให้มีลักษณะเป็นบัตรร่วมสามารถใช้กับระบบคมนาคมอื่นได้หลากหลาย
รวมถึงโครงการลงทุนของผู้ประกอบการรายใหญ่จากต่างประเทศที่ขอขยายโครงการเพื่อพัฒนาระบบซอฟต์แวร์สำหรับโปรแกรมวิเคราะห์และประมวลผลทางการเงินแบบครบวงจร คาดว่า การลงทุนดังกล่าวจะทำให้ไทยเป็นฐานของการประมวลผลระบบการเงินของบริษัทในเครือจากทั่วโลก และจะก่อให้เกิดการจ้างงานคนไทยเพิ่มขึ้นอีกมาก หลังจากในช่วงที่ผ่านมาบริษัทได้จ้างทีมพัฒนาซอฟต์แวร์คนไทยไปแล้วมากกว่า 700 คน
ด้าน นายอุดม วงศ์วิวัฒน์ไชย ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า สศอ.ได้ศึกษาถึงความพร้อมของผู้ประกอบการไทยกับเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) จากการสำรวจความคิดเห็นผู้ประกอบการใน 16 สาขาอุตสาหกรรม พบว่า ด้านข้อดีในการนำดิจิทัลอิโคโนมีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการ ส่วนใหญ่ 49.55% เห็นว่า ช่วยในการติดต่อสื่อสารกับทั้งในองค์กรและนอกองค์กร รวมไปถึงติดต่อกับลูกค้าได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น รองมา 25.08% ช่วยในการทำธุรกิจ ทำให้ระบบงานคล่องตัว สะดวกรวดเร็วและสามารถทำงานได้ทุกที่ และ 15.11% เห็นว่า ช่วยในการโฆษณาประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารและสินค้าของบริษัทได้หลายช่องทางมากขึ้นโดยมีค่าใช้จ่ายลดลง
ส่วนข้อจำกัดในการนำดิจิทัลอิโคโนมีมาใช้ในการดำเนินธุรกิจที่ผู้ประกอบการมีความคิดเห็นส่วนใหญ่ 43.82% เห็นว่า ข้อมูลและรูปของผลิตภัณฑ์จะไม่เป็นความลับ เพราะมีการโฆษณาออนไลน์ ทำให้คู่แข่งรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ที่มีอยู่ ซึ่งอาจโดนแฮ็กข้อมูลหรือโดนคัดลอกผลงานและผลิตภัณฑ์ได้ รองลงมา 41.01% เห็นว่า ความแรงและระบบเครือข่ายของสัญญาณอินเตอร์เน็ตบางครั้งช้าหรือใช้ไม่ได้ ทำให้เกิดปัญหากับการติดต่อสื่อสาร และ 11.24% เห็นว่าการใช้งานผ่านระบบออนไลน์ทำให้อาจมีไวรัสแอบแฝงมา ซึ่งเป็นอันตรายต่อข้อมูล
และเมื่อทำการสำรวจถึงมาตรการสนับสนุนที่ภาครัฐควรต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อสร้างความพร้อมในการเป็นเศรษฐกิจดิจิทัลของไทย ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ 52.86% เห็นว่า ต้องจัดอบรมให้ความรู้เกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงความรู้และข้อแนะนำเกี่ยวกับการใช้ดิจิทัลอิโคโนมีในการทำธุรกิจให้กับผู้ประกอบการได้มีความเข้าใจและการนำไปใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ 30.48% เห็นว่าต้องพัฒนาและขยายเครือข่ายสัญญาณให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงข้อมูลและใช้งานอินเตอร์เน็ตได้อย่างทั่วถึงและมีประสิทธิภาพ และ 8.57% เห็นว่า ต้องประชาสัมพันธ์ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลให้ผู้ประกอบการได้มีความเข้าใจมากขึ้น เพื่อประโยชน์ในการใช้เทคโนโลยีในการทำธุรกิจ
ข่าวเด่น