เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ผลดี-ผลเสีย ข้อตกลง TPP หลังยืดเยื้อนานกว่า 5 ปี


ในที่สุดสหรัฐอเมริกา,ญี่ปุ่น และกลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก โดยเฉพาะเอเชียตะวันออก 10 ประเทศ ก็ได้ลงนามความตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิก Trans-Pacific Partnership(TPP) ซึ่งเจรจายืดเยื้อมานานกว่า 5 ปี

 

โดยชาติสมาชิก TPP ทั้ง 12 ประเทศ ประกอบด้วย สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, บรูไนฯ, แคนาดา, ชิลี, มาเลเซีย, เม็กซิโก, นิวซีแลนด์, เปรู, สิงคโปร์ และเวียดนาม

การลงนามดังกล่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ไทยยังไม่ร่วมลงนามในข้อตกลงความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก(TPP) ว่า กรณีดังกล่าวเป็นความพยายามของประเทศชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกที่จะแสวงหาความร่วมมือทางการค้า ซึ่งในประเด็นนี้จำเป็นต้องมีการทบทวนผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นให้รอบคอบ เพื่อไม่ให้เป็นการสร้างภาระให้กับประเทศ โดยเฉพาะในเรื่องของยา เวชภัณฑ์ การเข้าถึง การถูกควบคุม และผลที่ประเทศจะได้รับ

 

ด้าน นายจิรเทพ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา โฆษกธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงการลงนาม TPP ว่า ขั้นตอนหลังจากนี้ แต่ละประเทศต้องดำเนินการภายใน เพื่อขออนุมัติจากสภาของแต่ละประเทศก่อนที่จะมีผลบังคับใช้ ทำให้ยังคงต้องติดตามผลกระทบต่อการค้าโดยรวมและเศรษฐกิจโลกในระยะปานกลางและระยะยาวต่อไปอย่างใกล้ชิด

สำหรับประเด็นของประเทศเวียดนาม คาดว่าการเข้าร่วมในความตกลงดังกล่าว จะส่งผลให้ได้รับประโยชน์ในเรื่องการเพิ่มปริมาณการค้าการลงทุน เนื่องจากประเทศเวียดนามยังไม่มีข้อตกลงทางการค้าเสรี (เอฟทีเอ) กับกลุ่มประเทศ TPP มาก่อน ในขณะที่ประเทศไทยได้มีข้อตกลงเอฟทีเอกับกลุ่มประเทศ TPP อยู่แล้ว ยกเว้นประเทศสหรัฐอเมริกาและเม็กซิโก

อย่างไรก็ตาม การที่ประเทศไทยได้รับการผ่อนผันไม่ระงับสิทธิพิเศษทางภาษี (จีเอสพี) จากสหรัฐ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค. 2558 ถึงปี 2560 ทำให้ประเทศไทยยังสามารถใช้สิทธิยกเว้นภาษีนำเข้าจากสหรัฐฯ ในบางหมวดสินค้าได้ต่อไป

ทั้งนี้ ไทยจะต้องเร่งพัฒนาคุณภาพสินค้าและบริการ รวมทั้งการหาประโยชน์ในการเป็นห่วงโซ่การผลิตกับประเทศสมาชิก TPP เพื่อรองรับการแข่งขันที่จะเพิ่มขึ้นในระยะปานกลางต่อไป

 

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ก็ยอมรับว่า คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. มีความเป็นห่วงถึงการบรรลุข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ที่ครอบคลุมเศรษฐกิจทั่วโลกประมาณ 40% ซึ่งไทยเองยังไม่มีจุดยืนที่ชัดเจน ซึ่งหากมุ่งแก้ไขปัญหาในระยะสั้น อาจทำให้มีปัญหาในระยะยาวได้ ดังนั้นภาคเอกชนได้จัดตั้งคณะทำงานชุดใหญ่จากทั้ง 3 สถาบัน เพื่อดูแลศึกษาข้อมูลอย่างละเอียด ถึงการได้ประโยชน์และเสียประโยชน์ รวมถึงเรื่องข้อตกลงการค้าเสรีไทย - อียู (FTA) และประเทศอื่นๆ เช่น ปากีสถาน อิหร่าน ตุรกี ให้แล้วเสร็จภายในปีนี้ ก่อนที่จะนำเสนอให้รัฐบาลพิจารณา

ขณะที่มุมมองของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์อีไอซี เสนอว่า ไทยควรศึกษาเงื่อนไขของข้อตกลง TPP ให้รอบคอบก่อนเข้าร่วม เพราะข้อกำหนดของ TPP ที่ไม่อนุญาตให้สมาชิกใหม่เปลี่ยนแปลงข้อตกลงเดิมกับสมาชิกทั้ง 12 ประเทศ ทำให้ไทยต้องประเมินผลกระทบจากการเข้าร่วม TPP ให้รอบคอบ โดยในเบื้องต้นประเด็นที่ไทยจะเสียเปรียบ คือ สิทธิบัตรยาและทรัพย์สินทางปัญญา แต่หากไทยไม่เข้าร่วมก็อาจสูญเสียส่วนแบ่งตลาดส่งออกในกลุ่มประเทศ TPP เช่น ญี่ปุ่นที่จะทยอยเพิ่มโควตานำเข้าข้าวจากสหรัฐฯ และออสเตรเลีย

 

นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังได้รับการยกเว้นภาษีนำเข้าชิ้นส่วนรถยนต์จากสหรัฐฯ ซึ่งอาจทำให้ไทยในฐานะฐานการผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ของญี่ปุ่น มีความน่าสนใจน้อยลง นอกจากนี้ นักลงทุนยังอาจมองว่าเวียดนามและมาเลเซีย เป็นฐานการผลิตที่ได้เปรียบกว่าไทยในแง่ของการผลิตสินค้าเพื่อส่งไปขายยังประเทศต่างๆ ใน TPP

นอกจากนี้ ปัญหาการค้ามนุษย์ก็เป็นอุปสรรคใหญ่ของไทยในการเข้าร่วม TPP ประเด็นที่อาจทำให้ไทยไม่สามารถเข้าร่วม TPP ได้ง่ายนัก คือ ปัญหาการค้ามนุษย์ที่ล่าสุดไทยถูกจัดอันดับให้อยู่ใน Tier 3 โดยกฎหมายของสหรัฐฯ ห้ามไม่ให้รัฐบาลลงนามในข้อตกลงทางการค้ากับประเทศที่อยู่ในอันดับดังกล่าว ซึ่งหากไทยต้องการเข้าร่วม TPP จะต้องแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ให้ได้ โดยเฉพาะการละเมิดสิทธิแรงงานในการทำประมง



บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 ต.ค. 2558 เวลา : 22:54:08
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 6:53 pm