อุตสาหกรรมท่องเที่ยวความหวังเดียวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ที่จะเป็นเสาหลักในการกระตุ้นการเติบโต ขณะที่รัฐบาลก็ได้ผลักดันการท่องเที่ยวให้เป็นวาระแห่งชาติ และพยายามปรับปรุงหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อเอื้อต่อการเติบโตที่ยั่งยืนในอนาคต
พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมคณะกรรมการนโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ ที่ประชุมมีมติรับทราบการขับเคลื่อนการท่องเที่ยว โดยการกำหนดเขตพัฒนาการท่องเที่ยวในรูปแบบคลัสเตอร์เพิ่มเติมอีก 3 พื้นที่จากที่ได้กำหนดไปแล้ว 5 พื้นที่
ประกอบด้วย 1.เขตพัฒนาการท่องเที่ยวมรดกด้านวัฒนธรรม ครอบคลุม จ.สุโขทัย กำแพงเพชร พิษณุโลก และตาก 2.เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มน้ำโขง ครอบคลุมพื้นที่ จ.เลย หนองคาย มุกดาหาร และบึงกาฬ และ 3.เขตพัฒนาการท่องเที่ยววิถีชีวิตลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนกลาง ครอบคลุม จ.สิงห์บุรี อ่างทอง พระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี และนนทบุรี
ซึ่งข้อมูลเบื้องต้นจากการสำรวจพื้นที่และความคิดเห็นของประชาชนต่างก็สนับสนุนแนวคิดนี้ ดังนั้นหลังจากนี้จะเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบ และประกาศเป็นกฎหมายตามขั้นตอนต่อไป
ทั้งนี้ที่ประชุมฯ ยังเห็นชอบให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ไปศึกษาความเป็นไปได้และความเหมาะสมของการพัฒนากรุงเทพฯและปริมณฑล เป็นพื้นที่เขตพัฒนาการท่องเที่ยวพิเศษ เนื่องจากกรุงเทพฯและปริมณฑล มีสถานที่ท่องเที่ยวและเรื่องราวที่น่าสนใจ เช่น เรื่องวิถีชีวิต แม่น้ำเจ้าพระยา การท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม ซึ่งสามารถสร้างมูลค่าให้กับการท่องเที่ยวได้อย่างมากในอนาคต
นางกอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า เป้าหมายการท่องเที่ยวในปีนี้ คาดว่าจะเป็นไปตามเป้าที่วางไว้ หลังจากจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันจากปีก่อน 30% คาดว่านักท่องเที่ยวต่างชาติจะเดินทางมายังประเทศไทยทั้งสิ้น 28.7 ล้านคน สร้างรายได้จากการท่องเที่ยวเข้าประเทศไทยได้ 1.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นจากเป้าหมายเดิมที่วางไว้ 1.4 ล้านล้านบาท
และเมื่อรวมกับรายได้จากนักท่องเที่ยวไทยประมาณ 7 แสนล้านบาท จะทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่ 2.2 ล้านล้านบาท โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ มีรายได้จากการท่องเที่ยวแล้วกว่า 2.05 ล้านล้านบาท จากจำนวนนักท่องเที่ยว 22.13 ล้านคน โดยอันดับหนึ่งเป็นนักท่องเที่ยวจีน รองลงมาเป็นมาเลเซีย และญี่ปุ่น
ข่าวเด่น