แฟชั่น-เดินทาง-กินดื่ม-เที่ยว
โรงน้ำชา มิตรามิตร บรรจงเสิร์ฟจากความรัก


 


ย่านถนนพระอาทิตย์ ถือเป็นชุมชนเก่าแก่ของกรุงรัตนโกสินทร์อันสำคัญ นอกเหนือจากโบราณสถาน วัดวาอารามแล้ว ปัจจุบันยังประกอบด้วยอาคารเก่าแก่ที่มีร้านรวงซึ่งยังคงอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดั้งเดิมเอาไว้ แม้จะผ่องถ่ายจากรุ่นหนึ่งสู่รุ่นหนึ่งและอีกหลายรุ่นในกาลถัดมา 

ณ วันนี้ ถนนพระอาทิตย์ ได้รับการปรับปรุงภูมิทัศน์อย่างสวยงาม โดยเฉพาะป้อมพระสุเมรุซึ่งก่อสร้างตั้งแต่เมื่อครั้งรัชกาลที่ 1 มีพิพิธภัณฑ์บางลำพู แต่เดิมเป็นโรงพิมพ์เก่า อีกทั้งสวนสาธารณะยังกลายเป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจให้กับชาวชุมชนและนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศ  


ร้านโรงน้ำชา มิตรามิตร ร้านน้ำชาเล็กๆ ของอาคารทรงโบราณตรงข้ามพิพิธภัณฑ์บางลำพู แทรกความคลาสสิคอวดโฉมโชว์ไอเดียเมื่อราว 7 เดือนที่ผ่านมา ถือเป็นร้านน้ำชาน้องใหม่ โดยกลุ่มคนการละคร “คณะมายา” คนทำงานกลุ่มเอ็นจีโอ รับใช้สังคมมานานนับสิบปี 

แม้จะเป็นเพียงห้องแถวห้องเดียว แต่ด้วยการตกแต่งและความรักในการดื่มชา ทำให้สถานที่แห่งนี้ โชว์อัตลักษณ์ส่วนตัวได้อย่างชัดเจนตั้งแต่ประตูหน้าร้าน ป้ายชื่อร้าน การเสริฟชาและการตกแต่งภายใน


จุดเริ่มต้นของชีวิตเอ็นจีโอ  

ฉันและทีมงาน AC NEWS ได้พบกับ 2 หนุ่ม ในโรงน้ำชาแห่งนี้ เมื่อห้วงบ่ายของวันอากาศอบอ้าวกลางกรุงเทพฯ เมืองอมร  

คุณชัย - ชัยวัฒน์ โล่โชตินันท์ ศิษย์เก่าอักษรศาสตร์ การละคร จากจุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย และคุณนิว - นวฤทธิ์ ไมยฤทธิ์ จากรั้วศิลปากร เล่าให้ฟังถึงที่มาของโรงน้ำชาแห่งนี้ว่า “เริ่มจากเราทำงานเป็นหน่วยงานพัฒนาภาคเอกชนที่สถาบันศิลปวัฒนธรรมเพื่อการพัฒนา ส่วนใหญ่กลุ่มเป้าหมายเป็นพัฒนาเด็กและเยาวชน เป็นงานละครเวทีหรือละครเร่ งานอบรมครู เชิงครอบครัว หรืองานแนวสังคม การให้ความรู้เกี่ยวกับการพัฒนาเด็กและเยาวชน กิจกรรมต่างๆ รวมถึงงานในโครงการพระราชดำริฯ 

หลังจากจบอักษรจุฬา ศิลปะการละคร แม้งานสื่อสารจะสามารถทำได้ทั้งงานโฆษณา หรือวงการทีวี แต่เพราะความที่สนใจงานละครเป็นทุนเดิม และสนใจงานพัฒนา เพราะตั้งแต่สมัยเรียนปี 3 มีโอกาสได้รู้จักกับองค์กรแห่งนี้ ในช่วงมีการประกวดโครงการประกวดบทละครสิ่งแวดล้อมศึกษา ของทางคณะมายา มีการทำเวิร์คช็อป และนำเอาบทละครไปพัฒนาต่อ ทำให้รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่น่าสนใจ เลยมีความคิดที่จะเพิ่มเติมมากขึ้น 

รวมถึงได้รับการคัดเลือก เป็นผู้ชนะการประกวด young play write ก็เลยได้ทำงานร่วมกัน หลังจากเรียนจบก็เริ่มไปเป็นอาสาสมัครละครกับมายา ตั้งแต่วันนั้นก็สิบกว่าปีมาแล้ว”

จากเด็กหนุ่มที่ตกหลุมรักงานละคร ในรูปแบบของอาสาสมัคร เขาพัฒนาต่อไปจนกลายเป็นเจ้าหน้าที่โครงการต่างๆ ปัจจุบันมีเจ้าหน้าที่ประจำองค์กร 4 คน กระจายตามงานละครเวทีต่างๆ  

แต่เพราะงานด้านละครทางการศึกษา ไม่ได้มองเห็นจากสังคมภายนอกอย่างชัดเจน การทำงานหลายอย่างจึงเลือนหาย รวมถึงบุคลากรในวงการละครของกลุ่มคณะนิเทศน์ในยุคนั้น เมื่อเกษียณงานละครก็เริ่มหายไป 

ณชัย เล่าเพิ่มเติมว่า “งานละครทางการศึกษาจะไม่ได้มองเห็นชัดๆ เวลาทำงานจะจมหายไปในโรงเรียนนั้นๆ นิเทศยุคนั้น พอเกษียณงานก็หายไป แม้แต่ละครเวทีของมายาเอง ซึ่งในอดีต มายาบล็อก เคยนำเสนองานเรื่องแรก เรื่อง คุณหญิงพลาสติก เป็นละครโซโล่ เป็นที่ฮือฮาในแวดวงการละครมากมาย เพราะผู้ที่แสดงคือ ครูแอ๋ว อรชุมา อาจารย์จากคณะละคร ของอักษรศาสตร์ เป็นผู้แสดง อีกทั้งบทประพันธ์โดยนักเขียนเลื่องชื่อ คุณรงค์ วงษ์สวรรค์  

โด่งดังจนได้รับการเชื้อชวนให้ไปแสดงยังต่างประเทศ แต่ต้องปรับบทและผู้รับบทนำใหม่เป็น คุณอัษฎาวุธ เหลืองสุนทร เนื่องเพราะครูแอ๋ว ไม่สามารถเดินทางไปยังต่างประเทศได้ ตลอดสามปีในช่วงนั้นถูกเชิญไปแสดงยังต่างประเทศตลอด ที่สุดท้ายที่ภูมิใจมากคือ แสดงที่โรงละครในประเทศอังกฤษ ผมอยู่ในฐานะผู้ดูแลเรื่องคิวไฟ” 

ความสุขของชีวิตคือละคร

จากจุดเริ่มต้นจนปัจจุบันกว่า 15 ปีที่เขาอยู่กับคณะมายา ส่วนคุณนิว แม้จะเป็นน้องใหม่แต่ก็หลงใหลและทำงานร่วมกันมา 8 ปี แล้ว โดยเลือกทำงานตามที่ตนเองถนัด 

“ผมเคยร่วมแสดงละครด้วย แต่หลังจากนั้นรู้สึกว่าไม่ใช่แนวของเรา จึงรับหน้าที่ Production Manager และด้วยความที่เคยแสดงละครมาก่อนทำให้รู้ว่า ความสุขของผู้ทำละครเหล่านี้อยู่ที่ไหน การดูแลเอาใจใส่ การเข้าถึงความรู้สึกของน้องๆ นักแสดง บางครั้งแสดงถึง 100 กว่ารอบ ไปยัง 10 จังหวัดทั่วประเทศ 

ซึ่งวัตถุประสงค์ของงานละครก็เพื่อให้เด็กได้สัมผัสละครเวที ส่วนรายได้หลักจะมาจากแต่ละโครงการ ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ซึ่งค่าใช้จ่ายส่วนใหญ่เพื่อฝึกฝนนักแสดง พล็อพอุปกรณ์เสื้อผ้า ค่าอาหาร อย่างค่าแต่งหน้า และเสื้อผ้า ส่วนใหญ่ได้รับความเอื้อเฟื้อจากคนในวงการเดียวกันที่เข้ามาช่วยเหลือ โดยคิดค่าใช้จ่ายเพียงต้นทุนเท่านั้น ทุกคนมาด้วยใจ 

หากร่วมงานกับหน่วยงานที่มีงบน้อย แต่วัตถุประสงค์ที่ต้องการนำเสนอ ถ้าเราทำได้ก็จะทำให้ เช่น งานกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ให้จัดเวิร์คช็อป หรือ สสส. ต้องการนำเสนอ เด็กไทยรู้ทัน หมายถึงพยายามให้ความรู้กับเด็กว่า ควรจะบริโภคอะไร ทั้งน้ำอัดลม ขนมกรุบกริบ หรือกิจกรรมของกระทรวงศึกษาธิการ รายได้เฉลี่ยจึงดึงระหว่างโรงน้ำชาไปยังกิจกรรม กิจกรรมมายังโรงน้ำชาแห่งนี้ ”คุณชัย กล่าว 


ที่มาของโรงน้ำชา มิตรามิตร 

“อันนี้เป็นขนมเริ่มต้นครับ เฉาก๊วยลองชิมดู” 

คุณชัย เชื้อชวนให้ชิมขนมตรงหน้า หลังจากคุณนิวนำมาเสริฟ ก่อนจะเริ่มเล่าให้ฟังถึงที่มาของโรงน้ำชาสุดคลาสสิคแห่งนี้ว่า “ เริ่มมาจากความชอบและความสนใจในชาของรุ่นพี่ คุณสันติ จิตจินดา Artistic ขององค์กร  ผู้ก่อตั้งมายาและตอนนี้ก็กำลังทำละครเวทีอยู่  คุณสันติสนใจเรื่องชามาสิบกว่าปีแล้ว เริ่มจากชาฝรั่งของฝรั่งเศส ชาเนปาล หรือไม่ว่าจะไปที่ไหน จะไปลองชิมชาของประเทศนั้นๆ จนมาจบที่ชาจีน เมื่อสนใจก็เริ่มลงลึกศึกษาถึงที่มา รสชาติ และเรื่องราวต่างๆที่เกี่ยวกับชา  


เหมือนกับการกลับมาที่รากเหง้าเก่าของชาทั้งหมด เป็นจุดเริ่มต้นของชา ซึ่งชาจีนพัฒนาจนสามารถสู้กับชาฝรั่งได้ ตอนนี้ตีตลาดโลกแล้ว ชาแต่ละประเทศจะแตกต่างกันไปตามวัฒนธรรม

ชื่อโรงน้ำชา “มิตรามิตร” ทางคุณสันติได้ค้นคว้าแล้วว่า โรงน้ำชาก่อนที่จะถูกเรียกให้แสลงไปในความหมายที่ไม่ดีนั้น เดิมสมัยรัชกาล 6  โรงน้ำชาหมายถึง โรงน้ำชาจริงๆ ไม่ใช่อย่างที่เราเข้าใจกัน ส่วนคำว่า มิตรามิตร มาจากบทกวีของเจ้าพระยาธรรมศักดิ์มนตรี เป็นการนำเอามิตรกับอมิตรมาผสมกัน ซึ่งมีเสียงที่ไพเราะและความหมายคือ เราต้อนรับทั้งมิตรและอมิตร แต่ส่วนใหญ่คนจะเข้าใจผิดว่าหมายถึง มิตรกับมิตร”

ด้านการตกแต่งร้านที่ดูเรียบง่าย คลาสสิคในแบบจีนโบราณ ภายใต้ร่มเงาของอาคารสถาปัตยกรรมโบราณแห่งนี้ คุณชัย บอกว่า “ที่เลือกที่นี่เพราะเป็นศูนย์กลางของเมืองเก่า การตกแต่งก็ตกแต่งกันเอง หลายๆอย่างเป็นจังหวะที่ลงตัว อย่างตู้ที่ได้มาเมื่อนำมาตั้งภายในร้านก็ลงตัวพอดี 

ส่วนไม้ฝากั้นห้องเป็นของเก่า อาคารนี้เป็นอาคารโบราณทำเพื่อต่อกันเป็นสองห้อง สมัยก่อนตามประวัติที่นี่เป็นห้างฝรั่งที่ขายผ้าหรือขายสินค้าของฝรั่ง หลังจากนั้น 20-30 ปีต่อมาก็แบ่งซอยโดยการกั้นเป็นห้องด้วยไม้ อายุไม้อยู่ที่ราว  50 ปี โดยมีประตูเล็กๆ เปิดเชื่อมต่อถึงกัน อาคารนี้เป็นที่ทรัพย์สินทั้งหมด ก่อนหน้านี้เจ้าของเคยให้ร้านข้าวหน้าไก่ราชวงศ์เช่า หลังจากนั้นก็ปิดตาย เพราะเจ้าของมีสตางค์  เขาเป็นคนจิตใจดี ถ้าเข้ามาทำร้านพวกอบายมุขเขาไม่อนุญาต เคยมีคนเข้าไปติดต่อเพื่อเปิดผับบาร์แต่ไม่ได้รับอนุญาต”


“ชาจีนทั้งหมดของที่ร้าน มี 30 ชนิด ซึ่ง 28 ชนิดเป็นใบชา อีก 2 ชนิดเป็นการนำใบหรือพืชชนิดอื่นมาทำให้เหมือนชาแล้วชงเหมือนชา เวลาดื่มชามักเข้าใจว่าเป็นเครื่องดื่มที่ทำจากใบชาหมดทุกอย่างจริงๆ ไม่ใช่ ที่ร้านมีชาจริงๆ ที่มีชื่อของใบชา 28 ชนิด ส่วนชนิดที่ 29 -30 เป็นทีชาเน่ การนำพืชอื่นๆ มาทำ จะไม่มีคาเฟอีน”

อืมม.... สำหรับฉัน การเข้ามาดื่มชาจีนแห่งนี้ ความน่าสนใจไม่ใช่อยู่ที่รสชาติของชาจีนแต่ละชนิดเท่านั้น แต่หมายรวมถึงการใส่หัวใจเข้าไป การพิถีพิถันในอุณหภูมิน้ำร้อนสำหรับชงชา การพิถีพิถันในการตกแต่งขนมถ้วยน้อยตรงหน้าต่างหาก


ชักสนุกแล้วซี เหลียวซ้ายแลขวา เห็นตู้กระจกที่โชว์ชาจีนจากแหล่งต่างๆ เรียงรายเต็มตู้ แต่ละชนิดมีแพคเกจจิ้งที่สวยงาม น่าสนใจทีเดียว 

คุณชัย เล่าต่อว่า “หงยู่สื่อปา เป็นชาแดงไต้หวัน ชาแต่ละชนิด  มีความหลากหลายและแตกต่างกันมาก หนึ่งชื่อหนึ่งชนิดหนึ่งรสชาติ  อย่างชาดอกมะลิ ชาจีนที่ผสมดอกไม้มีอยู่ไม่กี่ชนิด ต่างจากชาฝรั่งส่วนใหญ่เป็นผง แล้วมาแต่งกลิ่นผสมดอกไม้ต่างๆ ภายหลัง แต่ชาจีนมาด้วยการผลิตจากการอบตั้งแต่เริ่มต้น  


การเสริฟชาของที่นี่ จะเริ่มเสริฟเฉาก๊วย ก่อน ( ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า หากเป็นต่างชาติอาจไม่รู้จักเฉาก๊วยจะถูกเปลี่ยนเป็นโยเกิร์ต เป็นต้น )  หลังจากนั้นจะตามด้วยชา 1 กา และขนมหวานทั้งแบบแห้งและแบบเปียก เสริฟเป็นชุด และจะแนะนำให้ดื่มจนหมดกา โดยไม่ต้องเหลือทิ้งเอาไว้ เนื่องจากเมื่อน้ำเย็นลง รสชาติจะเปลี่ยนไป แต่ทางร้านจะเติมน้ำร้อนให้ตลอดเวลาจนกว่าจะพอใจ  

ลูกค้าส่วนใหญ่จะเข้ามาในช่วงบ่าย จึงเสริฟเฉาก๊วยก่อน เพื่อให้อิ่มท้อง การดื่มชาท้องว่างจะทำให้ผู้ดื่มอึดอัดไม่ค่อยสบายท้อง ส่วนใหญ่จะเตรียมของไม่มาก เพียงแค่วันละสิบที่หมดแล้วหมดเลย  

ของแห้งกับของเปียก ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไป บางวันอาจะเป็นกล้วยเชื่อมกับขนมถ้วยใบเตย ส่วนใหญ่เป็นของอร่อยย่านบางลำพู เขตพระนคร นางเลิ้ง บ้านหม้อ หรือจากย่านที่ขึ้นชื่อเรื่องขนมอร่อย เช่น ขนมถ้วยที่ รพ.วิชัยยุทธ อันไหนใช้ได้ก็นำมาผสมกันเข้าไป 

แล้วนำมาจัดเรียงในภาชนะเล็กๆ ขนมพวกนี้ดูจุ๋มจิ๋มเล็กน้อย แต่คอนเซ็ปที่ซ่อนไว้คืออยากให้เห็นว่าเป็นสิ่งที่ง่ายๆ ไม่ว่าจะดื่มชาที่มุมไหนในบ้าน ก็สามารถทำเองได้ด้วยตัวเอง หรือถ้าต้องการดื่มชาที่หาไม่ได้ในที่อื่น ก็มาที่โรงน้ำชาแห่งนี้ 

นี่คือสิ่งที่ซ่อนอยู่ในใจว่า ดื่มชาจีน สนุกสนาน มีความสุข” 

จะเห็นได้ว่า ปัจจุบัน ร้านกาแฟในบ้านเรามีอยู่ดาษดื่น แต่ร้านชาแทบไม่มีให้เห็น ถือเป็นจุดหนึ่งของการตัดสินใจเปิดร้านชาเช่นกัน 

“ที่นี่เหมือนกับเป็นการแยกสำหรับลูกค้าที่ไม่อยากไปดื่มชาในร้านกาแฟ เพราะชาที่อยู่ในร้านกาแฟจะเหมือนกับชนกลุ่มน้อย เพราะฉะนั้นชาจะมีให้เลือกเพียง 3-4 ชนิดเท่านั้น หรือหากมีก็เป็นชาฝรั่งแทบทั้งสิ้น  

ซึ่งการดื่มชาต่างจากดื่มกาแฟ คาเฟอีนในชาจะไม่เหมือนกาแฟ ซึ่งคาเฟอีนในชาเมื่อเข้าสู่ร่างกายจะซึมไปช้าๆ ดื่มสบายๆ”


การทำตลาด

เมื่อถามถึงแนวทางในการทำตลาดร้านน้ำชาของ มิตรามิตรแห่งนี้ คุณชัย กล่าวยิ้มๆ ว่า “ทุกครั้งที่เราทำงาน จะไม่ค่อยดูตลาด จะทำแบบอยากทำ เหมือนละครเหมือนกัน รู้ว่าเจ็บตัวแต่ก็ยังทำ 

เจ็บตัวนิดหน่อย ไม่เป็นไร ที่นี่ปัจจุบันได้รับการพูดต่อกันแบบปากต่อปาก ส่วนใหญ่เป็นเพื่อนฝูงและเป็นที่นัดพบ เมื่อเปิดร้านจึงพบว่า เมืองไทยมีคอชาจริงๆ มากมาย ตอนนี้ลูกค้าที่เข้ามามีหลายกลุ่ม นักท่องเที่ยวต่างชาติยุโรป อเมริกา มาตั้งแต่เริ่มเปิดร้านใหม่ๆ ส่วนเกาหลี ญี่ปุ่น ก็เข้ามา เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เดินทางมาเที่ยวด้วยตัวเอง ส่วนจีนยังไม่ค่อยเดินเองหรือเที่ยวเอง ยังใหม่ในการเดินทางด้วยตัวเอง ต่างจากชาติอื่น” 


การเลือกวัตถุดิบ

เพราะสนใจในเรื่องการชิมชา ทำให้เมื่อใดมีงานแสดงชา เขาและเพื่อนร่วมงานจะตระเวนไปเฟ้นหาชาที่น่าสนใจกลับมา นั่นทำให้ มิตรามิตร ไม่เคยพลาดชาจีนรสชาติเยี่ยมและชาหายาก 

คุณชัย เล่าถึงการเลือกเฟ้นหาวัตถุดิบเพื่อนำมาจำหน่ายที่ร้านว่า “ชาเมืองจีนมีแบรนด์หลายแบรนด์ ของที่นี่ส่วนใหญ่ซื้อแบรนด์ทั้งหมด หมายความว่ามีบริษัทที่ใหญ่มาก ซึ่งจริงๆแล้วไปซื้อในตลาดก็มี แต่เราซื้อจนคุ้นเคยว่า ของในตลาดไม่ชัวร์ ทั้งราคาและคุณภาพ ประสบการณ์ทำให้รู้ว่าควรจะซื้ออย่างไร ที่ไหน ส่วนใหญ่จะได้จากงาน tea expo  

ชาแต่ละชนิดมีเรื่องของอุณหภูมิน้ำ ระยะเวลาในการแช่ จังหวะของการเสริฟ เช่น ชาหลงจิ่ง เป็นชาเขียวแบบเซี่ยงไฮ้ ต้องเตรียมอาหารใกล้เสร็จแล้วค่อยเอาใบชาใส่น้ำ ผู้ดื่มจะได้เห็น Dancing tea เป็น movement ของใบชา จากเหนือน้ำแล้วจะ Dancing ตกลงมาใต้น้ำ ให้ผู้ดื่มดูความสวยงามของใบชาก่อนดื่ม   

หรือมะลิมุก จะมัดชากันมาเป็นก้อนกลมเล็กๆ ทางร้านเสริฟให้ 13 เม็ดต่อ 1 กา รสชาติกำลังดี ราคาชาจะอยู่ที่ตัว ชาบางตัวเหมือนไวน์ ยิ่งเก่ายิ่งแพง เป็นยาอายุวัฒนะ ในเมืองไทยคนที่รู้เรื่องนี้มีมาก แต่ร้านที่เปิดชาจีนอย่างเดียวเท่าที่ทราบ มีที่เยาวราช โดยอาจารย์ท่านหนึ่ง” 


เพราะความเกรงอกเกรงใจนักศึกษาแพทย์ที่มานั่งจิบชาและอ่านหนังสือ ขยับตัวเอ่ยปากขอตัวกลับ เมื่อเห็นทีมงานของเราเริ่มต้นบันทึกภาพภายในร้าน 


คุณชัย เล่าต่อว่า “ลูกค้าส่วนใหญ่ มาแล้วจะชอบ เพราะการได้คุยได้แลกเปลี่ยนกัน  ดื่มชาธรรมดาแต่มีเรื่องราวเรื่องเล่าให้เขาฟัง 

ทำร้านนี้มีความสุขใจอย่างหนึ่งคือเด็กวัยรุ่นมาดื่มกัน หลายกลุ่มเข้ามาแล้วบอกว่า ไม่ไปกินเหล้าอีกแล้ว มาดื่มชาดีกว่า ส่วนใหญ่ที่ลูกค้าชอบคือ ร้านเงียบ นัดกับเพื่อนแล้วสามารถนั่งคุยกันได้เต็มที่ เขาจะบอกว่า ชาอร่อย มีเปียนโนให้นั่งเล่นกันได้

สุดท้ายทุกคนก็เป็นเพื่อนกัน ส่วนใหญ่ต่างชาติที่มานั่งที่นี่เท่าที่สังเกตคือจะเป็นสองวันสุดท้ายที่ไม่มีอะไรทำก็จะมานั่งคุยกัน มานั่งเช็คเมล เขียนไดอารี่ เตรียมตัวกลับบ้านเขา  

ที่นี่เคยมีกิจกรรมเหมือนกัน อย่างที่ผ่านมามีรุ่นน้องละครจัดงานแต่งอยู่แล้ว แต่ทีมเราไม่ได้ไป เขาเลยนัดกันมาที่นี่ประมาณสามสิบคน ก็มีละครและเปียนโน มีฉากกั้น เหมือนงานแต่งงาน เป็นอีเวนท์ที่น่ารักมากเพื่อนฝูงกันเอง


ตอนนี้ก็มีอาจารย์ท่านหนึ่งติดต่อมาเพื่อจะ เปิดตัวหนังสือ ก็คิดราคาแค่พื้นฐาน เท่ากับทั่วไป”  

หากคุณต้องการหลีกหนีความวุ่นวายกับสภาพสังคมเมือง โรงน้ำชา มิตรามิตร ถือเป็นหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก ไม่เพียงบรรยากาศของการชิมชา แต่ยังหมายถึงความผูกพัน ความรัก และหัวใจของคนรุ่นใหม่ ที่สานต่อเรื่องราว เรื่องเล่า ของชาด้วยความระลึกถึงรากเหง้าและตัวตนของตนเองอีกด้วย 

สำหรับท่านที่ต้องการมาที่ร้านแห่งนี้ สามารถจอดรถได้ที่ด้านหน้าร้านได้เลยหลัง 21.00 - 23.00 น. ส่วน 11.00 – 16. 00 น. หาที่จอดรถได้ริมถนนหรือปั๊มน้ำมันฝั่งตรงข้าม หรือ ที่จอดรถบางลำพูของกทม. หรือโทรสอบถามไปได้ที่ ร้านโรงน้ำชา มิตรามิตร เปิดทุกวันตั้งแต่เวลา  11.00 – 23 .00 น. โทร 02 126 6567

 

 


LastUpdate 24/10/2558 02:20:48 โดย : Admin
21-04-2025
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ April 21, 2025, 9:08 am