ในที่สุด ธนาคารกลางจีน (พีบีโอซี) ก็ได้ประกาศปรับลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยอัตราเงินฝากระยะเวลา 1 ปี ปรับลดลงจาก 1.75% เป็น 1.5% เช่นเดียวกับอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ระยะเวลา 1 ปี จาก 4.6% เหลือ 4.35% ตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.นี้เป็นต้นไป
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งที่ 6 นับตั้งแต่เดือนพ.ย.ที่ผ่านมา และเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่เดือนส.ค.ปีนี้ ในความพยายามกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้วยการลดต้นทุนการกู้ยืมของบริษัทต่างๆ
นอกจากนี้ ธนาคารกลางจีนยังได้ปรับลดสัดส่วนการกันสำรอง (RRR) ของธนาคารพาณิชย์ลง 0.5% โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 24 ต.ค.58 เช่นกัน รวมทั้งปรับลด RRR ของสถาบันการเงินที่สนับสนุนธุรกิจขนาดเล็กและขนาดย่อม รวมทั้งภาคการเกษตรลง 0.5% รวมถึงยังได้ยกเลิกเพดานอัตราดอกเบี้ยเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ และสหกรณ์ของสถาบันการเงินในพื้นที่ห่างไกล เพื่อปรับปรุงกลไกอัตราดอกเบี้ยที่อิงกับตลาด
การปรับลดอัตราดอกเบี้ยครั้งนี้ของจีน เป็นผลมาจากเศรษฐกิจจีนที่เติบโตต่ำสุดนับตั้งแต่วิกฤติการเงินโลกปี 52 ที่ระดับ 6.9% โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติของจีนรายงานว่าผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ไตรมาส 3 ขยายตัว 6.9% ซึ่งต่ำที่สุดในรอบ 6 ปีหรือตั้งแต่ไตรมาสแรกของปี 2552 ทั้งยังเป็นจีดีพีที่ต่ำกว่า 7% ครั้งแรกตั้งแต่วิกฤติการเงินโลก แต่จีดีพีไตรมาส 3 ยังสูงกว่าคาดการณ์ของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะโต 6.8%
นายเฉิน ไลหยุน โฆษกสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน กล่าวว่า การฟื้นตัวที่อ่อนแอของเศรษฐกิจโลก ประกอบกับการคาดหมายว่า สหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ย เป็นสาเหตุการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน รวมถึงศักยภาพการผลิตที่ล้นเกินของจีนเอง ในอุตสาหกรรมต่างๆ ตั้งแต่เหล็กกล้าไปจนถึงคอนกรีต
ขณะที่นักวิเคราะห์ระบุว่า จีดีพีไตรมาส 3 ที่ลดลง เป็นผลจากตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่เผชิญปัญหาและการส่งออกที่ซบเซา แม้ยอดขายปลีกเพิ่มขึ้นถึง 10.9% ก็ตาม ขณะที่การลงทุนในสินทรัพย์คงที่เพิ่มขึ้น 10.3% ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ ต่ำกว่าการคาดหมายของนักวิเคราะห์ที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 10.8% สำหรับการผลิตภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น 5.7% ในเดือนก.ย. ซึ่งต่ำกว่าตัวเลขของเดือนส.ค. ทั้งยังต่ำกว่าการคาดหมายว่าจะเพิ่มขึ้น 6%
ทั้งนี้ จีนได้ปรับลดดอกเบี้ยลงมาแล้ว 5 ครั้ง ตั้งแต่เดือนพ.ย. 2557 และลดสัดส่วนกันสำรองภาคธนาคารลง 3 ครั้งในปี 2558 นี้ เพื่อกระตุ้นให้เพิ่มการปล่อยกู้
ซึ่งนอกจากการปรับลดอัตราดอบเบี้ยลงแล้ว ธนาคารกลางจีนยังประกาศอัดฉีดเม็ดเงินมูลค่า 1.055 แสนล้านหยวน เข้าสู่ระบบการเงิน ผ่านโครงการเงินกู้ระยะกลาง (MLF) โดยธนาคารกลางจีนมีเป้าหมายที่จะรักษาสภาพคล่องในระบบการธนาคารให้อยู่ในระดับที่เพียงพอ และเพื่อตอบสนองความต้องการด้านเงินทุนของธนาคารพาณิชย์ อีกทั้งเป็นช่องทางให้ธนาคารพาณิชย์สามารถปล่อยเงินกู้ให้กับธุรกิจขนาดเล็กและภาคการเกษตรได้มากขึ้น
ข่าวเด่น