เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
สศค.ปรับลดจีดีพีไทยปี 58 เหลือ 2.8% จากเดิม 3% ส่วนปี 59 คาดโต 3.8% หลังรัฐฯเร่งลงทุน


สศค.ปรับลดประมาณการจีดีพีไทยปี 58 เหลือ 2.8% จากเดิม 3%  ส่วนปี 59 โต 3.8% จากรัฐฯ เร่งเบิกจ่ายลงทุน ด้านส่งออกปีนี้คาดติดลบ 5.8% จากเดิมติดลบ 4% ส่วนปี 59 โต 3.2%  ส่วนนำเข้าปีนี้ติดลบ 9.8% ปีหน้าโต  7.5%  ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปปี 58 คาดติดลบ 0.9% เงินเฟ้อพื้นฐาน 1% แต่ปี 59 เงินเฟ้อทั่วไปขยับขึ้นที่ 1.8% เงินเฟ้อพื้นฐาน 1% คาด กนง.- เฟด พร้อมใจขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า กนง.อาจขึ้น 0.25%  ขณะที่เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่ามาอยู่ที่ 36.5 บาท/ดอลลาร์ จากปีนี้ 34.15 บาท/ดอลลาร์
   

  

 

นางกุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายเศรษฐกิจมหภาค สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. เปิดเผยว่า สศค.ได้ปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทยปี 2558 ลงเหลือ 2.8% จากเดิม 3% โดยมีปัจจัยสนับสนุนหลักจาการลงทุนภาครัฐฯ ที่คาดว่าจะขยายตัวได้ต่อเนื่องจากครึ่งปีแรก จากการเร่งรัดการใช้จ่ายภาครัฐและการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น มาตรการส่งเสริมความเป็นอยู่ของผู้ที่มีรายได้น้อย มาตรการช่วยเหลือเกษตรกร และบรรเทาผลกระทบจากภัยแล้ง และมาตรการช่วยเหลือเอสเอ็มอี ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นและสนับสนุนให้เศรษฐกิจขยายตัวได้
  

นอกจากนี้ การขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวในเกณฑ์สูง คาดว่าจะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปีก่อนหน้า โดยได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันและเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งนโยบายการเงินที่ผ่อนคลายอย่างต่อเนื่อง
  

อย่างไรก็ตาม การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะประเทศคู่ค้าที่สำคัญ เช่น จีน จะส่งผลให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการปรับลดลงต่ำกว่าที่คาดการณ์ครั้งก่อน สำหรับการส่งออกปี 2558 คาดว่าจะติดลบ 5.4% และนำเข้าติดลบ 9.8% ด้านดุลการค้าคาดเกินดุล 32,000 ล้านดอลลาร์ และดุลบัญชีเดินสะพัดคาดเกินดุล 26,700 ล้านดอลลาร์
  

 

 

ด้านเศรษฐกิจไทยในปี 2559 คาดว่าจะมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 3.8% โดยได้รับแรงส่งจากการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าการบริโภคภาครัฐจะขยายตัวได้ 3% และการลงทุนภาครัฐจะขยายตัวได้ 8% เนื่องจากการใช้จ่ายของรัฐบาลกลางและการใช้จ่ายนอกงบประมาณจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะจากโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและโครงการลงทุนพัฒนาระบบน้ำและทางถนน ซึ่งคาดว่าโครงการสำคัญ เช่น โครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง และโครงการรถไฟรางคู่จะสามารถเดินหน้าลงทุนได้มากขึ้นในปี 2559 และจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ภาคธุรกิจและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการรัฐได้
  

นอกจากนี้ เศรษฐกิจประเทศคู่ค้าหลักที่เริ่มมีแนวโน้มขยายตัวดีขึ้น และค่าเงินบาทที่มีแนวโน้มอ่อนค่า โดยคาดว่าเงินบาทในปีหน้าจะอ่อนค่ามาอยู่ที่ 36.50 บาทต่อดอลลาร์ จากปีนี้ที่คาดว่าจะอ่อนค่าที่ 34.15 บาทต่อดอลลาร์ ซึ่งจะส่งผลดีต่อปริมาณคำสั่งซื้อสินค้า ประกอบกับด้านการส่งออกบริการยังคงมีแนวโน้มขยายตัวต่อเนื่องตามการขยายตัวในเกณฑ์สูงอย่างต่อเนื่องของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศที่เข้ามาท่องเที่ยวในไทย ซึ่งคาดว่าจะมีจำนวนนักท่องเที่ยวอยู่ที่ 34.2 ล้านคน
  

สำหรับการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวขึ้นอยู่ที่ 2.5% จากภาวะตลาดแรงงานที่อยู่ในเกณฑ์ดี ซึ่งจะส่งผลดีต่อรายได้ภาคครัวเรือนนอกภาคเกษตร ขณะที่ราคาน้ำมันที่ยังทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ รวมทั้งภาวะการเงินที่ยังผ่อนคลาย โดย สศค.ประเมินว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.จะเริ่มปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในปีหน้ามาอยู่ที่ 1.75% จากปัจจุบันอยู่ที่ 1.5% สอดคล้องกับการคาดการณ์ว่า ธนาคารกลางสหรัฐ หรือ เฟด จะทยอยปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในช่วงปีหน้าเช่นกัน
  

อย่างไรก็ตาม ปัญหาภัยแล้งจากปริมาณน้ำฝนที่น้อยกว่าปกติต่อเนื่องจากปีก่อน อาจทำให้ปริมาณน้ำไม่เพียงพอสำหรับการเพาะปลูกของเกษตรกรและกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร ส่งผลให้ครัวเรือนในภาคเกษตรกรรมเพิ่มความระมัดระวังการใช้จ่ายและกระทบต่อการบริโภคภาคเอกชน เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนคาดว่าจะกลับมาฟื้นตัวได้ชัดเจนขึ้น โดยจะขยายตัวได้ 6.1% จากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ แนวโน้มการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจภาพรวมและภาคการส่งออก รวมทั้งความจำเป็นในการลงทุนปรับโครงสร้างการผลิต เพื่อรองรับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
  

นางกุลยา กล่าวว่า สำหรับอัตราเงินเฟ้อในปี 59 คาดว่าจะอยู่ที่ 1.8% ปรับตัวขึ้นจากปีก่อนหน้า ตามแนวโน้มราคาน้ำมันในตลาดโลกที่มีทิศทางเพิ่มขึ้น เนื่องจากความต้องการใช้น้ำมันในตลาดโลก คาดว่าจะเพิ่มขึ้นตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก นอกจากนี้ทิศทางการอ่อนค่าของเงินบาทยังจะส่งผลกระทบทำให้ราคาสินค้านำเข้าบางประเภทอาจปรับเพิ่มขึ้นด้วย
  

นอกจากนี้ สศค.คาดว่าดุลบัญชีเดินสะพัดปี 59 จะเกินดุล 18,700 ล้านดอลลาร์ หรือคิดเป็น 4.8% ของจีดีพี เนื่องจากดุลการค้าคาดว่าจะเกินดุลลดลงมาอยู่ที่ 25,200 ล้านดอลลาร์ ตามมูลค่าสินค้านำเข้าที่คาดว่าจะขยายตัวได้ โดยมองว่ามูลค่าการนำเข้าในปี 59 จะอยู่ที่ 7.5% ขณะที่มูลค่าการส่งออกสินค้าคาดว่าจะอยู่ที่ 3.2%


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 28 ต.ค. 2558 เวลา : 18:52:29
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 6:49 pm