ถือเป็นธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีการขยายตัวอย่างต่อเนื่องสำหรับแบรนด์ "โอโตยะ" ล่าสุดได้ออกมาประกาศแผนเชิงรุก 5 ปี ด้วยการเทงบสูงถึง 1,000 ล้านบาท ขยายสาขาทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยในส่วนของตลาดในประเทศมีแผนที่จะขยายสาขาให้ครบ 100 สาขา ภายในปี 2563 จากปัจจุบันมีจำนวนสาขาเปิดให้บริการอยู่ที่ประมาณ 47สาขา ส่วนสาขาในต่างประเทศแม้ขณะนี้จะยังไม่ออกมาเปิดเผยอย่างชัดเจนว่าจะเปิดที่จำนวนเท่าไหร่ แต่จากแนวทางธุรกิจที่วางไว้ว่าจะเดินตามการขยายตัวของธุรกิจศูนย์การค้าและห้างสรรพสินค้าที่บริษัทในกลุ่มเซ็นทรัลเข้าไปขยายธุรกิจก็พอจะทำให้เห็นแนวทางแล้วว่า เบื้องต้นร้านโอโตยะ น่าจะมีจำนวนสาขาในตลาดต่างประเทศที่เท่าไร
สำหรับประเทศแรกที่บริษัท ซีอาร์จี อินเตอร์เนชั่นแนล ฟู้ดส์ จำกัด (CRGI) ผู้ดำเนินธุรกิจร้านโอโตยะ ออกมาประกาศว่ามีความเป็นไปได้มากสุดที่จะเข้าไปขยายธุรกิจร้านโอโตยะ คือ เวียดนาม เนื่องจากปัจจุบันบริษัทแม่ คือ กลุ่มเซ็นทรัล ได้ส่งห้างสรรพสินค้าโรบินส์ เข้าไปทดลองทำตลาดแล้วในช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งหลังจากเปิดให้บริการก็ได้ผลการตอบรับเป็นที่น่าพอใจ ส่วนประเทศต่อไปจะเป็นประเทศไหนนั้น ซีอาร์จีฯ ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ เนื่องจากต้องดูความเหมาะสมและศักยภาพของแต่ละประเทศ
นางอำไพพรรณ จิราธิวัฒน์ ประธานแบรนด์โอโตยะ บริษัท ซีอาร์จี อินเตอร์เนชั่นแนล ฟู้ดส์ จำกัด กล่าวว่า ในด้านของการทำตลาดต่างประเทศ ขณะนี้บริษัทได้รับสิทธิ์จากบริษัทแม่ของร้านโอโตยะในประเทศญี่ปุ่นเป็นที่เรียบร้อแล้วสำหรับขยายสาขาในภูมิภาคเอเชีย ซึ่งประเทศที่บริษัทให้ความสนใจที่จะเข้าไปทำตลาดเบื้องต้นมีอยู่ด้วยกัน 3 ประเทศ คือ เวียดนาม อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ส่วนประเทศที่คาดว่าจะเข้าไปทำตลาดเป็นประเทศแรก คือ เวียดนาม
นอกจากนี้ ซีอาร์จี ยังมีแผนที่จะเข้าไปขยายธุรกิจร้านโอโตยะ ในกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง หรือ ซีแอลเอ็มวี อื่นๆ ไม่ว่าจะเป็น ลาว พม่า หรือกัมพูชา โดยขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ เช่นเดียวกับแผนการนำร้านโอโตยะเข้าไปเปิดให้บริการในภูมิภาคยุโรป เนื่องจากบริษัทในเครือเซ็นทรัลมีธุรกิจห้างค้าปลีกเปิดให้บริการเป็นที่เรียบร้อยแล้วในขณะนี้ ส่วนจะเป็นประเทศเดนมาร์ก อิตาลี หรือเยอรมันคงต้องรอดูนโยบายของบริษัทแม่ ทั้งในส่วนของกลุ่มเซ็นทรัล และโฮโตยะ ว่าจะมีความพร้อมสำหรับการขยายสาขาช่วงช่างเวลาไหน อย่างไรก็ดี จากแนวทางการดำเนินธุรกิจดังกล่าว ซีอาร์จี มั่นใจว่า ในอีก 5 ปีนับจากนี้ จะเห็นร้านโอโตยะ ที่ ซีอาร์จี เป็นผู้บริหารธุรกิจอย่างแน่นอน
ด้านการขยายสาขาตลาดในประเทศปี 2559 ซีอาร์จี มีแผนที่จะเปิดร้านโอโตยะ สาขาใหม่เพิ่มขึ้นประมาณ 5 สาขา ขณะเดียวกันจะทำการปรับการปรับปรุงสาขาเก่าให้มีความสวยงามมากขึ้น ภายใต้ภาพลักษณ์ใหม่ที่จะเริ่มดำเนินการในปี 2559 ด้วยการปรับรูปแบบของร้าน และเมนูอาหารให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย ซึ่งจากแนวทางดังกล่าว ซีอาร์จี คาดว่าจะมีจำนวนสาขาในประเทศเปิดครบ 100 สาขา ภายในปี 2563 อย่างแน่นอน แบ่งเป็นสาขาในกรุงเทพฯ 65 สาขา และต่างจังหวัด 35 สาขา
ในส่วนของแนวทางการดำเนินธุรกิจช่วงไตรมาสสุดท้ายของปีนี้ ซีอาร์จี ได้ออกมาจัดแคมเปญใหญ่ ลุ้นทริปเที่ยวญี่ปุ่น มูลค่ารวมกว่า 1.5 ล้านบาท ร่วมกับบริษัท เซ็นทรัลพัฒนาจำกัด (มหาชน) หรือ CPN จัดแคมเปญ “โอโตยะ ฉลองเมนูใหม่ อิ่ม-หมี-ฟรี-มัน” ให้ลูกค้าที่มาใช้บริการ โอโตยะ ภายในศูนย์ซีพีเอ็นทั้ง 17 สาขา ได้มีโอกาสลุ้นทริปญี่ปุ่น ระหว่างวันที่ 28 ต.ค. - 27 ธ.ค.2558 ซึ่งนอกจากจะมีแคมเปญใหญ่ลุ้นทริปเที่ยวญี่ปุ่นแล้ว โอโตยะ ยังให้สิทธิ์ลุ้นรับคูปองส่วนลด และเมนูพิเศษเมื่อทานอาหารครบ 300 บาท เป็นต้นไป
นอกจากนี้ ซีอารจี ยังมีแผนที่จะนำอาหารเมนูใหม่ๆ ในกลุ่มอาหารกลางวันและอาหารว่างเข้ามาให้บริการเพิ่มเติมในร้านโอโตยะ โดยในส่วนของเมนูดังกล่าวจะมีราคาถูกกว่าเมนูทั่วไปที่จำหน่ายในร้านประมาณ 15-20% เพื่อขยายฐานกลุ่มลูกค้าเป้าหมายไปยังกลุ่มระดับกลาง จากเดิมจะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าระดับบนเป็นหลัก ซึ่งนอกจากจะมีเมนูดังกล่าว เพื่อขยายฐานลูกค้าระดับกลางแล้ว ในส่วนของกลุ่มลูกค้าที่อยู่ในต่างจังหวัด ซีอาร์จีก็ได้มีการเปิดตัวแวลูเมนูราคา 150 บาท เช่น เมนูไก่ และเมนูอูด้ง เพื่อตอบสนองกลุ่มลูกค้าในตลาดต่างจังหวัด ซึ่งขณะนี้กำลังซื้อยังอยู่ในภาวะชะลอตัวอีกด้วย
หลังจากออกมาเดินหน้าทำกิจกรรมส่งเสริมการขายอย่างต่อเนื่อง คาดว่าสิ้นปีร้านโอโตยะน่าจะมีอัตราการเติบโตตรงตามเป้าหมายที่วางไว้ประมาณ 10% หลังจากช่วง 9 เดือนที่ผ่านมา ภาพรวมรายได้มีอัตราการเติบโตเพียง 5% เท่านั้น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากปัจจัยลบทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้น ซึ่งเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าวถือว่าเป็นไปในทิศทางเดียวกับภาพรวมตลาดร้านอาหารญี่ปุ่นที่มีอัตรากาเรติบโตลดลงเหลือประมาณ 7-9% เท่านั้นจากปกติธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นจะมีอัตราการเติบโตเป็นตัวเลข 2 หลัก
นางอำไพพรรณ กล่าวว่า แม้ว่าภาพรวมเศรษฐกิจจะชะลอตัว แต่ภาพรวมธุรกิจอาหารญี่ปุ่นก็ยังถือว่ามีอัตราการเติบโตเป็นที่น่าพอใจ เนื่องจากอาหารญี่ปุ่นเป็นอาหารแนวรักษาสุขภาพ รับประทานได้บ่อยๆ ไม่เลี่ยน ไม่ทำให้อ้วน และแสดงถึงความมีไลฟ์สไตล์รสนิยมที่ดี จึงทำให้มีผู้ประกอบการรายใหม่เกิดขึ้นในธุรกิจเป็นจำนวนมาก และจากการแข่งขันที่รุนแรงมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ประกอบการในธุรกิจต้องเดินหน้าทำการตลาดในรูปแบบใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อกระตุ้นความสนใจของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย
จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้ผู้ประกอบการรายใหญ่ในธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นต้องออกมาให้ความสำคัญกับการทำตลาดผ่าน 4 องค์ประกอบหลัก คือ 1.Networking ขยายสาขาให้ครอบคลุมมากที่สุด (ในทำเลห้างสรรพสินค้า, คอมมูนิตี้มอลล์) เพื่อเพิ่มความสะดวกให้กับลูกค้า easy access ในการเข้าถึงร้านค้า 2.Product Varity ความหลากหลายให้กับสินค้า นำเสนอรูปแบบอาหารที่แปลกใหม่และสอดคล้องกับรูปแบบการรับประทานอาหารนอกบ้านของลูกค้ากลุ่มเป้าหมายอีกด้วย ไม่ว่าจะด้านรสชาติอาหาร ความแตกต่าง และความหลากหลายของอาหาร 3.Unique Selling Points จุดต่างของแบรนด์ ความโดดเด่น การตกแต่งร้าน และ 4. Value Added การให้บริการนอกเหนือความคาดหมาย หรือการจัดโปรโมชั่น การรับส่วนลด ล้วนเป็นปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจเลือกร้านอาหารไม่น้อยไปกว่าปัจจัยด้านราคาอย่างเดียว
นางอำไพพรรณ กล่าวอีกว่า ในส่วนของร้านโอโตยะ บริษัทยังคงเดินหน้าพัฒนาคุณภาพสินค้าและการบริการแบบ 360 องศา ด้วยการกำหนดกลยุทธ์โดยรับฟังความคิดเห็นมุมมองใหม่ๆ จากลูกค้ามากขึ้น เพราะบริษัทเชื่อว่าหากเรียนรู้ให้เร็ว และสามารถตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้อย่างตรงจุดก็จะสามารถนำเสนอสิ่งที่มีคุณค่าให้เข้าไปอยู่ในใจผู้บริโภคได้ตลอดกาล
ด้าน นายภวิชช์ อ่ำทิม ผู้อำนวยการอาวุโส แบรนด์ โอโตยะ บริษัท ซีอาร์จี อินเตอร์เนชั่นแนล ฟู้ดส์ จำกัด กล่าวว่า แนวทางการทำการตลาดของร้านโอโตยะในปี 2558-2559 บริษัทยังคงเน้นเมนูอาหารชุดสไตล์โฮมเมดที่หลากหลาย และกิจกรรมส่งเสริมการขายสร้าง Value Added ให้ลูกค้าโอโตยะอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแต่ละแคมเปญที่เปิดตัวออกมาทำการตลาด บริษัทจะใช้สื่อโฆษณา เพื่อสร้างการรับรู้ไปถึงผู้บริโภค โดยในปี 2558 นี้ บริษัทได้ใช้งบการตลาดไปประมาณ 60 ล้านบาท ส่วนในปี 2559-2560 จะใช้เพิ่มขึ้นประมาณ 20-25% เพื่อสื่อสารให้ครอบคลุม โดยผ่านสื่อ OHM (Out Of Home Media) ที่หลากหลาย ซึ่งเหมาะกับไลฟ์สไตล์กลุ่มลูกค้าโอโตยะที่เป็นวัยทำงาน On The Move ตลอดเวลา ทั้งในสื่อ TV วิทยุ บีทีเอส และบิลบอร์ดต่างๆ รวมถึงสื่อ Social Media และ Mobile Application ต่างๆ
แนวทางดังกล่าวถือเป็นหนึ่งในกลยุทธ์ ที่ ซีอาร์จี ต้องการให้ร้านโอโตยะเข้าถึงกลุ่มลูกค้านิวเจนเนอเรชั่น และวัยทำงาน ซึ่งเป็นฐานลูกค้าหลักสำหรับการสร้างรายได้ให้กับร้านโอโตยะ ซึ่งปัจจุบันร้านโอโตยะ สามารถสร้างรายได้ให้ ซีอาร์จี คิดเป็น 10% ของรายได้ทั้งหมด
ข่าวเด่น