การค้า-อุตสาหกรรม
ซีพีเอฟ โชว์ศักยภาพมาตรฐานอาหารยั่งยืนระดับสากล ตอกย้ำวิสัยทัศน์ครัวโลก


ซีพีเอฟ โชว์ศักยภาพมาตรฐานอาหารยั่งยืนระดับสากล นำหลักการประเมินวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ (Product Life Cycle Assessment) มาใช้เป็น   แนวทางการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์ ผ่าน “โครงการผลิตภัณฑ์ซีพีเอฟที่ยั่งยืน”(CPF’s Product Sustainability)   เพื่อลดผลกระทบทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมถึงการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ทั่วโลกให้ความสนใจ  พร้อมกำหนดให้ความยั่งยืนเป็นหนึ่งในกลยุทธ์การดำเนินธุรกิจ ภายใต้วิสัยทัศน์ “ครัวของโลก”

นางสาวกุหลาบ กิมศรี  รองกรรมการผู้จัดการ สำนักระบบมาตรฐานสากล บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า จากกระแสโลกปัจจุบันทำให้ทุกภาคส่วนหันมาตระหนักเรื่อง “ความยั่งยืน” ในฐานะผู้นำธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารของไทย จึงพัฒนาโครงการผลิตภัณฑ์ซีพีเอฟที่ยั่งยืน (CPF’s Product Sustainability) ตั้งแต่ปี 2555 ต่อเนื่องถึงปัจจุบัน สอดคล้องกับแนวทาง ‘การผลิตที่ยั่งยืนสู่การบริโภคที่ยั่งยืน’ (Sustainable Consumption and Production : SCP) ขององค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Environment Programme : UNEP) ครอบคลุมทุกมิติตลอดห่วงโซ่อุปทานสีเขียว

ผลิตภัณฑ์ซีพีเอฟที่ยั่งยืน ได้ออกแบบและพัฒนาด้วยหลักการ การใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด (Resource efficiency) ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่การผลิตวัตถุดิบอาหารสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ การผลิตอาหาร ไปจนถึงการขนส่ง ช่องทางการจัดจำหน่าย และส่งมอบผลิตภัณฑ์สู่มือผู้บริโภค โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคเป็นลำดับแรก ด้วยหวังสร้างผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนให้แก่ สังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ ซึ่งพัฒนาต่อยอดมาจากโครงการลดก๊าซเรือนกระจกต่าง ๆ ทำให้ซีพีเอฟได้รับการได้รับการรับรองจากองค์กรชั้นนำระดับโลก  DNV-GL ที่รับรองให้ "ไก่สด” และ “ไก่ปรุงสุก" ของ  ซีพีเอฟเป็น “ผลิตภัณฑ์ไก่ยั่งยืนรายแรกของโลก” ซึ่งตอนนี้มีจำนวนผลิตภัณฑ์ยั่งยืนครอบคลุมกว่า 700 รายการ ส่งขายทั่วทวีปยุโรป มีพิธีรับมอบไป เมื่อวันที่ 14 ตุลาคม 2558 ณ งานมหกรรมอาหารโลก 2558 ประเทศเยอรมัน (ANUGA Food Fair 2015)

ซีพีเอฟใช้แนวคิดใหม่ เรียกว่า cradle to cradle คือ การนำของเสียกลับมาใช้ใหม่ เพื่อลดผลกระทบในทุกมิติ ผ่านการดำเนินโครงการต่าง ๆ อาทิ การนำน้ำมันพืชใช้แล้วมาผลิตเป็นน้ำมันไบโอดีเซลแล้วนำไปใช้กับกิจกรรมภายในโรงงาน, การนำก๊าซชีวภาพหรือไบโอแก๊สจากกระบวนการบำบัดน้ำเสียมาใช้เป็นเชื้อเพลิงทดแทนการใช้น้ำมันเตาในการต้มไอน้ำเพื่อผลิตสินค้า ส่งผลให้สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีประสิทธิภาพ และลดผลกระทบด้านอื่น ๆ อาทิ ลดการใช้การใช้ทรัพยากร ลดการใช้พลังงาน ลดผลกระทบสารพิษสู่ชุมชน นับเป็นเส้นทางสำคัญที่นำไปสู่การสร้างความยั่งยืน

 "การสร้างความยั่งยืนผ่านการลดผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จะเกิดผลสำเร็จได้ต้องอาศัยความร่วมมือและร่วมใจจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้บริโภค มีส่วนสำคัญในการสร้างเส้นทางที่ยั่งยืน หากตัดสินใจเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนในการร่วมรักษ์โลกใบนี้ หากทุกคนให้ความร่วมมือร่วมใจร่วมใช้ผลิตภัณฑ์ที่ยั่งยืนเพื่อการบริโภคที่ยั่งยืน ซีพีเอฟมั่นใจว่าปัญหาการขาดแคลนอาหาร และความเสื่อมโทรมของทรัพยากรในอนาคตจะลดลงได้อย่างแน่นอน" นางสาวกุหลาบกล่าว

ซีพีเอฟ ถือเป็นต้นแบบการดำเนินธุรกิจภายใต้ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและสังคมอย่างต่อเนื่อง และยังคงไม่หยุดนิ่งในการผลักดันโครงการ “ผลิตภัณฑ์ซีพีเอฟที่ยั่งยืน” เพื่อพัฒนาการเกษตรและอุตสาหกรรมอาหารไทยไปสู่มาตรฐานโลก เชื่อมโยงไปสู่เป้าหมายที่สำคัญของการพัฒนาที่สมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นการพัฒนาที่ยั่งยืนใน 3 มิติที่เอื้อต่อกันและแบ่งแยกไม่ได้


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 04 พ.ย. 2558 เวลา : 12:22:03
05-12-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ December 5, 2024, 9:32 am