เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ผลเลือกตั้ง "เมียนมา" ไม่กระทบนักลงทุนไทย


 

 

 

ค่อนข้างแน่ชัดว่า พรรคสันนิบาต NLD ของ "นางออง ซาน ซูจี" จะได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งครั้งนี้ จากคะแนนของประชาชนที่เทคะแนนให้ ซึ่ง นายจอห์น แคร์รี รัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐ ได้แสดงความเห็นต่อการเลือกตั้งครั้งนี้ว่า การที่ประชาชนจำนวนมากไปใช้สิทธิในการเลือกตั้งของเมียนมา เป็นเครื่องแสดงความกล้าหาญและการเสียสละของชาวเมียนมา และนับเป็นก้าวสำคัญในการเดินไปข้างหน้า แต่ยังไม่สมบูรณ์แบบ เพราะยังมีอุปสรรคสำคัญสำหรับการมีรัฐบาลที่เป็นประชาธิปไตยเต็มรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสงวนที่นั่งในสภาให้กองทัพ การที่ชนกลุ่มน้อยอย่างโรฮิงญาไม่ได้รับสิทธิออกเสียง และการตัดสิทธิผู้สมัครบางคนตามอำเภอใจ

 

ด้านการลงทุนในเมียนมา นายปณิธาน ปวโรฬารวิทยา ประธานสภาธุรกิจไทย-พม่า สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) มองว่า หลังการเลือกตั้งและได้รัฐบาลใหม่เข้ามาบริหารประเทศ คาดว่า นโยบายการปฏิรูปเศรษฐกิจที่รัฐบาลเดิมเดินหน้าไว้จะยังคงสานต่อในส่วนที่ดี เพราะโดยพื้นฐานแล้ว เมียนมาต้องการเร่งการพัฒนาเศรษฐกิจ ซึ่งได้ศึกษารูปแบบการพัฒนาจากนานาประเทศมายาวนาน

ดังนั้นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในเร็วๆ นี้คือ เมียนมาจะเร่งปฏิรูป เศรษฐกิจใน 3 ด้าน คือ 1.พัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน ตั้งแต่ ถนนหนทาง การขนส่ง พลังงาน การสื่อสาร 2.การปฏิรูปด้านการเงิน หลังประชาชนใช้เงินนอกระบบไม่ผ่านระบบธนาคารมานาน และ 3. เริ่มพัฒนาอุตสาหกรรมการผลิตเพื่อทดแทนนำเข้ามากขึ้น เพื่อทำให้เกิดการจ้างงานในประเทศ

ขณะที่ นายไพบูลย์ พลสุวรรณา ที่ปรึกษาสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย บอกว่า ในมุมของผู้ประกอบการหรือผู้ค้าในเมียนมา ยังคงให้ความมั่นใจในกลุ่มรัฐบาลทหารมากกว่า เนื่องจากพรรค NLD อาจไม่มีความเชี่ยวชาญในการบริหารประเทศ ท่ามกลางช่วงที่เศรษฐกิจเมียนมากำลังขยายตัวต่อเนื่องในช่วง 2 - 3 ปีนี้ ขณะที่ผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับประเทศไทย คงเป็นเรื่องของแรงงานย้ายกลับประเทศ ซึ่งประเทศไทยกำลังประสบปัญหาขาดแคลน ส่วนด้านการค้าคงไม่มีผล โดยปัจจุบันพบว่ามีอัตราการขยายตัวต่อเนื่อง ทั้ง SMEs สินค้าโอทอป

 

ส่วน นายกอบศักดิ์ ภูตระกูล ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ กล่าวถึงผลการเลือกตั้งในเมียนมาว่า ระบบเศรษฐกิจเสรีที่รัฐบาลก่อนของเมียนมานำมาใช้ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา เป็นระบบที่คนนิยม และนำมาสู่ความรุ่งเรืองเศรษฐกิจและลืมตาอ้าปาก จึงเชื่อว่ายากที่ระบบเศรษฐกิจเสรีจะหายไป

สำหรับผลที่มีต่อเศรษฐกิจไทยนั้น หากทั้งสองฝ่ายตกลงกันได้ การลงทุนในเมียนมาจะดีขึ้น และจะเชื่อมโยงมาถึงเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะการส่งออกสินค้า อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเศรษฐกิจไทยได้ก้าวนำเมียนมาในเรื่องค่าจ้างแรงงานมามากแล้ว

และในอนาคตอาจเห็นการย้ายฐานอุตสาหกรรมบางอย่างของไทย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมเบา ที่มีการใช้แรงงานจำนวนมาก ดังนั้นหากสถานการณ์ในเมียนมาสงบ และมีระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง จะส่งผลดีกับซัพพลายเชนของไทย


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 10 พ.ย. 2558 เวลา : 16:34:49
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 8:44 pm