แบงก์กรุงไทยเดินหน้าเต็มสูบ สั่งแม่ทัพทุกสายงานลุยเต็มเหนี่ยว ทั้งสินเชื่อเอสเอ็มอีสนองนโยบายรัฐ จัดตั้ง "ศูนย์ธุรกิจเอสเอ็มอี" เพิ่ม 3 แห่ง จับมือพันธมิตรจัดตั้ง "กองทุนหนุนเอสเอ็มอีกลุ่มสตาร์ทอัพ" วงเงิน 2 พันล้าน ร่วมลงทุนกับเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพแต่ขาดเงินทุน เพิ่มเจ้าหน้าที่ RM ครบ 84 เขต รุก "เวลธ์ แมเนจเมนท์" จับกลุ่มไฮโซขายผลิตภัณฑ์ตอบโจทย์ เดินหน้าลุยระบบ "ดิจิตอลแบงก์กิ้ง" ตามเทรนด์คนรุ่นใหม่ เปลี่ยนพฤติกรรมใช้ระบบออนไลน์ เลิกไปสาขา พร้อมสั่งหยุดเพิ่มสาขา-พนักงาน หันเน้นพัฒนาคุณภาพ นำเสนอผลิตภัณฑ์การเงินครบมิติ ปั๊มรายได้ค่าธรรมเนียมโต 15%
นายอุดมศักดิ์ โรจน์วิบูลย์ชัย รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงาน สายงานธุรกิจขนาดกลาง ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า แผนธุรกิจในปีหน้าธนาคารกรุงไทยจะให้ความสำคัญกับการรุกธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับแนวนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการสนับสนุนและช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่ธนาคารกรุงไทยจะเข้าไปรุกตลาด ได้แก่ เอสเอ็มอีขนาดกลางที่มียอดขายต่อปีประมาณ 100-500 ล้านบาท และวงเงินสินเชื่อตั้งแต่ 20-100 ล้านบาท ในหมวดธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง,วัสดุก่อสร้าง,โลจิสติกส์,อาหาร,พลังงานทางเลือก,โรงพยาบาลเอกชน และธุรกิจยา
“ธนาคารตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อเอสเอ็มอีในปีหน้าไว้ที่ 9% หรือมียอดสินเชื่อเพิ่มขึ้น 45,000 ล้านบาท โดยจบสิ้นปี 2559 ตัวลขพอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีน่าจะอยู่ที่ประมาณ 500,000 ล้านบาท จากปัจจุบันมีพอร์ตอยู่ที่ 420,000 ล้านบาท และมีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ หรือเอ็นพีแอล ต่ำกว่า 1% ของพอร์ตสินเชื่อ ซึ่งสิ้นปีนี้พอร์ตสินเชื่อเอสเอ็มอีน่าจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 450,000 ล้านบาท หรือเติบโต 6-7%”นายอุดมศักดิ์กล่าว
นายอุดมศักดิ์กล่าวว่า การที่ธนาคารมีเอ็นพีแอลในกลุ่มลูกหนี้เอสเอ็มอี ไม่ถึง 1% ซึ่งถือว่าเป็นตัวเลขที่ทำได้ดี เนื่องจากธนาคารมีระบบข้อมูลที่ดีที่คอยติดตามดูแลลูกค้าอย่างใกล้ชิด หากลูกค้ารายใดเริ่มมีปัญหาในการผ่อนชำระหนี้ ธนาคารจะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปดูแลทันที พร้อมแก้ไขปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งจะดูเป็นกรณีๆ ไป เนื่องจากลูกค้าแต่ละรายมีปัญหาไม่เหมือนกัน
สำหรับกลยุทธ์ที่จะเดินไปเพื่อให้เป็นไปตามเป้าหมายและตามแผนที่วางไว้ นายอุดมศักดิ์กล่าวว่า จะต้องดำเนินกลยุทธ์หลายๆ ประการควบคู่กันไป ทั้งเรื่องการจัดตั้งศูนยธุรกิจเอสเอ็มอีแห่งใหม่ เพื่อให้การบริการครอบคลุมและทั่วถึง โดยมีแผนจะเปิดศูนย์ธุรกิจเอสเอ็มอีใหม่ 3 แห่ง ที่ อำเภอแม่สอด จ.ตาก และที่ จ.กาญจนบุรี และ จ.หนองคาย เพื่อสนับสนุนเอสเอ็มอีที่เข้าไปลงทุนตั้งโรงงานในเขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งปัจจุบันมีศูนย์ธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดกลางทั่วประเทศอยู่ 70 แห่ง และศูนย์ธุรกิจเอสเอ็มอีขนาดใหญ่ อีก 65 แห่ง
นอกจากนี้ ในปีหน้าธนาคารจะออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินมาช่วยลูกค้าเอสเอ็มอีอย่างต่อเนื่อง ทั้งกลุ่มที่เพิ่งเริ่มต้นทำธุรกิจ และกลุ่มที่ขาดสภาพคล่องและต้องการเงินทุนหมุนเวียน พร้อมกับปรับกระบวนการอนุมัติสินเชื่อให้เร็วขึ้น ไม่เกิน 10 วันทำการ จากปัจจุบัน 15-20 วันทำการ
นอกจากนี้ ธนาคารมีแผนจัดตั้ง “กองทุนสนับสนุนเอสเอ็มอีกลุ่มสตาร์ทอัพ” วงเงิน 2,000 ล้านบาท เพื่อไปร่วมลงทุนในกิจการของเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพแต่ขาดเงินทุน โดยจะร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจาใกล้แล้วเสร็จ คาดว่าไม่น่าเกินสิ้นเดือนนี้จะสามารถเปิดเผยรายชื่อพันธมิตรได้ และจัดตั้งกองทุนได้ประมาณเดือนธ.ค.2558 หรืออย่างช้าต้นปี 2559
“ธุรกิจที่กองทุนสนใจจะเข้าร่วมลงทุน จะเป็นกลุ่มที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเทคโนโลยีที่เป็นเจ้าของสิทธิบัตร อาทิ เทคโนโลยีทางการแพทย์ ,เทคโนโลยีทางการเกษตร และเทคโนโลยีอาหาร”นายอุดมศักดิ์กล่าว
ด้าน นายธัญญพงศ์ ธรรมาวรานุคุปต์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธุรกิจรายย่อยและเครือข่าย บมจ.ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า แผนธุรกิจรายย่อยในปีหน้าจะเข้าสู่ระยะที่สอง ภายใต้ยุทธศาสตร์ทรี-ซัมมิต ซึ่งการดำเนินการจะต่อเนื่องจากแผนระยะแรกในด้านการพัฒนาระบบฐานข้อมูล,ระบบการติดตามหนี้,การเร่งเพิ่มรายได้ค่าธรรมเนียม,การออกผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ ที่ตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ซึ่งทิศทางธุรกิจระยะต่อไป กลุ่มคนรุ่นใหม่จะมีอิทธิพลมากต่อการออกผลิตภัณฑ์ ทำให้ธนาคารต้องเร่งพัฒนาระบบ “ดิจิตอล แบงก์กิ้ง” เพื่อให้ก้าวล้ำกับเทรนด์ยุคใหม่
ปัจจุบัน ระบบดิจิตอลแบงก์กิ้งมาแรง จากพฤติกรรมลูกค้าที่เปลี่ยนไปมาก หันมาใช้บริการระบบออนไลน์มากขึ้น ลดการใช้เงินสดหันมาใช้ระบบอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ทำให้จำนวนการเปิดบัญชีใหม่ผ่านบริการนี้เติบโตขึ้นถึง 40% โดยลูกค้ากลุ่มคนรุ่นใหม่จะศึกษาข้อมูลที่ต้องการเอง และตัดสินใจซื้อผลิตภัณฑ์ทางการเงินเอง ฉะนั้นในอีก 2-5 ปีนี้ ผู้ใช้บริการทางการเงินจะเดินเข้าสาขาธนาคารน้อยลงหันมาใช้อิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น ทำให้ตั้งแต่ปีหน้าธนาคารจะไม่เพิ่มจำนวนสาขาและไม่เพิ่มพนักงาน (ปัจจุบันมีสาขาทั่วประเทศ 2 หมื่นสาขา มีพนักงานรวม 2.4 หมื่นคน ) แต่จะมุ่งปรับปรุงพัฒนาคุณภาพของพนักงานให้ดียิ่งขึ้น ผ่านการให้บริการ อินเทอร์เน็ต แบงก์กิ้ง หรือ อีแบงก์กิ้ง ซึ่งเป็นแนวโน้มธุรกิจในอนาคต
นอกจากนี้ ในปีหน้าจะให้ความสำคัญกับการบริหารความมั่งคั่ง หรือ เวลธ์ แมเนจเมนท์ (กรุงไทยธนบดี) แม้ธนาคารกรุงไทยจะเริ่มช้าไปบ้าง แต่ธนาคารก็มีจุดแข็งในด้านฐานลูกค้าที่มีมาก ซึ่งการรุกธุรกิจนี้จะอยู่ภายใต้แนวคิด “เวลธ์ ฮับ” หรือ ศูนย์กลางบริหารความมั่งคั่ง ซึ่งปัจจุบันธนาคารดูแลพอร์ตให้กับลูกค้ารวมเงินฝากประจำ 8 แสนล้านบาท โดยจะมีการพัฒนาพนักงานสาขาต่างๆ ให้คำแนะนำลูกค้าได้ดีขึ้น เพื่อเสนอการลงทุนที่ตอบโจทย์ความต้องการลูกค้าและการบริการที่ดีขึ้น ที่ผ่านมาธนาคารได้เปิดเลานจ์บริการลูกค้าธนบดีในบางสาขาไปบ้างแล้ว ซึ่งได้รับการตอบรับดี
“เพื่อให้การบริการด้าน เวลธ์ แมเนจเม้นท์ ดีขึ้น ธนาคารได้จัดตั้งทีมแนะนำผลิตภัณฑ์ทางการเงินลูกค้าบุคคลธนกิจ (Preferred RM) ประจำ 84 สาขา เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินและสิทธิประโยชน์ต่างๆ ที่ดียิ่งขึ้นและตอบโจทย์ตรงกับความต้องการของลูกค้าในกลุ่มธนบดี”นายธัญญพงศ์กล่าว
นายธัญญพงศ์กล่าวต่อว่า ธนาคารจะเร่งหารายได้จากค่าธรรมเนียมเพิ่มขึ้น เพราะเป็นตัวที่ทำให้รายได้เข้าธนาคารมากขึ้น โดยปีนี้รายได้จากค่าธรรมเนียมเติบโตถึง 15% แต่ปีหน้าตั้งเป้าไว้ที่ 12% เช่นเดียวกับรายได้ที่ไม่ใช่ค่าธรรมเนียมตั้งเป้าไว้ที่ 12% ส่วนสินเชื่อรายย่อยปีหน้าตั้งเป้าเติบโตที่ 4-5% จากปีนี้เติบโต 7-8%
“ธนาคารมองว่าท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันที่ยังไม่เอื้ออำนวยมากนัก การปล่อยสินเชื่อยังคงต้องมีความระมัดระวังมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง พร้อมกับจะต้องดูแลลูกหนี้ที่ส่อเค้าเริ่มจะมีปัญหาอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เป็นหนี้เอ็นพีแอล ผมยอมรับว่าปีนี้เป็นปีหนึ่งที่ยากสำหรับธนาคารและสายงานรายย่อยจากภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ดีและเริ่มมีหนี้เอ็นพีแอลเพิ่มขึ้นในช่วงสามไตรมาสที่ผ่านมา ในกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอีที่โดนหนักสุด โดยเฉพาะเอสเอ็มอีรายเล็กในภาคการเกษตรและที่อยู่อาศัยในต่างจังหวัด ที่รายได้ลดลง 20-50% คาดไตรมาสสี่ปีนี้เอ็นพีแอลยังคงเพิ่มขึ้นแต่ในอัตราที่ชะลอลง”นายธัญญพงศ์กล่าว
นายทรงพล ชีวะปัญญาโรจน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารจัดการทางการเงินเพื่อธุรกิจ บมจ.ธนาคารกรุงไทย กล่าวว่า ปีหน้าธนาคารจะออกผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ มากขึ้น เพื่อมุ่งตอบสนองความต้องการของลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย และพัฒนาเทรนด์ผลิตภัณฑ์ทางการเงินด้านอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งมั่นใจตามแผน 2 ระยะ 3 ปีจะมีผลิตภัณฑ์ทางการเงินครบ และทำให้ธนาคารมีรายได้ค่าธรรมเนียมเพิ่มไม่ต่ำกว่า 15%
“ปีหน้าคงจะต้องทำงานหนักมากขึ้น การนำเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงิน อาจจะต้องเปลี่ยนยุทธวิธีในการนำเสนอให้ครบมิติขึ้น เพื่อให้รายได้ผลิตภัณฑ์ทางการเงินทุกประเภทมีส่วนแบ่งการตลาด 20% ภายในปี 2561”นายทรงพลกล่าว
ข่าวเด่น