ไอที
ประวัติศาสตร์ "ประมูล 4 จี คลื่น 1800 MHz" สู้เดือด


การแข่งขันประมูลใบอนุญาต 4จี คลื่นความถี่ 1800 MHz เป็นไปอย่างดุเดือดข้ามวันข้ามคืนตั้งแต่เวลา 10.00 น.ของวันที่ 11 พ.ย. 58 ส่งผลให้มูลค่าใบอนุญาตปรับตัวสูงขึ้นกว่า 100%

 

 

แต่ในที่สุด พ.อ.เศรษฐพงค์ มะลิสุวรรณ ประธานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) แถลงว่า ผู้ที่ชนะการประมูลเมื่อช่วงค่ำของวันที่ 12 พ.ย.58 โดยชุดคลื่นความถี่ชุดที่ 1 คือ บริษัท ทรูมูฟ เอช ยูนิเวอร์แซล คอมมิวนิเคชั่น จำกัด มูลค่าที่เสนอสุดท้ายคือ 39,792 ล้านบาท และผู้ที่ชนะการประมูลคลื่นความถี่ชุดที่ 2 คือบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ราคาเสนอประมูลสุดท้ายคือ 40,986 ล้านบาท

ส่วนผู้ที่ไม่ชนะการประมูล 2 รายคือ บริษัท แจส โมบายล์ บรอดแบรนด์ จำกัด เสนอราคาประมูลสุดท้ายชุดที่ 1 ที่ราคา 38,996 ล้านบาท และบริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด เสนอราคาประมูลสุดท้ายในชุดที่ 1 ที่ราคา 17,504 ล้านบาท

 

นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช.กล่าวว่า กสทช.จะนำเสนอผลการประมูลเข้าสู่การพิจารณาของ กทค.ได้ในวันที่ 17 พ.ย. จากนั้นผู้ชนะการประมูลจะต้องมาเงินมาชำระ 50% ของมูลค่าเสนอประมูลภายใน 90 วันหลังจากได้รับหนังสือแจ้งผลการประมูล เพื่อรับใบอนุญาตที่จะมีผลในทันที และมีอายุยาว 18 ปี

 

ส่วนผู้ที่ชนะการประมูล นายสมประสงค์ บุญยะชัย รองประธานกรรมการ บริษัทแอดวานซ์ อินโฟ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส เปิดเผยภายหลังชนะการประมูล ว่า ดีใจกับผลการประมูล พอใจที่มีโอกาสได้มีส่วนขับเคลื่อนอุตสาหกรรมโทรคมนาคม สำหรับราคาที่บริษัทชนะประมูลใบอนุญาตที่ 2 ที่ได้เป็นผู้เสนอราคาสูงสุดที่ 40,986 ล้านบาทนั้น ถือว่าอยู่ในช่วงที่กำหนดไว้ และบริษัทรับได้ในราคาดังกล่าว

 

ด้าน นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทรูคอร์เปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผู้เข้าประมูลมีสปีริตสูงทุกราย การแข่งขันครั้งนี้ถือเป็นการแข่งขันกันหนักพอสมควร แต่ก็ดีใจและพอใจกับผลที่ได้ โดยราคาที่ประมูลได้ เป็นราคาที่รับได้ แม้จะเป็นราคาที่สูง แต่อยู่ในช่วงที่บริษัทคาดการณ์ไว้ ซึ่งราคาที่ประมูลได้เป็นใบอนุญาตที่ 1 ราคา 39,792 ล้านบาท

 

ขณะที่มุมมองของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนทางการเงิน นางภิมลภา สันติโชค รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ ยอมรับว่า การประมูล 4 จี ที่ราคาประมูลเพิ่มขึ้นสูงกว่าที่คาดไว้ แต่เชื่อว่าผู้ประกอบการคงพิจารณาแล้วว่า มีความเป็นไปได้ในการสร้างรายได้ในอนาคต รวมถึงความสามารถมากพอในการชำระค่าประมูลตามเงื่อนไขของ กสทช.

ในส่วนของธนาคารมีการสนับสนุนวงเงินให้ผู้ประกอบการที่เข้าประมูลไปจำนวนหนึ่ง แต่หากราคาสูงกว่าที่คาดไว้ อาจต้องมาพิจารณาในเรื่องโครงสร้างทางการเงินใหม่ว่าจะใช้เงินกู้เพิ่ม การเพิ่มทุน หรือทางเลือกการระดมทุนอื่น โดยในระยะสั้นอาจต้องใช้เงินกู้ระยะสั้นจากธนาคารเพื่อให้ทันตามที่ กสทช.กำหนด

 

ด้าน นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า หากภาคเอกชนสามารถลงทุนได้ตามกำหนดการที่วางเอาไว้ เชื่อว่าส่งผลดีต่อภาพรวมเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปีนี้ ซึ่งธปท.นำการลงทุน 4จี มาร่วมคำนวณประมาณการทางเศรษฐกิจไทยในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) ครั้งที่ผ่านมา (4 พ.ย.)

ส่วนความคิดเห็นจากโบรกเกอร์ พบว่า การที่ค่าใบอนุญาตปรับตัวสูงกว่าราคาประเมินไว้เบื้องต้นกว่าเท่าตัว ส่งผลกระทบต่อบริษัทกลุ่มมือถือ โดยต้นทุนในการดำเนินธุรกิจปรับตัวสูงขึ้นและกระทบความสามารถการทำกำไรในปี 2559 ประกอบด้วย บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) ADVANC ลดลง 2-5% , บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) DTAC ลดลง ไม่เกิน 8-15% , บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)TRUE ไม่เกิน 44%

    


LastUpdate 13/11/2558 15:11:16 โดย : Admin
28-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 28, 2024, 6:42 pm