มีคำกล่าวว่า โลกปัจจุบันเป็นยุคของ "สังคมก้มหน้า" เหตุผลเพราะผู้คนส่วนใหญ่ใช้เวลาส่วนมากหมดไปกับการรูดนิ้วไปมาบนอุปกรณ์พกพาคู่กายอย่างสมาร์ทโฟนหรือแทบเล็ตในยามว่าง ซึ่งนอกจากเพื่อดูข้อมูลข่าวสารและความบันเทิงแล้ว มีคนอีกจำนวนไม่น้อยที่สั่งซื้อสินค้าออนไลน์ เพราะความสะดวกสบาย สามารถสั่งซื้อได้ทุกที่ทุกเวลา สินค้าส่งถึงบ้านหรือเป้าหมายต่างๆ ตามต้องการ จึงไม่น่าแปลกใจที่มูลค่าการค้าออนไลน์หรือที่เรียกกันว่า “อีคอมเมิร์ซ” ของไทยจะมีมูลค่ามหาศาล โดย ETDA เพิ่งเปิดข้อมูลล่าสุดประเมินว่า มูลค่าตลาดอีคอมเมิร์ซของไทยสูงถึง 2.1 ล้านล้านบาทในปี 2558 และแน่นอนว่า อุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ทโฟนและแทบเล็ตมีส่วนช่วยผลักดันการค้าประเภทนี้อยู่ไม่น้อย
ทั้งนี้ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอซีที) เปิดผลการสำรวจมูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซในประเทศไทย ปี 2558 พบว่า ในปี 2557 มูลค่าพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์หรืออีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ไทยมีมูลค่ากว่า 2.03 ล้านล้านบาท และคาดว่า ในปี 2558 จะเติบโตต่อเนื่อง 3.65% มีมูลค่าสูงถึง 2.1 ล้านล้านบาท ซึ่งนับว่าสูงที่สุดในอาเซียน เหนือกว่ามาเลเซียและสิงคโปร์เลยทีเดียว
นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ ETDA เปิดเผยว่า จากการเปรียบเทียบไทยกับประเทศอื่น พบว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซไทยมีมูลค่าสูงสุดในอาเซียน ที่ 11.7 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ตามด้วยมาเลเซียมีมูลค่า 9.66 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และ 3.45 พันล้านดอลลาร์สหรัฐสำหรับสิงคโปร์ โดยแนวโน้มกลุ่มบริการห้องพักและท่องเที่ยวยังคงสดใส ซึ่งมีผลสำรวจนำโด่งทั้งในปี 2557 และ 2558
กลุ่มอุตสาหกรรมที่คาดการณ์ว่าจะมีมูลค่าสูงสุด 3 อันดับแรกของปี 2558 ได้แก่ หมวดอุตสาหกรรมการให้บริการที่พักและอาหาร 658,909.76 ล้านบาท ( มีการเติบโต 38.4 %) หมวดอุตสาหกรรมการผลิต 350,286.83 ล้านบาท (20.4 %) และหมวดอุตสาหกรรมการค้าปลีกและการค้าส่ง 325,077.48 ล้านบาท (19.0 %) โดยธุรกิจกลุ่มค้าปลีกค้าส่งในปัจจุบันหันมาทำการค้าออนไลน์กันเป็นหลัก หรือมีมากถึง 93.3% มีเพียง 6.7% ที่ทำออฟไลน์
สำหรับส่วนอุตสาหกรรมที่จะเติบโตได้ดีต่อไปในธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ได้แก่ อุตสาหกรรมเกม ที่ในปี 2558 คาดว่าจะเติบโต 39.14% และภาพยนตร์ โต 29.10%
“เหตุผลเพราะประชาชนในยุคปัจจุบันมีการชมภาพยนตร์ผ่านแทบเล็ตและมือถือมากขึ้น ทำให้วิตกกังวลกันอยู่บ้างว่า โรงภาพยนตร์จะซบเซาลงหรือไม่ในอนาคต อย่างไรก็ตาม พบว่า ชาวต่างประเทศชอบโรงภาพยนตร์ของไทย”
นับว่าผลการสำรวจของ ETDA สอดคล้องกับ วีซ่า ที่เปิดเผยออกมาในเวลาใกล้เคียงกัน โดยการศึกษาแนวโน้มและพฤติกรรมการชำระเงินของผู้บริโภคจาก 6 ประเทศในทวีปเอเชียตะวันออกเฉียงใต้รวมถึงประเทศไทย ที่สะท้อนได้ว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซในไทยยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งยังสะท้อนให้เห็นด้วยว่า สมาร์ทโฟนและแทบเล็ตมีบทบาทสำคัญอย่างมากต่อการมีส่วนร่วมในตลาดการค้าบนโลกออนไลน์
วีซ่าพบว่า ผู้บริโภคนิยมใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในการชำระเงินออนไลน์ โดย 2 ใน 3 ของผู้บริโภคช้อปปิ้งออนไลน์อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง และมีผู้ตอบแบบสอบถามมากถึง 53% ที่ชอบใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในการชำระเงินออนไลน์ และมีหลายคนที่เลือกใช้สมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือสำหรับชำระเงินอันดับแรก (mobile first)
สำหรับหมวดสินค้าที่ผู้บริโภคสนใจซื้อผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ต รวมถึงสินค้าหมวดใหม่ที่มีแนวโน้มว่า ผู้บริโภคเริ่มมีการช้อปปิ้งมากขึ้น ได้แก่ ในกลุ่มสินค้าแฟชั่นและเครื่องประดับ บัตรชมภาพยนตร์ และการชำระค่าสินค้า บริการ และสาธารณูปโภคต่างๆ ซึ่งเป็นตัวแปรสำคัญในการเติบโตของตลาดออนไลน์ เพราะมีส่วนแบ่งการชำระเงินต่ำ แต่มียอดใช้จ่ายถี่ขึ้น มีสัดส่วนการชำระเงินผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตสูงขึ้น
ทั้งนี้อัตราของผู้ตอบแบบสอบถามชาวไทย ที่ระบุว่า ตนซื้อสินค้าออนไลน์อย่างน้อยเดือนละ 1 ครั้ง เพิ่มขึ้นจาก 64 % ในการสำรวจของปี 2557 เป็น 66%ในปี 2558 โดยมีระยะเวลาในการช้อปปิ้งออนไลน์ต่อครั้งนานประมาณ 46 นาที
เหตุผลหลักๆ ที่พวกเขาเลือกซื้อสินค้าออนไลน์มีหลายอย่าง โดย 40% ตอบว่า มีการจัดส่งสินค้าถึงลูกค้าโดยตรง ,มีความสะดวกสบาย 37%, ที่ตอบว่า ได้ราคาที่ดีกว่ามี 15% และ 8% ตอบว่า มีสินค้าให้เลือกหลากหลาย
สำหรับประเภทสินค้าและบริการที่เป็นที่นิยมในการช้อปปิ้งออนไลน์ได้แก่ ซอฟต์แวร์ แอพพลิเคชันและอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับ แอพฯ (53%) อีเวนท์และคอนเสิร์ต (53%) บริการด้านการท่องเที่ยว (47%) เนื้อหาดิจิตอลต่างๆ อาทิ เกมส์ เพลง และวิดีโอ (40%)
นอกจากนี้ยังพบแนวโน้มการใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในตลาดอีคอมเมิร์ซมากขึ้น โดยมากกว่าครึ่งของผู้ทำแบบสอบถามใช้อุปกรณ์มือถือซื้อสินค้าออนไลน์ และ 32% ของคนกลุ่มนี้ระบุว่า เป็นวิธีชำระเงินที่เขาชื่นชอบที่สุด ซึ่งกระแสความนิยมมีท่าทีที่จะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะ 42% ของผู้ตอบแบบสอบถามยังคงเลือกใช้สมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตเป็นช่องทางการช้อปปิ้งออนไลน์ในปีหน้า 2559 โดยเฉพาะในผู้ตอบแบบสอบถามกลุ่มผู้ชาย
หากจะกล่าวว่า เทรนด์การซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านสมาร์ทโฟนและแท็บเล็ตในไทยเติบโตเร็วไปตามเทรนด์โลก ก็คงจะไม่ผิดนัก เพราะในการศึกษาของวีซ่า ในปี 2558 แสดงให้เห็นเช่นกันว่า ผู้บริโภคจาก 13 ประเทศในเอเชียแปซิฟิคมีการซื้อสินค้าออนไลน์ผ่านอุปกรณ์พกพาอย่างสมาร์ทโฟนและแทบเล็ตมากกว่าคอมพิวเตอร์ตั้งโต๊ะเพิ่มขึ้นจากปี 2557 เฉลี่ยถึง 22%
พอจะมองเห็นภาพรวมในอนาคตได้ว่า ตลาดอีคอมเมิร์ซจะยังคงสดใสต่อเนื่อง ผลจากมีคนไทยจำนวนมากที่เลือกใช้เทคโนโลยีมือถือและแทบเล็ตในการซื้อสินค้าและบริการ และในอนาคตอันใกล้คนไทยจะได้ใช้เทคโนโลยี 4G อย่างเปิดกว้างสมบูรณ์ยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพในการถ่ายโอนข้อมูลได้ฉับไว ดาวน์โหลดข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว ทันใจ น่าจะถูกใจผู้ชื่นชอบการสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ จนแทบจะลืมการช้อปปิ้งตามห้างกันไปเลยทีเดียว...
ข่าวเด่น