เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ค่า "ไลเซนส์ 4จี"' ช่วยสร้างรายได้ให้รัฐ


การประมูล คลื่นความถี่ 4 จี ทั้งย่านความถี่ 1800 และ 900 เมกะเฮิรตซ์ ในช่วงปลายปี 2559 นอกจากจะทำให้ผู้บริโภคได้ใช้อินเตอร์เนตในการรับข้อมูลข่าวสารอย่างทั่วถึงทั้งประเทศและครอบคลุมมากขึ้น และยังรองรับการเป็น "ดิจิทัล อิโคโนมี่" แล้ว แต่ในส่วนของรัฐบาลก็ได้รับประโยชน์ไม่แพ้กัน โดยเฉพาะในส่วนของการจัดส่งรายได้เข้ารัฐบาล ซึ่งจะส่งผลดีต่องบประมาณแผ่นดินและการลงทุนของภาครัฐ

 

นายสมศักดิ์ โชติรัตนะศิริ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ยอมรับว่า การจัดประมูลคลื่นความถี่ 4 จี ในย่านความถี่ 1,800 เมกะเฮิรตซ์ และ 9,00 เมกะเฮิรตซ์ จะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของรัฐบาลในปี 2559 สูงกว่าจากเดิมที่คาดว่าจะจัดเก็บรายได้อยู่ที่ 2.33 ล้านล้านบาท

เนื่องจากมีรายได้เพิ่มเติมเข้ามา จากการประมูลคลื่นความถี่ที่ผู้ประมูลได้ ต้องจ่ายค่าใบอนุญาตบางส่วนให้กับรัฐในปีงบประมาณ 2559 ตามข้อกำหนดของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)

 

โดยเงินที่ได้จากการเปิดประมูลคลื่น 4จี จะถูกรวมเข้าเป็นรายได้ของรัฐประจำปี 2559 ซึ่งเป็นไปได้ว่าจะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้สูงกว่าเป้าหมาย และถือว่าส่งผลดีต่อเนื่องไปยังการจัดทำงบประมาณในปี 2560 แม้มีแนวโน้มว่าระยะต่อไปรัฐบาลจะมีการลงทุนสูง แต่เมื่อมีการจัดเก็บรายได้ได้สูงกว่าเป้าหมาย ทำให้มีความเป็นไปได้มากที่ในปีงบประมาณ 2560 ไม่จำเป็นต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลสูงไปกว่าปี 2559 ที่ขาดดุลอยู่ 3.9 แสนล้านบาท

และหากไม่มีเหตุการณ์ที่กระทบเศรษฐกิจรุนแรง จนกระทบกับการจัดเก็บรายได้จากส่วนอื่นๆ การจัดทำงบประมาณปี 2560 ใช้กรอบการขยายตัวของเศรษฐกิจในปี 2560 ทีจีดีพี 3.5-4% ซึ่งสูงกว่าปีนี้ที่จีดีพีขยายตัวได้ 3%

 

 

ส่วนการชำระค่าไลเซนส์ หลังจากที่มีการประมูลเมื่อวันที่ 11-12 พ.ย. 2558 ที่ผ่านมา นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กสทช. เปิดเผยว่า บริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด ในเครือ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ เอไอเอส ซึ่งเป็นผู้ที่ชนะการประมูลคลื่นความถี่ 1800 เมกะเฮิรตซ์ หรือ 4 จี ชุดที่ 2 ความถี่ 1725-1740 MHz คู่กับ 1820-1835 MHz เข้ามาชำระเงินประมูลงวดแรก 50% ของราคาที่ชนะการประมูล 20,493 ล้านบาท เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม จะเป็นเงิน 21,131 ล้านบาท

 

ซึ่งหลังจากนี้จะนำเข้าที่ประชุมคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) เพื่อเห็นชอบแล้วนำเสนอให้ประธาน กสทช.ลงนามเพื่อมีผลบังคับใช้ โดยคาดว่าจะสามารถออกใบอนุญาตได้ไม่เกินวันที่ 25 พ.ย.นี้ จากนั้นสำนักงาน กสทช.จะหักค่าใช้จ่ายในการประมูลครั้งนี้ประมาณ 100 ล้านบาท แล้วนำส่งเข้าคลังเพื่อเป็นรายได้แผ่นดินภายในสัปดาห์หน้า

สำหรับการชำระเงินค่าประมูลจะแบ่งการชำระออกเป็น 3 งวด โดยงวดแรกต้องเข้ามาชำระการประมูล 50% ของราคาที่ชนะการประมูล งวดที่ 2 ชำระ 25% ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 2 ปี นับตั้งแต่ได้รับใบอนุญาต และงวดที่ 3 ชำระ 25% ภายใน 15 วัน เมื่อครบกำหนดระยะเวลา 3 ปี นับตั้งแต่ได้รับใบอนุญาต


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 24 พ.ย. 2558 เวลา : 12:42:45
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 8:22 pm