กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF อนุมัติรวมเงินหยวน เข้าตะกร้าสกุลเงินเพื่อสร้างสิทธิพิเศษในการถอนเงิน ซึ่งการพิจารณาดังกล่าวมีขึ้นในที่ประชุมบอร์ดบริหารของ IMF เมื่อวันที่ 3 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา โดยบอร์ด IMF กล่าวว่า เงินหยวนมีคุณสมบัติครบทุกเกณฑ์กำหนดสำหรับการพิจารณา และจะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 1 ตุลาคม 2016 โดยสกุลเงินหยวนจะร่วมเข้าอยู่ในกลุ่มตะกร้าเงิน เป็นลำดับที่ 5 ร่วมกับสกุลเงินดอลลาร์ ยูโร เยนของญี่ปุ่น และเงินปอนด์ของอังกฤษ
ด้าน นายเมธี สุภาพงษ์ รองผู้ว่าการ ด้านเสถียรภาพการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือแบงก์ชาติ กล่าวว่า เป็นการยืนยันบทบาทของจีนและของเงินหยวนในเวทีการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ทำให้มีการใช้อย่างแพร่หลายและเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง ส่วนผลกระทบที่มีต่อตลาดเงินของโลกอาจจะไม่มากนัก เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่มีการคาดการณ์ไว้ล่วงหน้าแล้ว อย่างไรก็ดี นักลงทุนอาจมีการปรับสัดส่วนการลงทุน เพื่อป้องกันความเสี่ยง (Hedge) ตามสกุล SDR แต่คาดว่าจะเป็นไปอย่างค่อยเป็นค่อยไป
แต่หากมองในภาพรวมต่อเศรษฐกิจไทย คาดว่าไทยจะได้รับประโยชน์ในเชิงการค้าและการลงทุน จากการที่จะมีการใช้เงินหยวนอย่างแพร่หลายมากขึ้น เพราะจากนี้ไปความสนใจในการใช้เงินหยวนเพื่อการชำระเงินระหว่างประเทศ และเพื่อการลงทุนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องตามการผ่อนคลายการควบคุมด้านเงินทุนของทางการจีน และความคุ้นเคยของผู้ประกอบการและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ
ส่วนแบงก์ชาติเองก็ได้เริ่มทยอยลงทุนในพันธบัตรสกุลเงินหยวนมาตั้งแต่ปี 2553 เพื่อกระจายความเสี่ยงในการบริหารเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ รวมทั้งส่งเสริมให้มีการใช้เงินหยวนเป็นทางเลือกในการชำระเงิน และล่าสุดแบงก์ชาติได้ทำข้อตกลง BSA (Bilateral Swap Arrangement) กับจีนในวงเงิน 70,000 ล้านหยวน หรือประมาณ 11,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งเพิ่มความมั่นใจในการเข้าถึงสภาพคล่องเงินหยวน หากเป็นที่ต้องการของระบบการเงินไทย
นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ในอนาคตจีนยังจะต้องทำให้เงินหยวนมีการใช้อย่างแพร่หลายและเป็นที่ยอมรับในวงกว้างมากขึ้น ส่วนผลกระทบต่อการส่งออกของไทย ประเมินว่ามีไม่มาก เพราะการส่งออกจะขึ้นอยู่กับภาวะเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจจีน และราคาน้ำมันที่มีผลต่อราคาสินค้าเกษตรมากกว่า
ด้าน นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จะส่งผลดีต่อการค้าการลงทุนของไทยกับประเทศจีน และในอนาคตถ้าสามารถแลกเงินบาทเป็นเงินหยวนได้โดยตรงก็จะช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความสะดวกในการเข้าไปลงทุนในประเทศจีนได้มากขึ้น
ขณะที่ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า การที่ IMF มีมติให้เงินหยวนถูกรวมอยู่ในตะกร้าเงิน SDRs คงยังไม่มีผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยในระยะสั้น ขณะที่ในระยะข้างหน้า ปัจจัยที่จะมีอิทธิพลต่อเงินหยวน ยังคงเป็นการดำเนินนโยบายการเงินแบบผ่อนคลายของธนาคารกลางจีน ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลง และมีผลต่อเศรษฐกิจไทยผ่านช่องทางการค้าระหว่างประเทศเป็นหลัก ส่วนในระยะกลาง/ยาว หากเงินหยวนเป็นที่นิยมใช้ในตลาดโลกมากขึ้น ทางการไทยก็น่าจะต้องทยอยเพิ่มสัดส่วนเงินหยวนในทุนสำรองระหว่างประเทศมากขึ้นตามลำดับ แม้ในปัจจุบันไทยเริ่มมีการใช้เงินหยวนเป็นทุนสำรองระหว่างประเทศอยู่แล้วบ้าง แต่ก็เป็นสัดส่วนที่น้อยมาก
ข่าวเด่น