เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ (3D Printing) เป็นนวัตกรรมที่ได้รับการกล่าวถึงเพิ่มขึ้นและถูกนำไปใช้ในหลายวงการ อีกทั้งมีแนวโน้มว่า ในอนาคตจะเข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของเราเพิ่มขึ้น ซึ่งผู้นำเทคโนโลยีทางด้านนี้ในระดับโลกมีหลายแห่ง อาทิ 3D Systems ,Hewlett-Packard และเมื่อเร็วๆ นี้ มีผู้นำทางด้านนี้อีกแห่งเพิ่งบุกมาเปิดตลาดในไทย ได้แก่ บริษัท "Stratasys"
ทั้งนี้ “Stratasys Asia Pacific” (สตรัสเทซี เอเชีย แปซิฟิค) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของบริษัท NASDAQ: SSYS (สตรัสเทซี) ผู้นำด้านการพิมพ์ 3 มิติ ที่มีสำนักงานใหญ่ที่รัฐมินนิโซต้า สหรัฐอเมริกา และ เมืองเรโฮวอท ประเทศอิสราเอลบุกตลาดเทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติในไทย โดยเชื่อมั่นเทคโนโลยี Stratasys มีศักยภาพช่วยตอบสนองความต้องการใช้งานได้อย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงขั้นตอนการผลิต และใช้ได้ครอบคลุมกว้างหลากหลายอุตสาหกรรม ทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์, การแพทย์ และเครื่องจักร
นายอิโด เอลอน ผู้จัดการทั่วไป บริษัท Stratasys Asia Pacific Ltd. แห่งภูมิภาคแปซิฟิคและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แนะนำบริษัทว่า "Stratasys" ตั้งขึ้นในปี 1988 กว่า 25 ปีที่ผ่านมา บริษัทเป็นผู้นำแถวหน้าของนวัตกรรมการพิมพ์ 3 มิติ และการผลิตสารเติมแต่ง ซึ่งพยายามพัฒนาผลิตภัณฑ์เพื่อแก้ไขปัญหาและความตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ตรงจุด เพื่อให้กระบวนการทำงานทุกขั้นตอนผ่านไปอย่างราบรื่นไม่มีจุดสะดุด ช่วยลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพของงานให้ออกมามีคุณภาพและประหยัดเวลาในการพัฒนาปรับปรุง นอกจากนี้ บริษัทยังบริการแก้ไขปัญหา รับปรึกษาด้านเทคนิคและการฝึกอบรม
“การพิมพ์ 3 มิติ” หรือ “การผลิตแบบเติมเนื้อวัสดุ” (Additive Manufacturing) คือ กระบวนการพิมพ์แบบจำลอง 3 มิติที่จับต้องได้จากซอฟต์แวร์การออกแบบ โดยใช้คอมพิวเตอร์ช่วย (Computer-aided design หรือ CAD) เครื่องพิมพ์ 3 มิติ จะพิมพ์แบบจำลองจากไฟล์ CAD โดยการวางวัสดุลงไปทีละชั้น เพื่อสร้างเป็นแบบจำลองขึ้นมา
เครื่องพิมพ์ที่ได้รับความนิยมทั่วไป ได้แก่ แบบ fused deposition modeling (FDM) หรือการพิมพ์แบบใช้หัวฉีด การทำงานมีกลไกสำหรับดึงเส้นพลาสติกมาทำความร้อนที่หัวฉีด และฉีดลงไปที่ฐานทีละชั้น ก่อตัวสูงขึ้นเรื่อยๆ โดยมากการพิมพ์แบบ FDM จะถูกใช้สำหรับงานพิมพ์ตัวต้นแบบ (rapid prototype) เพราะตัวงานที่ออกมาจะไม่แข็งแรงนัก และมีพื้นผิวเป็นลายไม้ จำเป็นต้องขัดเก็บงานเสียก่อน หากจะนำไปใช้งานจริง แต่เป็นแบบที่ได้รับความนิยมมากที่สุดในตลาด เนื่องจากใช้กับวัสดุได้หลายประเภท รวมถึงต้นทุนที่ถูกกว่าการพิมพ์แบบอื่น ทั้งในแง่ของวัสดุและตัวเครื่องพิมพ์
ส่วนเครื่องแบบ Polyjet คือ ใช้วัสดุการพิมพ์เป็นของเหลวแล้วค่อยๆ ฉีดพ่นสร้างขึ้นมาเป็นแบบ จุดเด่นของเครื่องแบบ Polyjet คือ ได้งานที่ละเอียดกว่าแบบฉีดเป็นเส้นทั่วไปที่ระดับ 14 ไมครอน แต่จุดด้อย คือ วัสดุจะไม่ทนทานเท่าแบบฉีด
Stratasys ได้นำตัวอย่างผลิตภัณฑ์มาโชว์ด้วยเช่นกัน ได้แก่ FDM-powered Fortus 250mc และ the PolyJet-based Objet30 Pro โดยจำหน่ายผลิตภัณฑ์ต่าง ๆในไทยผ่านพันธมิตร 3 แห่ง ได้แก่ บริษัท Marubeni Software & Technology (Thailand) Co.,Ltd. , Altech Asia Pacific Co.,Ltd. และ AppliCAD Co.,Ltd.
นายเอลอนเปิดเผยว่า เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้หลายด้าน ทั้งด้านการศึกษา อุตสหกรรมการผลิต สถาปัตยกรรม ยานยนต์ อากาศยาน หรือแม้แต่ด้านการแพทย์ ก็ได้มีการนำไปใช้แล้ว ลูกค้าของบริษัทจึงได้แก่ ธุรกิจในกลุ่มต่างๆ เหล่านี้
ตัวอย่างการนำไปใช้ด้านการแพทย์ เช่น ดร.เรดมอนด์ เบิร์ค (Redmond Burke) ผู้อำนวยการฝ่ายกุมารศัลยศาสตร์หัวใจและหลอดเลือด แห่งโรงพยาบาลเด็กในไมอามี่ ใช้ช่วยเหลือหนูน้อยที่มีความผิดปกติของหัวใจ โดยใช้เครื่องพิมพ์ 3 มิติ วางแผนการรักษาด้วยการพิมพ์ 3 มิติ และการตรวจสอบรูปแบบของหัวใจก่อนการผ่าตัด นอกจากนี้ การพิมพ์ 3 มิติ ยังใช้งานด้านทันตกรรม ออกแบบโครงสร้างฟันได้ด้วย
ส่วนในด้านยานยนต์ การพิมพ์ 3 มิติ ช่วยให้บริษัท ฮอนด้า จำกัด ประหยัดต้นทุนและเวลาในการปรับปรุงประสิทธิภาพและการพัฒนายานยนต์ ช่วยงานได้ตั้งแต่เริ่มทำต้นแบบ การทดสอบไปจนถึงการผลิตเพื่อนำออกสู่ตลาด จนปัจจุบันมีอุปกรณ์เสริมสำหรับรถยนต์และรถจักรยานยนต์ของฮอนด้ามากกว่า 300 ได้ถูกออกแบบและพัฒนาประสิทธิภาพผ่านการพิมพ์ 3 มิติ
นายเอลอน เชื่อว่า ท่ามกลางการแข่งขันจากทั่วโลก ประเทศไทยเป็นหนึ่งในภาคอุตสาหกรรมที่เติบโตขึ้นอย่างเร็วรวดและมีศักยภาพสูง แต่ยังมีการใช้เทคโนโลยีการพิมพ์ 3 มิติน้อย เมื่อเทียบกับสิงคโปร์และอินโดนีเซีย Stratasys จึงมีความสนใจมาทำธุรกิจในไทย ซึ่งมีผลิตภัณฑ์มากกว่า 20 รุ่นพร้อมนำเสนอ
แต่จะประสบความสำเร็จได้หรือไม่ ยอดขายจะได้เท่าไหร่ นายเอลอน ยังไม่กล้าประเมิน แย้มแต่เพียงว่า รอดูสถานการณ์ก่อน ซึ่งในไตรมาสที่ 3 ของปี 2558 นี้ บริษัทมีรายได้จากทั่วโลกที่ 170 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขณะที่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีการเติบโตถึง 16%
คงต้องจับตามองกันต่อไปว่า 1 ปีนับจากนี้ Stratasys จะรุกตลาดไทยไปได้มากน้อยแค่ไหน ...
ข่าวเด่น