การลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เป็นสิ่งจำเป็นในการกระตุ้นการลงทุนทั้งของภาครัฐและเอกชน และยังเป็นสิ่งจำเป็นในการพัฒนาประเทศไทย เพื่อให้สามารถแข่งขันกับประเทศเพื่อนได้ในอนาคต
ซึ่งล่าสุด นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติให้จัดตั้ง "กองทุนโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย" หรือ "ไทยแลนด์ ฟิวเจอร์ส ฟันด์" (Thailand Future Fund) วงเงิน 1 แสนล้านบาท เพื่อลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะระบบขนส่งของประเทศ คาดว่ามีมูลค่าการลงทุน 1.6-1.7 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเร่งดำเนินการ และสามารถเปิดให้ลงทุนได้ภายในไตรมาส 1/59
เบื้องต้นกระทรวงการคลังจะลงทุนในกองทุนดังกล่าว 1 หมื่นล้านบาท โดยนำเงินกองทุนวายุภักษ์ มาแปลงเป็นเงินลงทุนในกองทุนดังกล่าว เพื่อเป็นเงินเริ่มต้น เพื่อให้กองทุนมีรายได้ เนื่องจากหากเป็นกองทุนใหม่จะต้องใช้เวลา 3-5 ปี กว่าจะมีรายได้ และจะเปิดโอกาสให้ประชาชนทั่วไปร่วมลงทุนด้วย
ทั้งนี้ การดำเนินการลงทุนดังกล่าวนั้น จะช่วยลดภาระการกู้เงินของรัฐบาลและประเทศ ยังสามารถมีช่องว่างในการกู้เงินได้เพิ่มขึ้น เพราะภาระหนี้จะลดลง จึงมีการออกแบบกองทุนเพื่อระดมทุนจากภาคเอกชน ซึ่งเป็นเงินระยะยาว ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มจากประกันภัย เงินจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้ไป กระทรวงการคลังจะลงไปสำรวจอัตราผลตอบแทนของการลงทุนในตลาดว่าอยู่ที่เท่าใด เพื่อกำหนดอัตราผลตอบแทนขั้นต่ำของการลงทุนในกองทุนดังกล่าว เพื่อให้นักลงทุนมีความเชื่อมั่นว่า รัฐบาลมีการการันตีผลตอบแทนในการลงทุน
ด้าน นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า หลักการสำคัญของกองทุนดังกล่าว มี 5 ข้อ คือ 1. เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศในระยะยาว 2. เป็นการจัดหาแหล่งเงินทุนใหม่ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของภาครัฐ 3. ลดภาระการคลังของภาครัฐในการระดมทุนในโครงสร้างพื้นฐาน 1.7 ล้านล้านบาท 4. เป็นช่องทางให้นักลงทุนและผู้ออมเงินสามารถลงทุนในทรัพย์สินที่มีคุณภาพของภาครัฐ และ 5. เป็นการสนับสนุนการพัฒนาตลาดทุนของประเทศ เพื่อเพิ่มผลิตภัณฑ์ทางเลือกในตลาดทุน เพราะท้ายสุดแล้วตั้งใจจะเอากองทุนนี้เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
ข่าวเด่น