เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เตือนรับมือ "ตลาดเงินผันผวน" หลังเฟดขึ้นดอกเบี้ย


 

 

หลังจากที่ธนาคารกลางสหรัฐอเมริกา (เฟด) มีมติปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยระยะส้้น 0.25% เป็นครั้งแรกในรอบ เกือบ 10 ปี  แม้ในช่วงแรกตลาดหุ้นทั่วโลกจะตอบรับในเชิงบวก แต่ในด้านการดำเนินนโยบายการเงินและการเคลื่อนย้ายเงินทุนกลับไม่น่าไปในทิศทางเดียวกัน

 

 

โดย นายวิรไท สันติประภพ  ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า แม้การตัดสินใจของธนาคารกลางที่มีความสำคัญมากที่สุดในโลก คือ สหรัฐ จะปรับขึ้นดอกเบี้ย แต่ขณะเดียวกัน ก็ยังได้เห็นธนาคารกลางในอีกหลายประเทศที่จะมีการอัดฉีดสภาพคล่องเข้ามาต่อเนื่อง ทั้งธนาคารกลางยุโรป ญี่ปุ่น จีน และอังกฤษ ที่ส่งสัญญาณว่า การปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอาจจะชะลอออกไป

 

ขณะที่ นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง มองว่า เฟดเดินมาถูกทางที่มีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแบบค่อยเป็นค่อยไป  เพื่อให้ตลาดได้มีเวลาปรับตัว ขณะที่ปัจจัยเรื่องเศรษฐกิจโลกน่ากังวลมากกว่า เพราะขณะนี้ยังมีความเปราะบาง รวมถึงเศรษฐกิจจีนที่ชะลอตัว อาจมีผลกระทบต่อภาคส่งออกของไทย  

 

ด้าน นายพิสิฐ  ลี้อาธรรม ประธานกรรมการ สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย กล่าวว่า แนวโน้มเงินทุนต่างชาติปีหน้ายังมีทิศทางไหลออกต่อเนื่อง ซึ่งเป็นภาพเดียวกับทั้งโลก หลังจากเฟดอยู่ในทิศทางปรับขึ้นดอกเบี้ย อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าจะกระทบกับตลาดตราสารหนี้ไม่มากนัก เพราะเฟดส่งสัญญาณแล้วว่า จะทยอยปรับขึ้นดอกเบี้ย โดยเงินทุนต่างชาติที่ลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ปัจจุบันถ้าเทียบกับเงินทุนสำรองของไทยในขณะนี้ ถือว่ามีไม่มาก ประมาณ 2% เท่านั้น ประกอบกับดีมานด์ความต้องการลงทุนของนักลงทุนสถาบันในไทยยังมีอีกเป็นจำนวนมาก
         

 

ส่วน นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน ธปท. กล่าวว่า การเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทยังสามารถเคลื่อนไหวได้ทั้งสองทิศทาง ดังนั้นผู้ที่เกี่ยวข้องกับการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ จึงควรระมัดระวัง และให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงด้านเงินตราต่างประเทศ

 

นายธนวรรธน์ พลวิชัย ผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า  หลังจากที่เฟดปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจส่งผลให้มีเงินไหลกลับเข้าไปในสหรัฐฯ  และทำให้ให้ตลาดหุ้นและตลาดตราสารของสหรัฐฯมีความโดดเด่น ในขณะที่ตลาดหุ้นไทยจะเป็น sideway เช่นเดียวกับตลาดหุ้นในเอเชีย และในกลุ่มประเทศเกิดใหม่  ซึ่งจะส่งผลต่อค่าเงินบาทให้ปรับตัวอ่อนค่าอยู่ในระดับ 36.50 บาท/ดอลลาร์ในช่วงสิ้นปีนี้ 

ส่วนต้นปี 2559 มองว่าเงินบาทอาจจะอยู่ที่ระดับ 36.50-37.00 บาท/ดอลลาร์ และหลังจากที่รัฐบาลได้เริ่มมีการระดมทุน และมีเงินไหลเข้ามาลงทุนในโครงการเมกะโปรเจ็กต์ต่างๆ เชื่อว่า เงินบาทจะกลับไปอยู่ที่ระดับ 36 บาท/ดอลลาร์ในช่วงครึ่งหลังของปี 2559


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 21 ธ.ค. 2558 เวลา : 06:42:08
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 8:50 pm