เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"อีเพย์เมนต์" ปฎิวัติระบบการเงินไทย


การพัฒนาและปฎิรูประบบชำระเงินของไทยเริ่มเห็นเป็นรูปธรรมมากขึ้น  โดยเฉพาะเมื่อรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา  ให้ความสำคัญกับนโยบายดังกล่าว โดยจะเห็นได้จากการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่  22 ธ.ค.58 

 

 

ซึ่ง นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า  คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการของแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงิน แบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (National e-Payment Master Plan)  ซึ่งมีจุดมุ่งหมายเพื่อพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศไทยให้เข้าสู่ระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์ (อีเพย์เมนต์) ครบวงจร  ซึ่งจะนำมาสู่การเพิ่มประสิทธิภาพโครงสร้างพื้นฐานการชำระเงิน การเพิ่มประสิทธิภาพของระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ การลงทะเบียนผู้มีรายได้น้อย รวมทั้งบูรณาการระบบสวัสดิการสังคม การส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน และ การส่งเสริมอีเพย์เมนต์ในทุกภาคส่วน

และแผนยุทธศาสตร์นี้ยังจะช่วยสนับสนุนนโยบายอื่นๆ ของประเทศให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น เช่น นโยบายเศรษฐกิจดิจิตอลอีโคโนมี โครงการระบบตั๋วร่วมของกระทรวงคมนาคม นโยบายกองทุนการออมแห่งชาติ นโยบายการส่งเงินช่วยเหลือแก่ประชาชนในกรณีต่างๆ ของภาครัฐ   

 

โดยแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงสร้างระบบการชำระเงิน ประกอบด้วยแผนงานสำคัญ 5 โครงการ  ได้แก่

1.โครงการระบบการชำระเงินแบบ Any ID (นานานาม) ทำให้การโอนเงินและการรับชำระเงินสามารถทำได้โดยง่าย   โดยใช้เลขที่บัตรประจำตัวประชาชน หมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือหมายเลขกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ นอกเหนือจากการใช้เลขที่บัญชีธนาคารอย่างในปัจจุบัน

2.โครงการการขยายการใช้บัตรมากขึ้น โดยสร้างจุดรับเงินให้เกิดขึ้นทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในร้านค้าหรือบริษัทที่จดทะเบียนกับกระทรวงพาณิชย์ 

3.โครงการระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์

4.โครงการ e-Payment ภาครัฐ โดยโครงการนี้จะรวมถึงการบันทึกผู้มีรายได้น้อยอย่างสมัครใจ ซึ่งใครที่มีรายได้น้อยสามารถลงทะเบียนเพื่อให้ได้บัตรอิเล็กทรอนิกส์ที่มีสิทธิประโยชน์ โดยจะให้ธนาคารพาณิชย์ช่วยลงทะเบียนบัตร  โดยอาศัยข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทย
         
โดยแผนยุทธศาสตร์นี้คาดว่าจะช่วยให้ประหยัดต้นทุนของระบบเศรษฐกิจในภาพรวมได้ ประมาณ 75,000 ล้านบาทต่อปี จากประชาชนที่จะลดต้นทุนจากการพกพาเงินสดและหันมาใช้การชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แทน ที่จะสามารถประหยัดต้นทุนประมาณ 30,000 ล้านบาทต่อปี รวมถึงร้านค้าที่สามารถประหยัดต้นทุนประมาณ 45,000 ล้านบาทต่อปี จากการลดต้นทุนการบริหารจัดเก็บเงินสดและเช็ค และการพิมพ์และจัดส่งเอกสารใบกำกับภาษี

นอกจากนี้ ในอนาคตรัฐบาลจะบูรณาการระบบภาษีอิเล็กทรอนิกส์ ที่จะเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยลดต้นทุนของระบบ ผ่านการพัฒนาระบบนำส่งข้อมูลภาษีมูลค่าเพิ่ม และระบบนำส่งภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ซึ่งจะช่วยให้ภาครัฐมีฐานข้อมูลภาษีที่ครบถ้วนมากขึ้น สามารถนำข้อมูลมาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อกำหนดนโยบายการบริหารจัดเก็บภาษีได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถจัดการรายได้ที่ดีเพื่อนำไปใช้ในการพัฒนาประเทศ

 

ด้าน นางทองอุไร ลิ้มปิติ รองผู้ว่าการด้านเสถียรภาพสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ ธปท.อยู่ระหว่างปรับปรุงแผนพัฒนาระบบระยะที่ 3 ที่จะนำมาบังคับใช้ในช่วงปี 2558-2562 เพื่อพัฒนาระบบสถาบันการเงินไทยให้แข่งขันได้  สามารถสนองความต้องการที่หลากหลายขึ้น ด้วยราคาที่เป็นธรรมและไม่บิดเบือน และสนับสนุนการเชื่อมโยงการค้าการลงทุนในภูมิภาค แต่ยังมีเสถียรภาพดีตามเป้าหมายที่ต้องการเกิดการแข่งขัน ประชาชนเข้าถึงบริการ มีการเชื่อมโยง แต่ยั่งยืน
         
และที่สำคัญแนวทางการพัฒนาและกำกับดูแลสถาบันการเงินต้องให้เท่าทันเหมาะสมกับสภาพแวดล้อมทางการเงินที่เปลี่ยนแปลงไป และมีช่องทางการบริการที่หลากหลายมากขึ้นในยุคนี้ รวมถึงแนวโน้มหรือพฤติกรรมความนิยมของผู้บริโภคที่จะมีในอนาคตด้วย ซึ่งแนวโน้มการให้บริการทางการเงินของไทยในระยะต่อไปน่าจะมีการพัฒนาการบริการทางดิจิทัลและอีเพย์เมนต์ที่สนับสนุนอี-บิซิเนส  รวมทั้ง อี-โกเวอเมนต์ ที่ต่อไป อาจจะเห็นการเชื่อมโยงการเปิดบัญชีธนาคารกับบัตรประชาชน หรือใช้เบอร์โทรศัพท์มือถือ 1 เบอร์ต่อ 1 บัญชีธนาคาร เป็นต้น
          



บันทึกโดย : Adminวันที่ : 23 ธ.ค. 2558 เวลา : 12:57:46
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 8:32 pm