กรมธนารักษ์ ประเมินที่ดินรอบปี 59-62 ชี้ราคาเฉลี่ยทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 27.72% ส่วนกรุงเทพมหานครเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 15.78% สีลมครองแชมป์ราคาสูงสุด ตารางวาละ 1 ล้านบาท ขณะที่พื้นที่เขตศก.พิเศษ 6 จังหวัด ราคาขึ้นเฉลี่ย 38.88%
นายจักรกฤศฎิ์ พาราพันธกุล อธิบดีกรมธนารักษ์ เปิดเผยว่า ทางกรมฯ ได้ประเมินราคาที่ดินทั่วประเทศ 32 ล้านแปลง โดยราคาประเมินที่ดินใหม่รอบปี 2559- 2562 ที่จะเริ่มใช้วันที่ 1 ม.ค. 2559 มีราคาเฉลี่ยทั่วประเทศเพิ่มขึ้น 27.72% โดยที่ราคาประเมินที่ดินในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 15.78% ในขณะที่ราคาประเมินในพื้นที่ส่วนภูมิภาค เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 27.88% จากราคาประเมินเดิม
โดยพื้นที่ที่มีราคาประเมินที่ดินสูงสุดของประเทศอยู่ในกรุงเทพมหานคร บริเวณถนนสีลมจากแยกศาลาแดงถึงแยกนราธิวาสราชนครินทร์ ตารางวาละ 1 ล้านบาท ราคาประเมินเดิม ตารางวาละ 8.5 แสนบาท เพิ่มขึ้น 17.65% รองลงมาเป็นถนนราชดำริ จากแยกราชประสงค์ ถึง คลองแสนแสบ ถนนพระรามที่ 1จากแยกปทุมวัน ถึง แยกราชประสงค์ และ ถนนเพลินจิต ตลอดสายราคาประเมินที่ดินใหม่ ตารางวาละ 9 แสนบาท ราคาประเมินเดิม ตารางวาละ 8แสนบาท เพิ่มขึ้น 12.50%
ขณะที่ ถนนราชดำริ ช่วงจากแยกศาลาแดง ถึง แยกราชประสงค์ ถนนวิทยุ ช่วงจากถนนเพลินจิต ถึง ถนนพระรามที่ 4 และถนนสาทร ช่วงจากถนนพระรามที่ 4 ถึง ถนนสุรศักดิ์ ตารางวาละ 7.5 แสนบาทราคาประเมินเดิม ตารางวาละ 6- 7 แสนบาท เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 13.09%ในส่วนภูมิภาคนั้น ราคาประเมินสูงสุด ตารางวาละ 4 แสนบาทอยู่ในจังหวัดสงขลา และราคาประเมินต่ำสุด ตารางวาละ 10 บาทอยู่ในจังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ตาบอด ที่ดินไม่มีทางเข้าออก
ด้านการเปลี่ยนแปลงราคาประเมินทุนทรัพย์ที่ดินในรอบใหม่ ในบริเวณพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษทั้ง 6 แห่ง เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 38.88% สูงกว่าภาพรวมทั่วประเทศประมาณ 10% ประกอบด้วย จังหวัดตราด อำเภอคลองใหญ่ เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 24.88% ส่วนจังหวัดมุกดาหาร อำเภอเมืองเพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 44.02% จังหวัดสงขลา อำเภอสะเดา เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 23.09%
ขณะที่จังหวัดตาก อำเภอแม่สอด เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 92.36% ส่วนจังหวัดสระแก้ว อำเภออรัญประเทศ เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 63.25% ในส่วนของจังหวัดหนองคาย อำเภอสระใคร เพิ่มขึ้นโดยเฉลี่ย 31.31%
โดยปัจจุบันกรมได้ดำเนินการประเมินราคาที่ดินทั่วประเทศประมาณ 32 ล้านแปลง หรือคิดเป็นเนื้อที่ประมาณ 321 ล้านไร่ เป็นที่ดินรายแปลง 12.6 ล้านแปลง จากเดิม 6.02 ล้านแปลง ในรอบบัญชี ปี พ.ศ.2555-2558 เพิ่มขึ้น 177.77% และรายบล็อก 19.4 ล้านแปลง ประเมินราคาห้องชุด 12,300 อาคาร หรือ 924,877 ห้องชุด ประเมินราคาโรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง ซึ่งมีแบบมาตรฐานเพื่อใช้ประเมินราคาโรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง ได้กำหนดจำนวน 5 ประเภท ได้แก่ บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถว ตึกแถว โรงเรือนอื่นๆ (แนวราบและแนวสูง) เช่นเดียวกันทั้ง 77
สำหรับทิศทางการประเมินราคาทรัพย์สินในอนาคต กรมธนารักษ์มีแผนที่จะขยายพื้นที่ประเมินราคาที่ดินรายแปลงให้ครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งยังคงมีแปลงที่ดินที่ต้องดำเนินการอีก 19.4 ล้านแปลง ให้แล้วเสร็จภายใน 2ปี เมื่อได้รับงบประมาณสนับสนุน ทั้งนี้การขยายพื้นที่ประเมินราคาที่ดินรายแปลงจะทำให้ให้ประชาชนสามารถเข้าถึงและตรวจสอบราคาประเมินได้ทุกแปลง และใช้เป็นฐานภาษีสนับสนุนนโยบายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างในอนาคต
นอกจากนี้ยังมีแผนงานสำรวจและจัดเก็บข้อมูลทะเบียนทรัพย์สินเพื่อการประเมินราคาที่ดินรายแปลง เพื่อพัฒนาระบบการจัดทำฐานข้อมูลแปลงที่ดิน และทะเบียนทรัพย์สินโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศภูมิศาสตร์ เป็นการเตรียมความพร้อมในการเป็นศูนย์ข้อมูลราคาประเมินที่ดินแห่งชาติในอนาคต
"แต่การเปลี่ยนประเมินที่ดินจากรายบล็อคมาเป็นรายแปลงเพื่อเป็นไปตามจริงมากขึ้น แต่ก็จะทำให้ราคาประเมินที่ดินสูงขึ้นด้วย" นายจักรกฤศฎิ์ กล่าว
ข่าวเด่น