เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ธปท.ปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีปี 58 เป็น 2.8% จากเดิม 2.7% แต่ลดประมาณการจีดีพีปี 59 เหลือ 3.5% จาก 3.7% หลังส่งออกจีน-เอเชียชะลอตัว


ธปท.ปรับเพิ่มประมาณการจีดีพีปี 58 เป็น 2.8% จากเดิม 2.7% แต่ลดประมาณการจีดีพีปี 59 เหลือ 3.5% จาก 3.7% หลังส่งออกจีน-เอเชียชะลอตัว พร้อมปรับลดเป้าส่งออกปีนี้เป็นติดลบ 5.5% จากเดิมที่ลบ 5% ด้านปี 59 คาดโต 0% จากเดิมที่คาดอยู่ที่ 1.2% ขณะที่เงินเฟ้อพื้นฐานคาดปีนี้อยู่ที่ 1.1% จากเดิมที่ 1% ด้านปี 59 คาดอยู่ที่0.9% ส่วนเงินเฟ้อทั่วไปปี 58 คาดติดลบ 0.9% ปี 59 คาด 0.8%  ขณะที่การลงทุนภาครัฐปีหน้าคาดโต 8.8% จากปี 58 โต 23.1%  ส่วนการลงทุนเอกชนคาดปี 59 โต 3.9% จาก -2.0% ในปี 58

นายจาตุรงค์ จันทรังษ์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท. ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง. ว่า ธปท.ปรับประมาณการขยายตัวทางเศรษฐกิจ หรือ จีดีพี เพิ่มขึ้นเป็น 2.8% จากประมาณการเดิมที่ 2.7% โดยแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญมาจากการลงทุนภาครัฐและการบริโภคภาคเอกชนมีแนวโน้มขยายตัวสูงกว่าที่ประเมินไว้ ประกอบกับเศรษฐกิจไทยในไตรมาส 4 ขยายตัวอยู่ที่ 0.8% ฟื้นตัวขึ้นจากไตรมาสก่อนที่ 0.7% ขณะเดียวกันหากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนจีดีพีเติบโต 2.7%
  

สำหรับเศรษฐกิจไทยในปี 59 คาดว่าจีดีพีจะขยายตัวได้ 3.5% ต่ำกว่าประมาณการเดิมเล็กน้อยที่ 3.7% เนื่องจากเศรษฐกิจจีนชะลอตัวต่อเนื่อง จากการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจ โดยลดการพึ่งพาการส่งออกและการลงทุน ทำให้ความต้องการสินค้านำเข้าจากประเทศอื่นลดลง ขณะที่เศรษฐกิจเอเชียขยายตัวต่ำกว่าที่คาดจากการส่งออกสินค้าที่หดตัวต่อเนื่อง ทั้งที่ส่งออกไปจีนและค้าขายภายในภูมิภาค
  

“ปัจจัยเสี่ยงของเศรษฐกิจ คือ เศรษฐกิจคู่ค้าขยายตัวต่ำกว่าคาด ปัญหาภัยแล้งมีความรุนแรงและกระทบการผลิตในภาคเกษตรและอุตสาหกรรมมากกว่าคาด นอกจากนี้ที่ประชุมกนง.ยังคงติดตามความผันผวนของตลาดการเงินโลกที่อาจมีมากขึ้น โดยเฉพาะจากการเปลี่ยนแปลงนโยบายการเงินของประเทศอุตสาหกรรมหลัก รวมถึงต้องจับตาความต่อเนื่องของการใช้จ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะการลงทุน และผลของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่อการฟื้นตัวของอุปสงค์ในประเทศ”นายจาตุรงค์ กล่าว
  

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า สำหรับกาปรับจีดีพีดังกล่าวข้างต้นนั้น ยังไม่ได้รวมมาตรการของขวัญปีใหม่ให้กับประชาชน ที่กระทรวงการคลังคาดการณ์ว่าจะกระตุ้นจีดีพีปีนี้โต 0.1-0.2%
  

ด้านการส่งออกของไทยในปีนี้ คาดว่าจะติดลบ 5.5% จากเดิมที่คาดลบ 5% ต่ำกว่าประมาณการเดิม ตามราคาน้ำมันดิบ เช่น ผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมและปิโตรเคมี เคมีภัณฑ์ และยางพารา โดยผลจากการลดลงของราคาจะเห็นผลชัดเจนในปี 2559 ขณะที่การส่งออกในปี 59 คาดว่าจะขยายตัวได้ที่ 0% จากประมาณการเดิม 1.2% จากเศรษฐกิจประเทศคู่ค้าชะลอตัวลง ส่วนนำเข้าในปีนี้คาดว่าจะติดลบ 11.8% ปีหน้าโต 0.9% ด้านดุลบัญชีเดินสะพัดคาดเกินดุล 34,000 ล้านดอลลาร์ และปี 59 คาดเกินดุล 26,300 ล้านดอลลาร์
  

นายจาตุรงค์ กล่าวว่า สำหรับการลงทุนนั้นประเมินว่าในระยะต่อไปรัฐบาลมีแนวโน้มใช้จ่ายลงทุนอย่างต่อเนื่อง โดยประเมินว่า ปี 59 จะลงทุน 8.8% เพิ่มขึ้นจากประมาณการเดิมที่ 4.2% ขณะที่ปีนี้คาดว่าภาครัฐจะลงทุน 23.1% โดยการลงทุนที่เพิ่มขึ้นจะมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจระยะที่ 2 และ 3 นอกจากนี้รัฐวิสาหกิจมีแนวโน้มลงทุนได้มากขึ้นในปี 59 จากโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้มที่เริ่มโครงการได้เร็วกว่าคาดหลัง ครม.มีมติพิจารณาอนุมัติหลักการ สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในปีนี้คาดว่าจะอยู่ที่ติดลบ 2% และปีหน้าขยายตัว 3.9%
  

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนที่ชะลอตัวในปีนี้นั้น มาจากการส่งออกที่ฟื้นตัวช้าและกำลังการผลิตที่เหลือยังอยู่มากส่งผลให้ภาคธุรกิจชะลอการลงทุน แต่อย่างไรก็ตามในอนาคตมีแนวโน้มที่ภาคเอกชนจะลงทุนเพิ่ม จากการใช้จ่ายลงทุนภาครัฐและมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ช่วยสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นให้เกิดการลงทุนของภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการรัฐได้ เช่น การร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐบาลและเอกชน หรือ PPP รวมถึงการก่อสร้างที่อยู่อาศัยตามแนวรถไฟฟ้า
  

ด้านเงินเฟ้อทั่วไปในปี 58 คาดว่าจะติดลบ 0.9% เท่ากับประมาณการครั้งก่อน และในปีหน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 0.8% ลดลงจากประมาณการเดิมที่ 1.2% เนื่องจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลง โดยสมมติฐานราคาน้ำมันดิบดูไบปีนี้คาดอยู่ที่ 51.2 ดอลลาร์ต่อบาเรล ลดลงจากประมาณการครั้งก่อนที่ 52.8 ดอลลาร์ต่อบาเรล และในปี 59 คาดว่าจะลดลงอยู่ที่ 43 ดอลลาร์ต่อบาเรล จากคาดการณ์ครั้งก่อนที่ 51.3 ดอลลาร์ต่อบาเรล
  

ส่วนอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานในปีนี้คาดอยู่ที่ 1.1% เพิ่มขึ้นจาก 1% และในปีหน้าคาดอยู่ที่ 0.9% จากเดิมที่ 0.8% เนื่องจากแรงกดดันจากอุปสงค์ที่เพิ่มขึ้น และการปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตรถยนต์ในเดือนมกราคม 2559 ด้านความเสี่ยงการเกิดภาวะเงินฝืดยังจำกัด เนื่องจากอุปสงค์ยังขยายตัว อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานยังเป็นบวกและการคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะปานกลางยังใกล้เคียงกับเป้าหมายเงินเฟ้อ
               


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 25 ธ.ค. 2558 เวลา : 17:43:22
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 8:24 pm