สถานการณ์การส่งออกของไทยในปี 2559 ยังน่าเป็นห่วงไม่ต่างจากปีนี้ โดยเฉพาะเมื่อกระทรวงพาณิชย์ รายงานการส่งออกในเดือนพฤศจิกายน 2558
โดย นายสมเกียรติ ตรีรัตนพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า กระทรวงพาณิชย์ คาดการณ์ตัวเลขการส่งออกไทยทั้งปีนี้ จะติดลบที่ประมาณ 5.5% แต่ไม่เกิน 7% จากเดิมที่คาดว่าจะติดลบเพียง 3% เนื่องจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง ส่งผลกระทบต่อภาคการส่งออกถึง 10% ของการส่งออกไทยทั้งหมด ประกอบกับภาพรวมเศรษฐกิจโลกที่ยังชะลอตัว จะส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงไตรมาสแรกของปีหน้า อย่างไรก็ตาม ประเมินเป้าหมายการส่งออกปี 2559 ที่ 5% แต่ยังคงต้องจับตามองสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
สำหรับการส่งออกไทยเดือน พ.ย. 2558 ยังติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 11 ที่ 7.42% มีมูลค่าการส่งออกที่ 17,167 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลให้การส่งออกของไทยในรอบ11 เดือน ติดลบ 5.51% คิดเป็นมูลค่า 197,275 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ส่วนการนำเข้า มีมูลค่า 16,868 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ลดลง 9.53% ส่งผลให้ดุลการค้าไทยเกินดุล 299 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
สอดคล้องกับมุมมองของศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่คาดการณ์ว่ามูลค่าการส่งออกปี 59 จะยังไม่ฟื้นตัว ตามอุปสงค์ต่างประเทศที่ชะลอลง ทำให้การส่งออกสินค้าอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนราว 80% ยังมีแนวโน้มหดตัวลง เนื่องจากผลของการส่งออกรถยนต์ไปยังตลาดใหม่จะค่อยๆ ชะลอลง ในขณะที่การส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์จะยังคงถูกกดดันจากการส่งออกสินค้าที่ล้าสมัย เช่นเดียวกับการส่งออกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่คาดว่าจะหดตัวต่อเนื่อง จากการย้ายฐานการผลิตและอุปสงค์ในต่างประเทศที่ชะลอลง นอกจากนี้ ราคาน้ำมันโลกที่มีโอกาสอยู่ในระดับต่ำต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า จะยังกดดันการส่งออกสินค้าที่เชื่อมโยงกับน้ำมันให้หดตัวต่อไป
ส่วนปัจจัยบวกต่อภาคการส่งออกของไทยในปีหน้าจะมาจากการอ่อนค่าของเงินบาท ซึ่งจะช่วยผลักดันการส่งออกสินค้าที่เน้นการแข่งขันด้านราคา อย่างเช่น สินค้าเกษตร ประกอบกับการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ และการส่งออกไปยังตลาดประเทศ กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม ที่มีบทบาทต่อภาคการส่งออกของไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเศรษฐกิจประเทศเหล่านี้ที่ขยายตัวในระดับสูง จะช่วยสนับสนุนอุปสงค์ในประเทศกลุ่มดังกล่าว และช่วยพยุงการส่งออกของไทยในปี 59
ส่วน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ประเมินว่า การส่งออกของไทยในปี 59 ยังคงมีโอกาสที่จะพลิกกลับมาเป็นบวกได้ในกรอบประมาณ0.5-3.5% โดยมีค่ากลางที่ 2.0% เนื่องจากการเทียบกับฐานมูลค่าการส่งออกที่หดตัวลงค่อนข้างลึกในปี 58
ขณะนี้สัญญาณการฟื้นตัวของภาคการส่งออกจะยังคงไม่มีภาพที่ชัดเจนมากนัก โดยต้องจับตา 2 ตัวแปรสำคัญ คือ 1.การชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนในปี 59 (ที่ควรจะเกิดขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และมีความสอดคล้องกับตัวเลขเป้าหมายของทางการ) และ 2.สถานการณ์ราคาน้ำมัน/สินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลก โดยหากสถานการณ์ราคาน้ำมัน/สินค้าโภคภัณฑ์ในตลาดโลกในปี 59 สามารถกลับมาเคลื่อนไหวในกรอบที่มีเสถียรภาพมากขึ้น ก็อาจทำให้แรงกดดันต่อทิศทางราคาสินค้าส่งออกของไทยในภาพรวมทยอยคลายตัวลง
ข่าวเด่น