เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
"สมคิด" งัด 2 แนวทางกระตุ้นเศรษฐกิจปี 59


คงต้องยอมรับว่า เศรษฐกิจโลกปี 2559 นี้  ยังน่าเป็นห่วงจากปัจจัยเสี่ยงที่เข้ามารุมเร้า โดยจะเห็นสัญญาณจากภาวะตลาดหุ้นในต่างประเทศที่ปรับลดลงอย่างรุนแรงในช่วงปีใหม่ที่ผ่านมา จนทำให้ตลาดหุ้นไทยปรับลดลงตาม  


 

โดยในประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)นัดแรกของปี 2559  ก็มีหารือถึงแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปีนี้ โดย พล.ต.สรรเสริญ  แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมครม.กล่าวถึงความคิดเห็นจากบุคคลภายนอกหลายภาคส่วนถึงการการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจและการเมืองในปี 2559 ว่าจะมีสภาพย่ำแย่ แต่ ครม.ได้แสดงความคิดเห็นว่า สถานการณ์ในปี 2559 จะสามารถผ่านไปได้ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลได้แก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง รวมถึงรัฐบาลได้รับฟังความคิดเห็น ข้อเสนอแนะ และภาคประชาชน เพื่อปรับปรุงการแก้ปัญหาของรัฐบาลเช่นเดียวกัน
         

 

ด้าน นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายเศรษฐกิจ ได้ชี้แจงในที่ประชุม ครม. ว่า จะเน้นแนวทางการบริหารเศรษฐกิจ 2 เรื่อง ได้แก่ 1.การดูแลการเติบโตทางเศรษฐกิจให้อยู่เหมาะสม ภายใต้ปัจจัยเศรษฐกิจทั้งภายในและภายนอกประเทศ และ 2.การเดินหน้าขับเคลื่อนการปฏิรูปเศรษฐกิจ เช่น การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ ในรอบ 4 เดือนที่ผ่านมา รวมถึสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจภาคเอกชนให้มาลงทุน และการเปิดกำหนดมาตรการ PPP Fast task
         
ซึ่งหัวหน้าทีมเศรษฐกิจได้ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในปี 2559 อาจจะไม่สดใส เหมือนกับที่หลายฝ่ายคาดการณ์  แต่ยังเชื่อมั่นวิธีการแนวทางเศรษฐกิจที่วางพื้นฐานไว้จะสามารถผ่านไปได้ เพราะรัฐบาลไม่ได้เน้นเรื่องการส่งออกแต่เพียงอย่างเดียว แต่เน้นการเติบโตเศรษฐกิจจากภายใน โดยเตรียมงบประมาณเพื่อลงไปในโครงการที่สอดคล้องกับการปฏิรูปเศรษฐกิจ หรือโครงการประชารัฐ เพื่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานในท้องถิ่นในปี 59 และกำชับให้สำนักงบประมาณเตรียมงบสำรองและงบกลางไว้ เพื่อรักษาโมเมนตัมการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ได้ถึงไตรมาสที่ 3 - 4 ของปี 2559 เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการโครงสร้างพื้นฐานคมนาคมขนส่งที่จะขับเคลื่อนในกลางปี 59 ได้เต็มที่

 

ขณะที่ภาคเอกชนก็ได้ประเมินการส่งออกในปีนี้ว่า น่าจะเติบโตได้เล็กน้อย  โดย นายนพพร เทพสิทธา ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.)  คาดว่า มูลค่าการส่งออกในปี 2559 จะกลับมาเป็นบวกได้ไม่เกิน 2%  มีมูลค่าอยู่ที่ 219,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือส่งออกได้เฉลี่ยเดือนละ 18,200 ล้านดอลลาร์สหรัฐ เพราะมีปัจจัยเสี่ยงที่เด่นชัดขึ้นเรื่อยๆ ทั้งสถานการณ์เศรษฐกิจโลกที่ยังไม่ฟื้นตัวอย่างที่คาดไว้ การเงินโลกผันผวน ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างประเทศขยายวงมากขึ้น และภัยธรรมชาติที่รุนแรงขึ้น

ส่วนความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในปี 59 หลังจากเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) แล้ว คือ การทำอย่างไรให้อาเซียนไปด้วยกัน ไม่ใช่ต่างคนต่างไป แล้วเกิดการได้เปรียบเสียเปรียบ ซึ่งไทยต้องแสดงบทบาทการเป็นผู้นำในการผลักดันการค้าร่วมกันของภูมิภาคนี้ให้ได้ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด  
                


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 05 ม.ค. 2559 เวลา : 22:07:42
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 8:24 pm