การตลาด
สกู๊ป "พลิกกลยุทธ์" รับมือผู้บริโภค ยุคเสพสื่อดราม่า


จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วตามพัฒนาการของเทคโนโลยี ส่งผลให้นักการตลาดในยุคปัจจุบันต้องทำงานหนักมากขึ้น เพราะนอกจากจะต้องตามพฤติกรรมของผู้บริโภคให้ทันแล้ว ยังต้องตามการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีให้ทันอีกด้วย เพราะถ้าหากตามไม่ทัน การทำตลาดให้กับสินค้านั้นๆ ก็จะประสบกับความล้มเหลว

 

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้บริษัท เอ็นไวโรเซล (ประเทศไทย) จำกัด ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยา และ พฤติกรรมผู้บริโภคออกมาเปิดเผยว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคในปี 2559 จะมีความซับซ้อนมากขึ้น เนื่องจากผู้บริโภคยุคใหม่จะไม่ชอบการรอคอย ไม่รู้จักความลำบาก ขณะเดียวกันยังเสพติดสื่อโซเชียลเป็นชีวิตจิตใจ ทำให้ผู้บริโภคในยุคปัจจุบันดำเนินชีวิตอยู่ในโลกของความดราม่า

 

น.ส.สรินพร จิวานันต์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอ็นไวโรเซล (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า สืบเนื่องจากปี 2557 ที่ผ่านมา บริษัทได้มีการวิเคราะห์ค่านิยม 8 ประการของคนในปี 2558 ประกอบด้วย 1. อยากรวยลัด 2.งามภายนอก 3. ช่วยเหลือตัวเอง 4.ไม่ผูกมัด 5. อย่าปิดบัง 6. วัฒนธรรมเดียวกัน 7. มาตรฐานสูง  และ 8. ซื้อน้อยแต่ได้เยอะ จากข้อมูลของการวิเคราะห์ที่ได้มาดังกล่าวสามารถนำมาวิเคราะห์ต่อเนื่องในปี 2559 ได้ว่า พัฒนาการของผู้บริโภคจะเพิ่มดีกรีความซับซ้อนของพฤติกรรมการใช้ชีวิต และความต้องการพื้นฐานมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีมีการพัฒนาให้ผู้บริโภคใช้ชีวิตอย่างสะดวกสบายมากขึ้น

ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ได้มีการศึกษาเพิ่มเติมในปี 2558 ทำให้บริษัท เอ็นไวโรเซลฯ สามารถจำแนกออกเป็น 6 ค่านิยมหลักๆ ของผู้บริโภคได้ดังนี้  1.สุขนิยม (JoyLust)  การเติบโตของเทคโนโลยี สังคมดิจิตอลทั้งหลาย ทำให้คนเราไม่ต้องทนทุกข์ ทนลำบาก เหมือนคนในยุคก่อน ตัวอย่างเช่น ล่าสุดที่สหรัฐอเมริกามีเครื่องดูดฟันคุด ไม่ต้องผ่าตัด ไม่สร้างความเจ็บปวดทรมานเหมือนสมัยก่อน เห็นได้ชัดว่าต่อไปเด็กรุ่นใหม่แทบไม่ต้องผ่านความเจ็บปวดเลย โดยเฉพาะเด็กที่ถูกเลี้ยงมาด้วยพ่อแม่ที่ไม่อยากให้ลูกต้องลำบากเหมือนตัวเอง คนรุ่นใหม่เลยสบายจากรุ่นสู่รุ่น และเมื่อไม่ต้องทนกับความเจ็บปวดมากมาย ไม่มีประสบการณ์เรียนรู้ชีวิต มาตรฐานความสุขมันก็จะสูงขึ้นเรื่อยๆ บวกกับการที่มีสื่อสังคมออนไลน์ หรือโซเชียลมีเดีย (social media)  เข้ามาในชีวิต ทำให้เกิดการเปรียบเทียบ และการประเมินตนเองตลอดเวลา เช่น ลงรูปแล้วคนกดไลค์น้อยก็เครียดได้ ประเมินตนเองว่าลงรูปไม่น่าสนใจ เห็นคนอื่นลงชีวิตดีๆ ก็เกิดการเปรียบเทียบ  เป็นต้น

 

ค่านิยมที่ 2 คือ  แบบฉบับนิยม (I-Mage)  จากสถิติในปี 2557 บอกว่า ผู้บริโภคมีการอัพโหลดรูป 1.8 พันล้านรูปต่อวัน และ 80% ของการอัพโหลด คือ โชว์ด้านดีของตัวเอง สมัยก่อนคนเราไม่ได้มีเครื่องมือที่จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ตัวเอง คือ ไม่มีช่องทางรับรู้ชีวิตคนอื่น และบอกกล่าวชีวิตตนเอง แต่ทุกวันนี้ด้วยเครื่องมือดังกล่าว มนุษย์จึงรับรู้เรื่องราวของกันและกันตลอดเวลา ซึ่งส่วนใหญ่โชว์แต่ด้านดี จึงกลายเป็นค่านิยมแบรนด์ดิ้งตัวเอง ต้องการที่จะออกแบบชีวิตเอง ไม่ต้องการอยู่ในกรอบ จะเห็นว่ามนุษย์ทุกวันนี้ แสดงความเป็นตัวของตัวเองเต็มที่  จากแนวโน้มที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้คนทำงานงานอิสระ หรือฟรีแลนซ์ (freelance) มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง  และในอนาคตคาดว่าจะโต 30% จากปี 2557 เป็น 40% ในปี 2563

ในส่วนของค่านิยมที่ 3 คือ ธรรมชาตินิยม  (Farm-ganic)  แม้ว่าผู้บริโภคในปัจจุบันจะเสพติดกับเทคโนโลยี  แต่ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็ต้องการสัมผัสของดีท้องถิ่น สุขภาพที่ดี ของสด ปลอดสาร ใช้ชีวิตท่องเที่ยว และต้องการไลฟสไตล์แบบออร์แกนิค จากแนวโน้มดังกล่าว ส่งผลให้กลายเป็นเทรนด์ที่จะมาแรงในปี 2559  นี้ ด้วยระบบลอจิสติกส์ ที่เอื้อต่อการส่งตรงจากฟาร์ม ทำให้ผู้บริโภคได้ของออร์แกนิคในราคาที่ถูกลง

นอกจากนี้  จาความนิยมที่แพร่หลายของไลฟ์สไตล์แบบออแกนิค ส่งผลให้ผู้บริโภคที่ใช้ชีวิตดังกล่าวมีความเท่ห์  และเป็นที่รู้จักในสังคม ทำให้การแบ่งชนชั้นของคนในปี 2559 เปลี่ยนไป คือ จะไม่มีการแบ่งชนชั้นด้วยรายได้ แต่จะแบ่งด้วยไลฟ์สไตล์มากขึ้น ซึ่งจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้เกิดค่านิยมที่ 4 คือ สันโดษนิยม (Sole-cial)  จากการใช้ชีวิต  ¼  ของมนุษย์ที่หมดไปกับใช้เวลาในการสังคมออนไลน์ มากกว่าสังคมกายภาพ และเพลินที่จะอยู่ในสังคมดิจิตอล เพราะเป็นสังคมเสมือนฝัน ที่โพสต์ แล้วมีคนเข้ามาร่วมกดไลค์ ชื่นชม เหมือนการสร้างโลกส่วนตัวที่ไม่มีคนติ มีแต่คนชม มนุษย์จะค่อยๆ พัฒนาไปสู่การสังคมแบบดิจิตอล คือหาเพื่อนที่เป็นผู้รับฟังที่ดี โดยไม่ตอบโต้หรือแสดงความเห็นเชิงลบ และสุดท้ายจะมีเพื่อนในรูปแบบดิจิตอลจริงๆ นั่นคือ หุ่นยนต์นั่นเอง

จากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นดังกล่าว ส่งผลให้มนุษย์ยุค 2559  ไม่ค่อยรู้สึกอะไรมากนักกับการไม่เจอเพื่อน แต่ 79% จะกังวล ถ้าไม่มีโทรศัพท์ติดตัว นอกจากนี้ การรับประทานอาหารคนเดียว (solo dinner) เติบโต 62% ในสหรัฐอเมริกา ในช่วง 2  ปีที่ผ่านมา ในขณะเดียวกันปี 2015 ที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางคนเดียว 24% เติบโตขึ้น 10% (จาก 15% ในปี 2013) และมีการคาดการณ์ว่า ที่อยู่อาศัยแบบอยู่คนเดียว จะมีอัตราการเติบโตสูงที่สุด มนุษย์จะมีความเกี่ยวพันกันน้อยลงเรื่อยๆ

สำหรับค่านิยมที่ 5 ที่จะเกิดขึ้นในปี 2559 คือ ดรามานิยม (Dramaqueen) จากเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น ส่งผลให้คนยุคใหม่ไม่ต้องเสียเวลากับเรื่องที่ทำให้เสียเวลาอย่างสมัยก่อน เช่น การทำธุรกรรมทางออนไลน์  (banking online) หรือ ช้อปปิ้งออนไลน์ โดยไม่ต้องรออาหารก็หาซื้อง่ายๆ ไม่ต้องทำเอง อีกทั้งยังมีเทคโนโลยีที่คอยอำนวยความสะดวก เช่น ซักผ้าก็ใช้เครื่องซักผ้า ไม่ต้องนั่งซักเอง แต่ที่คนเรารู้สึกไม่มีเวลา เพราะจิตใจต่างหากที่ไม่ว่าง อันที่จริงแล้วเวลาว่างมากจนทำให้มีเวลาไปคอยสอดส่องในโซเชียลมีเดียทั้งหลาย ไปสนใจเรื่องราวของคนอื่น แล้วก็รับรู้เรื่องราวของคนอื่นมากมาย จนเวลาหมดไปแล้วก็รู้สึกไม่มีเวลา

การเสพติดโซเชียลที่เกิดขึ้นดังกล่าว  ส่งผลให้ประเทศไทยกลายเป็นประเทศที่มีผู้บริโภคใช้เวลาไปกับโซเชียลมีเดียมากถึง 4 ชั่วโมงโดยเฉลี่ยต่อวัน  ใช้ชีวิตอยู่กับการดูละครชีวิตของคนอื่นตลอดเวลา ซึ่งจากแนวโน้มดังกล่าวจึงเป็นที่มาของการเสพติดดรามา และโดยเฉพาะโซเชียลเน็ตเวิร์คเป็นช่องทางที่เปิดโอกาสให้มนุษย์ได้พูด ได้แสดงออกอย่างเสรี

 

 

ส่วนค่านิยมสุดท้าย คือ อัตโนมัตินิยม  (Automatism) จากเทคโนโลยีที่เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตผู้บริโภค ส่งผลให้ปัจจุบันคนไทยเริ่มเสพติดการใช้บริการต่างๆ แบบอัตโนมัติ  เช่น การเรียกใช้บริการรถแท็กซี่ผ่านแอพพลิเคชั่นแบบไม่ต้องเสี่ยงโดนปฎิเสธ และไม่ต้องเสียเวลาเรียก หรือเสียเวลารอ  และล่าสุดเด็กรุ่นใหม่กำลังจะมีแอพลิเคชันที่แปลภาษาแบบทันทีทันใด (real time) ไม่ต้องเสียเวลานั่งเรียนภาษาก็ยังสามารถพูดคุยกับชาวต่างชาติกันรู้เรื่อง โดยผ่านคำสั่งเสียง (voice control) ที่แค่พูดเครื่องก็พิมพ์ให้เลย  

น.ส.สรินพร กล่าวต่อว่า จากพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปดังกล่าว  ส่งผลให้ผู้บริโภคปี 2559  จะมีพัฒนาการเรื่องเอาแต่ใจตัวเองเพิ่มมากขึ้น นิยามชนชั้นด้วยไลฟสไตล์  ในรูปแบบ emotional ผลิตภัณฑ์ที่ไม่ได้ดั่งใจ  และมีข้อผิดพลาดหากไม่เร่งแก้ไขก็อาจจะทำให้สินค้าแบรนด์นั้นได้รับผลกระทบทางธุรกิจทันที

อย่างไรก็ดี  หากนักการตลาดและภาคธุรกิจทำความเข้าใจข้อมูลดังกล่าว ก็จะสามารถวิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างแม่นยำมากยิ่งขึ้น  ขณะเดียวกันก็ควรเตรียมพร้อมรับมือกับพฤติกรรม และความต้องการของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปให้ได้ทันท่วงที พร้อมปรับปรุงสินค้าและบริการได้เหมาะสมกับความต้องการของผู้บริโภคในยุคนั้นๆ เพียงแค่นี้สินค้าที่จะนำเข้ามาทำตลาดก็ได้รับความสนใจ และนำมาซึ่งยอดขายแล้ว


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 06 ม.ค. 2559 เวลา : 00:51:26
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 2:21 pm