เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
เตือนรับมือ "เงินบาท" ปี 59 ผันผวน


ปี 2559  นับเป็นอีก 1 ปี  ทื่เป็นความท้าทายของเงินบาท เนื่องจากปัจจัยเสี่ยงที่มาจากภายนอกประเทศ ทั้งการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน  และการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ

 

 

นางจันทวรรณ สุจริตกุล ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายตลาดการเงิน  ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า ความผันผวนที่เกิดขึ้นกับตลาดการเงินไทยหลังช่วงปีใหม่นี้  เป็นผลมาจากปัจจัยภายนอกเป็นสำคัญ ได้แก่ การปรับลดลงของดัชนีตลาดหุ้นจีนที่สัปดาห์นี้ปรับลดลงแล้วถึง 12% จนทำให้ต้องประกาศหยุดทำการซื้อขายชั่วคราว (circuit breaker)  สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการประกาศตัวเลข Purchasing Managers Index (PMI) ของจีน ทั้งในภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการที่ชะลอลง ทำให้ความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนมีน้ำหนักมากขึ้น
         

 

นอกจากนี้ ทางการจีนยังกำหนดค่าเงินหยวนอ่อนค่าต่อเนื่อง ทำให้ตั้งแต่ต้นปีเงินหยวนที่ซื้อขายในประเทศจีน (CNY) และที่ซื้อขายในตลาดต่างประเทศ (CNH) อ่อนค่าไป 1.5% และ 1.9% ตามลำดับ รวมถึงผลจากความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น ทั้งความขัดแย้งระหว่างซาอุดีอาระเบียและอิหร่าน และการทดลองระเบิดปรมาณูของเกาหลีเหนือ ปัจจัยต่าง ๆ ดังกล่าวส่งผลให้ความเชื่อมั่นโดยรวมของตลาดการเงินโลกอ่อนแอลง และกดดันตลาดหุ้นและค่าเงินภูมิภาคปรับอ่อนค่าลง
         
สำหรับค่าเงินบาท ตั้งแต่ต้นปีเคลื่อนไหวในกรอบ 36.08-36.35 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยอ่อนค่าลงประมาณ 0.7%  นับจากสิ้นปีที่แล้ว การอ่อนค่าของเงินบาทดังกล่าว ถือว่า สอดคล้องกับค่าเงินในภูมิภาคท่ามกลางความเสี่ยงในตลาดการเงินโลกที่มีมากขึ้น
         
และขณะนี้ยังไม่พบว่า มีสัญญาณความผิดปกติหรือความตื่นตระหนกเกิดขึ้นในตลาด สำหรับภาคเอกชนควรติดตามสถานการณ์ความผันผวนของตลาดการเงินโลกอย่างใกล้ชิด และพิจารณาป้องกันความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยนไว้ล่วงหน้า เพื่อรองรับกับความผันผวนที่มีแนวโน้มว่าจะคงอยู่ในระดับสูงต่อไป

 

ด้านผู้เชี่ยวชาญด้านตลาดเงินตลาดทุน นายอมรเทพ จาวะลา ผู้อำนวยการอาวุโส สำนักวิจัย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ทิศทางค่าเงินบาทปี 2559 มีแนวโน้มผันผวนมากกว่าปีที่ผ่านมา โดย สำนักวิจัยฯคาดการณ์ค่าเงินบาทปีนี้ไว้ที่ระดับ 38 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ โดยมีโอกาสที่ค่าเงินบาทจะอ่อนค่าแตะ 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ และบางจังหวะมีโอกาสแข็งค่าไปที่ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐได้

ปีนี้จึงเป็นปีที่ยาก เพราะปีนี้เงินบาทมีโอกาสทั้งอ่อนค่าและแข็งค่าเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งนับว่ายากสำหรับผู้ส่งออกและผู้นำเข้าในการป้องกันความเสี่ยงค่าเงิน

ซึ่งสถานการณ์ที่ค่าเงินบาทจะไป 40 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เกิดขึ้นต่อเมื่อสงครามค่าเงินประทุ นำโดยจีนที่ลดค่าเงินหยวนแรง ขณะที่การส่งออกไทยยังคงหดตัวต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 จะยิ่งมีแรงกดดันให้ผู้ดำเนินนโยบายออกมาตรการให้เงินบาทต้องอ่อนค่าเพื่อประคองเศรษฐกิจ

 

 

นอกจากนี้ หากราคาน้ำมันกลับมาขึ้นแรง จากความไม่สงบในตะวันออกกลาง ดุลบัญชีเดินสะพัดจะพลิกมาเป็นขาดดุล เงินสำรองระหว่างประเทศลดลง เกิดภาวะเงินไหลออกมากขึ้น ซึ่งทั้งหมดนี้จะยิ่งซ้ำเติมให้เงินบาทอ่อนค่าแรงได้
         
ส่วนสถานการณ์ที่เงินบาทจะไป 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ เกิดขึ้นในกรณีราคาน้ำมันลดลงแรง กดดันให้อัตราเงินเฟ้อทั่วโลกอยู่ในระดับต่ำ ทั้งเงินเฟ้อปัจจุบัน และเงินเฟ้อคาดการณ์ในอนาคต คนคาดว่าราคาสินค้าจะไม่เปลี่ยนแปลงอีกนานหรืออาจลดลงได้อีก จะส่งผลให้คนไม่อยากลงทุน เพราะผลิตสินค้ามาขายก็อาจขาดทุน ไม่คุ้มรายจ่ายดอกเบี้ยที่กู้จากธนาคาร
         
นอกจากนี้ เศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่คาดว่าจะเข้มแข็งโตได้ราว 2.5% ในปีนี้ ก็อาจพลาดเป้า และอาจส่งผลให้จำใจต้องลดดอกเบี้ยกลับมาจุดเดิม หรืออาจออกมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณรอบที่ 4 ก็ได้ สังเกตจากหลังวิกฤตการเงินโลกปี 2551 ไม่เคยมีธนาคารกลางของประเทศสำคัญใดที่ขึ้นดอกเบี้ยสำเร็จ สุดท้ายทุกประเทศที่เคยขึ้นดอกเบี้ยไปก็กลับมาลดดอกเบี้ย เพราะเผชิญปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว


บันทึกโดย : Adminวันที่ : 08 ม.ค. 2559 เวลา : 07:28:01
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 9:30 pm