ในโลกปัจจุบันกล่าวได้ว่า การพัฒนาแอพพลิเคชั่นบนอุปกรณ์เคลื่อนที่มีมากมายให้เลือกใช้และแต่ละองค์กรธุรกิจนิยมพัฒนาแอพฯเป็นของตนเอง เพื่อเป็นช่องทางเสริมธุรกิจอีกทางหนึ่ง สำหรับองค์กรภาครัฐของไทยที่ผ่านมาได้ส่งเสริมการพัฒนาแอพฯขึ้นเช่นกัน
ล่าสุดเพิ่งเปิดเวทีปีที่2 “Mobile Enterprise d-Government Awards 2015” (MEGA2015) นอกจากเป็นการส่งเสริมการพัฒนาบุคคลกรด้านดิจิตอลแล้ว ยังมีเป้าหมายเพื่อได้ใช้บริการประชาชน เพิ่มความสะดวกในการเข้าถึงข้อมูลและความฉับไวในการใช้บริการ โดยแอพฯเหล่านี้ต่อไปจะถูกนำไปรวมไว้ที่ “ศูนย์กลางแอพพลิเคชั่นภาครัฐ” (Government Application Center)
รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ประธานกรรมการบริหาร สำนักงานรัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) หรือ EGA เปิดเผยว่า โครงการประกวดผลงานนวัตกรรมการพัฒนาโมบาย แอพพลิเคชัน ภาครัฐ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ประจำปี 2558 หรือ Mobile Enterprise d-Government Awards 2015 (MEGA2015) ซึ่งจัดขึ้นเป็นปีที่ 2 นี้ เป็นการปลุกกระแสให้ทั้งวงการภาครัฐที่เป็นเจ้าของข้อมูลและนักพัฒนาแอพพลิเคชันในส่วนต่างๆ ของประเทศ ได้เกิดความร่วมมือกันในขั้นต้น สู่การที่แอพพลิเคชันใหม่ๆ ของภาครัฐจะกลายเป็น service application หรือแอพพลิเคชันภาครัฐที่เน้นการให้บริการ เกิดธุรกรรมที่ใช้งานจากประชาชน ไม่ใช่เป็นเพียงแอพพลิเคชันที่ให้แค่ตัวหนังสือ ข่าวสารบางด้าน หรือให้ประชาชนรู้จักองค์กรของตนเองเท่านั้น ภาครัฐต้องเปลี่ยนข้อมูลและสิ่งต่างๆ ที่มีในเว็บ ในแอพพลิเคชันเดิม ให้กลายเป็นบริการ ให้ประชาชนได้เข้าไปใช้งาน ให้ประชาชนได้เห็นประโยชน์ ให้ประชาชนได้เข้าถึงงานบริการของภาครัฐได้ง่ายขึ้นและตัดปัญหาทางด้านต่างๆ ของการให้บริการภาครัฐลงไป
ทั้งนี้ในการจัดงาน EGA ได้ร่วมมือกับหน่วยงานพันธมิตรหลายแห่ง ได้แก่ สำนักราชเลขาธิการ, สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน), เขตอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ประเทศไทย, ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ, กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม, สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ, บริษัท ไอบีเอ็ม ประเทศไทย จำกัด และ บริษัท ไทยซัมซุง อิเลคโทรนิคส์ จำกัด
ทาง EGA คาดหวังว่า จะมีแอพฯ จากการประกวดติดอันดับยอดดาวน์โหลดจากประชาชนสูงสุดในปีถัดไปเหมือนเช่นเคย และ EGA จะเข้าช่วยสร้างสภาพการแข่งขันของแต่ละแอพฯ ให้มากขึ้น เพื่อกระตุ้นตลาดการใช้แอพฯภาครัฐให้มากขึ้นไปพร้อมกัน
สำหรับการประกวด แบ่งเป็น 2 ประเภท คือ 1. ประเภทสุดยอดแนวคิด เป็นการนำเสนอความคิดของนวัตกรรมในรูปแบบของแผนธุรกิจ ทั้งด้านเทคนิค เทคโนโลยี การตลาด และการลงทุน 2. ประเภทสุดยอดนวัตกรรม เป็นการนำเสนอผลงาน หรือ นวัตกรรม ที่กำลังพัฒนา หรือพัฒนาสำเร็จแล้ว
ส่วนผู้สมัครต้องสมัครเป็นทีมๆ ละไม่เกิน 3 คน เปิดกว้างให้ผู้สนใจร่วมการประกวด แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ 1. กลุ่มนิสิต นักศึกษา ทุกระดับชั้น (ประเภทสุดยอดแนวคิด) ที่ศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาต่างๆ ในภาครัฐ และเอกชน 2.กลุ่มนักพัฒนาอิสระ และผู้ประกอบการซอฟต์แวร์ไทย (ประเภทสุดยอดนวัตกรรม) โดยต้องเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนประกอบธุรกิจถูกต้องตามกฎหมาย
ระยะเวลาในการแข่งขัน ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2558 ถึง เดือนมิถุนายน 2559 แบ่งการแข่งขันเป็น 2 รอบ คือ รอบแรก การคัดเลือกข้อเสนอโครงการ (Proposal) และ รอบชิงชนะเลิศหรือ รอบนำเสนอ (Prototype) โดยผู้ที่ผ่านเข้ารอบชิงชนะเลิศ จำนวน 30 ทีม จะได้สิทธิพิเศษ คือ ร่วมกิจกรรมแคมป์บ่มเพาะ (3 วัน 2 คืน) เพื่อเป็นการสนับสนุนเพิ่มพูนความรู้ผ่านหลักสูตรต่างๆ อย่างรอบด้าน ผ่านการกระบวนการบ่มเพาะธุรกิจที่มีแบบแผน สามารถต่อยอดหรือมุ่งสู่การเป็นผู้ประกอบการ และดำเนินธุรกิจได้อย่างมั่นคงต่อไป
สำหรับเงื่อนไขการสมัครเข้าร่วมประกวดนั้น ผู้สมัครเลือกส่งผลงานประกวดได้ประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น คือ เลือกประเภท สุดยอดแนวคิด หรือ สุดยอดนวัตกรรม เพียงหนึ่งประเภทเท่านั้น ในแต่ละประเภทสามารถส่งผลงานได้ไม่เกิน 2 ผลงาน ผลงานที่นำเสนอจะต้องเป็นผลงานที่ไม่ได้ลอกเลียนแนวคิดมาจากที่ใด หรือละเมิดลิขสิทธิ์จากผลงานอื่นๆ ในกรณีผลงานผ่านการประกวดอื่นๆ มาแล้ว ผู้ประกวดสามารถนำผลงานนั้นเข้าร่วมประกวดในโครงการนี้ได้อีก แต่ต้องไม่เคยได้รับรางวัลใดๆ มาก่อน
แต่ถ้าเป็นผลงานเคยได้รับรางวัลจากการประกวดอื่นๆ มาแล้ว หรือ เผยแพร่ หรือ ผ่านการติดตั้งบน Store หรือเปิดใช้บริการเกิดผลประโยชน์ในแง่ธุรกิจแล้ว จะอนุญาตให้ร่วมประกวดได้ โดยมีเงื่อนไขคือ ขอให้ต่อยอดพัฒนาผลงานเพิ่มเติมใหม่ให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ของโครงการ และให้เขียนรายงานเปรียบเทียบข้อแตกต่างผลงานก่อนและหลัง
ข้อเสนอสุดพิเศษของโครงการนี้ คือ การเพิ่มสิทธิในการได้รับรางวัล เพื่อเพิ่มโอกาสการได้รับรางวัลพิเศษในการประกวด ได้แก่ 1. การนำชุดข้อมูลภาครัฐในศูนย์กลางข้อมูลภาครัฐ หรือ Data.go.th มาใช้เป็นส่วนหนึ่งของข้อมูลสำหรับการประกวด 2. การเชิญหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมให้โจทย์สำคัญแก่ผู้ประกวดนำไปพัฒนาเป็นแนวคิดหรือผลงานต้นแบบ ได้แก่ แอพฯ ด้านสิ่งแวดล้อม โดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อสร้างจิตสำนึกป้องกันลดการเผาในที่โล่งและหมอกควัน และแอพฯ ด้านบริการแพทย์ฉุกเฉิน โดย สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ เกี่ยวกับการพัฒนาระบบการแพทย์ฉุกเฉินให้ได้มาตรฐาน เพื่อให้บุคคลทั่วไปเข้าถึงได้อย่างทั่วถึงและเท่าเทียม พร้อมรับภาวะสาธารณภัย โดยทั้ง 2 แอพฯ ดังกล่าว จะนำไปต่อยอดร่วมกับหน่วยงานภาครัฐทั้ง 2 แห่ง เพื่อผลักดันให้เกิดการใช้งานได้จริงต่อไป
รางวัลที่ผู้เข้าประกวดจะได้รับ คือ เงินรางวัล ซึ่งมีทั้งสิ้น 8 รางวัลหลัก คือ ประเภทสุดยอดแนวคิดและประเภทสุดยอดนวัตกรรม (ประเภทละ 4 รางวัล) ได้แก่ 1. รางวัลชนะเลิศ คือ ถ้วยรางวัลพระราชทานและเกียรติบัตร พร้อมทุนสนับสนุน 70,000 บาท 2. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 คือ เกียรติบัตร พร้อมทุนสนับสนุน 40,000 บาท 3. รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 คือ เกียรติบัตร พร้อมทุนสนับสนุน 20,000 บาท และ 4. รางวัลชมเชย คือ เกียรติบัตร พร้อมทุนสนับสนุน รางวัลละ 10,000 บาท
นอกจากนั้น การประกวดจะมีการมอบรางวัลพิเศษอีก 8 รางวัล ได้แก่ รางวัล Government Data Award 1 รางวัล คือ ทุนสนับสนุน 10,000 บาท , รางวัล People’s Choice Award คือ ทุนสนับสนุน 10,000 บาท และมีรางวัลจากหมวด 3 รางวัลๆ ละ 10,000 บาท คือ รางวัลยอดเยี่ยมด้านเสริมสร้างคุณภาพชีวิต สังคม สิ่งแวดล้อมรางวัลยอดเยี่ยมด้านเสริมสร้างความรู้ การบริการ สวัสดิการ , รางวัลยอดเยี่ยมด้านส่งเสริมด้านเศรษฐกิจ ลงทุน ท่องเที่ยว
และสุดท้ายคือ รางวัลจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ได้แก่ รางวัลสุดยอดแอพฯ ด้านสิ่งแวดล้อม จำนวน 1 รางวัล สนับสนุนโดย กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม คือ ทุนสนับสนุน 30,000 บาท และ รางวัลสุดยอดแอพด้านการแพทย์ฉุกเฉิน จำนวน 1 รางวัล สนับสนุนโดยสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ คือ ทุนสนับสนุน 10,000 บาท รางวัลจากหน่วยงานภาคเอกชน คือ รางวัล The Best Enterprise Mobile Application Award จำนวน 1 รางวัล สนับสนุนโดยไอบีเอ็ม และ รางวัล Samsung IOT จำนวน 1 รางวัล สนับสนุนโดย Samsung
รางวัลสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ผู้เข้าประกวดจะได้รับคือ โอกาสการต่อยอดทางธุรกิจ (Business Opportunity) กับหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งในการประกวดครั้งที่ผ่านมา EGA ได้เชื่อมต่อผู้เข้าประกวดเข้ากับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง จนสามารถเกิดเป็นแอพพลิเคชันที่ใช้งานเชิงพาณิชย์ได้จริงหลายแอพพลิเคชัน ซึ่งปีนี้จะมีการสานต่อแนวคิดนี้ต่อไปเพื่อเพิ่มจำนวนแอพพลิเคชันที่ใช้งานจริงให้มากขึ้น
ถือเป็นโอกาสดี ๆ สำหรับผู้มีฝีมือทางด้านนี้ ใครสนใจเข้าร่วมการประกวด สามารถเข้าไปดูรายละเอียดและกรอกใบสมัครออนไลน์ได้ที่ mega.apps.go.th ไม่แน่ ผู้ชนะอาจจะเป็นคุณก็ได้...
ข่าวเด่น