ธนาคารออมสิน เดินหน้าช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี อย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายรัฐบาล จัด “ซอฟท์โลน ระยะ ๒” วงเงินกู้ ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท เงื่อนไขใหม่ ให้วงเงินกู้รายละไม่เกิน ๑๐ ล้านบาท เพื่อให้ เอสเอ็มอีรายเล็ก เข้าถึงแหล่งทุนนี้มากที่สุด คาดธุรกิจรายย่อย ๕,๐๐๐ รายได้รับความช่วยเหลือ
วันนี้ (๑๑ มกราคม ๒๕๕๙) ได้มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลง “โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs” ระหว่าง ธนาคารออมสิน สถาบันการเงินของรัฐ และและธนาคารพาณิชย์ รวมทั้งหมด ๒๐ แห่ง
นายชาติชาย พยุหนาวีชัย ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลโดยดำริของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้มอบหมายให้ทีมเศรษฐกิจของรัฐบาล ภายใต้การนำ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี และ นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติให้ดำเนินการภายใต้ “มาตรการการเงินการคลังเพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ในระยะเร่งด่วน” ผ่าน “โครงการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟท์โลน) เพื่อเป็นเงินทุนหมุนเวียนให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs” วงเงิน ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ให้สถาบันการเงินนำไปปล่อยสินเชื่อต่อแก่ผู้ประกอบการ SMEs ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ ๔ ต่อปี ซึ่งธนาคารออมสินได้เริ่มดำเนินโครงการตั้งแต่เมื่อวันที่ ๑๘ กันยายน ๒๕๕๘ ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ ปรากฏว่า โครงการดังกล่าว (ระยะแรก) ประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่ง หลังจากที่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมโครงการรวม ๑๙ แห่ง ที่เข้าร่วมโครงการได้รับแจ้งความประสงค์จากลูกค้าผู้ประกอบการ SMEsซึ่งมีความต้องการวงเงินกู้นี้จำนวนมาก ทำให้ปล่อยกู้เต็มวงเงิน ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ไปเมื่อวันที่ ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๕๘ โดยมีผู้ประกอบการเข้าร่วมโครงการไปรวมจำนวนทั้งสิ้น ๑๑,๗๕๐ ราย
อย่างไรก็ตาม รัฐบาลเห็นว่า ยังมีผู้ประกอบการอีกจำนวนหนึ่งที่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ และได้แจ้งความประสงค์อยากให้รัฐบาลเพิ่มเติมวงเงินกู้รูปแบบนี้อีก รัฐบาลจึงได้มอบหมายให้ธนาคารออมสิน เร่งดำเนินปล่อยเงินกู้โครงการระยะที่ ๒ หลังจากคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติเมื่อวันที่ ๒๒ ธันวาคม ๒๕๕๘ เป็นที่เรียบร้อย สำหรับโครงการระยะที่ ๒ นี้ มีวงเงิน ๕๐,๐๐๐ ล้านบาท มีเงื่อนไขที่แตกต่างจากโครงการระยะแรก เพียงแค่เงื่อนไขเดียว คือ จำกัดวงเงินสินเชื่อต่อรายไว้ไม่เกิน ๑๐ ล้านบาท (โครงการแรกกำหนดไว้ไม่เกิน ๕๐ ล้านบาท) ส่วนอัตราดอกเบี้ย เงื่อนไขอื่นๆ เหมือนโครงการระยะแรก โดยคาดว่าจะมีผู้ประกอบการเข้าโครงการนี้ได้ประมาณ ๕,๐๐๐ ราย
“รัฐบาล เล็งเห็นว่าควรต้องช่วยเหลือเอสเอ็มอีรายย่อยๆ ให้ได้ ธนาคารออมสิน และทุกสถาบันการเงิน พร้อมที่จะเป็นกลไกผลักดันวงเงินกู้ซอฟท์โลนระยะ ๒ นี้ ให้ไปถึงมือผู้ประกอบการให้ได้โดยเร็วที่สุด ซึ่งเงินกู้นี้จะไปผลักดันให้เกิดการหมุนเวียนในกิจกรรมต่างๆ ในระบบเศรษฐกิจอีกมาก” ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวในที่สุด.
ข่าวเด่น