ปัจจุบันคงต้องยอมรับแล้วว่า การสร้างความเติบโตที่ยั่งยืนให้กับเศรษฐกิจไทย หนีไม่พ้นการวางพื้นฐานด้านธุรกิจ และเศรษฐกิจให้กับชุมชน เช่น การเติบโตในแหล่งชนบทของญี่ปุ่น ซึ่งทำให้เกิดสินค้า OTOP ที่โด่งดังไปทั่วโลก
โดยในส่วนของชุมชนหรือชนบทของไทยเอง รัฐบาลก็มีนโยบายที่จะให้เกิดการพัฒนาและการเติบโตที่ยั่งยืนเช่นกัน โดย นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 13 ม.ค.ที่ผ่านมา องค์กรชุมชน หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชน รวม 33 องค์กร ได้ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (เอ็มโอยู) การขับเคลื่อนรูปธรรมความร่วมมือในการสร้างเศรษฐกิจฐานรากภายใต้ยุทธศาสตร์ประชารัฐ ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างประชารัฐให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของรัฐบาลที่ต้องการสร้างความร่วมมือในลักษณะนี้ให้เกิดขึ้น เพื่อให้เป็นก้าวแรกของการสร้างเศรษฐกิจไทยให้เกิดความแข็งแกร่งขึ้นมาจากภายใน โดยเฉพาะเข้ามาร่วมมือของภาคเอกชนที่มีความตั้งใจเข้ามาช่วยรัฐบาลขับเคลื่อนประเทศให้เติบโต
ทั้งนี้ รัฐบาลได้ขอความร่วมมือกับภาคเอกชนให้รับซื้อสินค้าภาคเกษตร เพราะเมื่อเกษตรกรผลิตสินค้าเพิ่มจะต้องมีตลาดให้เพื่อให้เกิดความมั่นใจ ซึ่งจะต้องได้รับความเอื้อเฟื้อจากภาคเอกชน โดยภาคเอกชนทุกค่ายทุกสำนักจะมาร่วมมือกัน และองค์กรเหล่านี้มีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกับต่างประเทศ แทนที่จะรวยคนเดียวเก็บเงียบคนเดียวจะเชื่อมโยงกับเกษตรกรในท้องถิ่นนำสินค้าไปจำหน่ายในร้านโมเดิร์นเทรดทั้งในประเทศและต่างประเทศด้วย
ขณะที่การขับเคลื่อนประเทศในอนาคต ล่าสุดที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้เห็นชอบ 5 แนวทางหลัก คือ การส่งเสริมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในชุมชน, การพัฒนาภาคการเกษตรด้วยการทำ 1 ตำบล 1 เอสเอ็มอี, การลงทุนพัฒนาด้านการท่องเที่ยวเป็น 1 อำเภอ 1 แหล่งท่องเที่ยว, การจัดทำตลาดประชารัฐ และการลงทุนด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ขณะเดียวกัน ยังขอให้กระทรวงมหาดไทยมอบหมายผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นกำลังสำคัญ โดยอยากให้เป็นนักพัฒนา เพื่อช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ของไทยเพิ่มขึ้น
นายสุวิทย์ กิ่งแก้ว รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้ดำเนินธุรกิจร้านค้าเซเว่นอีเลฟเว่น กล่าวว่า เซเว่นฯ ได้เข้าไปช่วยเหลือชุมชนเกษตรกร โดยนำเอาผลผลิตเกษตรมาขายตามหน้าร้านเซเว่นฯ สาขาต่างๆ ที่มีทั่วประเทศ เช่น กล้วยหอมทอง ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ดีที่สุดในประเทศไทย โดยรับมาจากกลุ่มเกษตรกรอำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี มาขายในร้านเซเว่นฯ ลูกละ 8 บาท ภายใน 1 วันขายได้ถึง 100,000 ลูก รวมถึงมะม่วงดอง ยี่ห้อ "วรพร" จาก จ.ฉะเชิงเทรา ล่าสุดก็ได้รับคำสั่งซื้อจากต่างประเทศไปจำหน่ายอีกกว่า 10 ประเทศทั่วโลก ทำให้มียอดขายสูงถึงปีละ 100 ล้านบาท
ด้าน นางสาวรำภา หอมรื่น ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน และรองประธานฝ่ายบัญชีและการเงิน บมจ.บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ กล่าวว่า บิ๊กซีสนับสนุนการพัฒนาและส่งเสริมสินค้าเกษตรจากชุมชนอย่างยั่งยืน กับสถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย โดยบิ๊กซีพร้อมจะร่วมยกระดับมาตรฐานสินค้าเกษตร ตั้งแต่ขั้นตอนการผลิต การขนส่งสินค้าผ่านระบบที่สมบูรณ์แบบ รวมถึงช่องทางการกระจายสินค้าที่ครอบคลุมทั่วประเทศ
สำหรับในปี 2559 บิ๊กซีตั้งเป้ารับซื้อผักและผลไม้จากเกษตรกรไทยรวมกว่า 100,000 ตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 20% ซึ่งในจำนวนนี้จะเป็นผักผลไม้สดกว่า 1,700 ตัน จาก 38 ศูนย์พัฒนาโครงการหลวง เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของเกษตรกรผ่านการส่งเสริมอาชีพในภูมิลำเนา และจะส่งเสริมการจัดตลาดนัดสินค้าเกษตร (Farmers’ Market) ทั่วประเทศกว่า 180 สาขา
ข่าวเด่น