เศรษฐกิจ-บทวิจัยเศรษฐกิจ
ห่วงราคา "น้ำมันถูก" ดันยอดใช้ในประเทศพุ่ง


ราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่ปรับลดลงต่ำกว่า 30 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล และยังต่ำสุดในรอบ 12  ปี  ซึ่งราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ทำให้การใช้พลังงานของไทยปรับเพิ่มขึ้น และยังสร้างความกังวลให้กับกระทรวงพลังงาน  

 

โดย นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากการประเมินทิศทางแนวโน้มราคาขายปลีกน้ำมันของไทยระยะสั้นจะทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ และมีแนวโน้มลดลงได้อีกจนถึงสิ้นไตรมาสแรกของปี 2559 และตลอดปี 2559  ซึ่งระดับราคาขายปลีกน้ำมันที่ลดลงต่อเนื่อง ทำให้กระทรวงพลังงานมีความกังวลถึงยอดการใช้น้ำมันของ ไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก เพราะอาจเป็นปัญหาระยะยาวที่ไทยต้องเสี่ยงกับการนำเข้าน้ำมันที่เพิ่มขึ้น
 
ทั้งนี้ ราคาขายปลีกที่ลดลง สะท้อนจากราคาน้ำมันดิบดูไบ ที่คาดว่า ในปี 2559 จะมีราคาเฉลี่ยอยู่ระหว่างประมาณ 35-45 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล  (ปัจจุบันราคาน้ำมันดิบดูไบ อยู่ที่ 26 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล)  

 

สาเหตุหลักที่ราคาน้ำมันลดลง ส่วนหนึ่งมาจากการคาดการณ์ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือ IMF ที่เตือนว่า จากภาวะเศรษฐกิจของจีนที่เริ่มชะลอตัว ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการลงทุนในตลาดหุ้นทั่วโลกรุนแรงเกินกว่าที่คาดการณ์ไว้ ทำให้ยอดการผลิตน้ำมันของกลุ่มผู้ผลิตน้ำมันรายใหญ่ของโลกหรือโอเปก ยังคงสูงกว่ายอดใช้อยู่เล็กน้อย

ขณะที่ปี 2558 ที่ผ่านมา ยอดการใช้น้ำมันสำเร็จรูปรวมทุกผลิตภัณฑ์ เพิ่มขึ้นจาก ปี 2557 ประมาณ 4.2% ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง  จากไตรมาสแรกของปี 2558 จนถึงปัจจุบันประมาณ 10-12 บาทต่อลิตร  รวมทั้งจากปัจจัยจากการใช้เชื้อเพลิงทางเลือกอย่างก๊าซ LPG และ NGV มาใช้น้ำมันบางส่วน ซึ่งหากยังมียอดการใช้น้ำมันในประเทศเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ก็อาจจะเกิดความเสี่ยง
      

 

กระทรวงพลังงานจึงขอความร่วมมือจากประชาชนในการประหยัดพลังงานต่อเนื่อง ลดการใช้น้ำมันลง หรือใช้ในยามจำเป็น โดยเฉพาะมาตรการที่ทำได้ง่ายๆ สำหรับผู้ขับขี่รถยนต์ ที่จะช่วยลดการใช้น้ำมัน เช่น การเติมลมยางให้อยู่ในระดับพอดีไม่ให้อ่อนและแข็งเกินไป,การขับรถไม่เกิน 90 กม.ต่อชั่วโมง,การไม่บรรทุกสิ่งของมากเกินความจำเป็น และการตรวจเช็คเครื่องยนต์อย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง รวมถึงการเลือกใช้ระบบขนส่งมวลชน และขนส่งสาธารณะเพิ่มขึ้น ก็จะช่วยให้เกิดการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพ ช่วยให้ประหยัดเงินได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งยังเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรเทาวิกฤตจราจรในปัจจุบันอีกด้วย

สอดคล้องกับมุมมองของ นายมนูญ  ศิริวรรณ ผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน ที่เสนอว่า กระทรวงพลังงานควรพิจารณาว่า  การปล่อยให้ราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลดลงมาก อาจเป็นการส่งเสริมให้ประชาชนใช้พลังงานมากเกินไป  โดยจะเห็นได้จากปี 2558 ที่ความต้องการใช้น้ำมันดีเซลในประเทศเติบโต 3.7% สูงกว่าจีดีพี ซึ่งเติบโตราว 2% จึงถือว่าปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลเติบโตมากเกินไปเล็กน้อย


บันทึกโดย : วันที่ : 18 ม.ค. 2559 เวลา : 01:47:57
25-11-2024
Feed Facebook Twitter More...

อัพเดทล่าสุดเมื่อ November 25, 2024, 9:38 pm